คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้ โดย... ไชยยงค์ มณีพิลึก
สถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้รอบสัปดาห์ที่ผ่านมามีเรื่องที่น่าสนใจอยู่หลายประเด็น เช่น ความรุนแรงที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปี 2567 การพูดคุยสันติสุขของฝ่ายเทคนิคไทยกับบีอาร์เอ็น และการเปิดเวทีออกแบบสันติภาพโดยคณะกรรมาธิการสันติภาพ เป็นต้น
เริ่มจากมีการก่อเหตุวางระเบิดรถยนต์หุ้มเกราะ ผบ.ร้อยทหารพรานที่ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส ยิง 2 ผัวเมีย อส.ประจำอำเภอตายหนึ่ง เจ็บหนึ่ง ปั่นป่วนด้วยการพ่นสีและวางระเบิดปลอมที่ จ.นราธิวาส ล่าสุดขว้างไปป์บอมบ์ใส่ร้านกาแฟในปั๊มน้ำมัน ปตท.ที่ อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี ทุกเหตุมีเป้าหมายอยู่ที่เจ้าหน้าที่รัฐเป็นหลัก
ประเด็นแรกนี้ วิเคราะห์ได้ไม่ยากว่าหลังวันที่ 12 มีนาคม 2567 นี้ที่จะเข้าสู่เดือนถือศีลอด จึงยังน่าจะเป็น “รอมฎอนเดือด” อีกคราครั้ง และอย่าคาดหวังว่า กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าจะป้องกันได้ เพราะเห็นคำสั่งที่ให้กำลังพลในสังกัด รวมถึงชุดคุ้มครองตำบล (ชคต.) ระวังป้องกันฐานและการเดินทาง แถมห้ามนำอาวุธปืนออกจากที่ตั้ง นั่นแสดงให้เห็นว่ายังคิดได้แค่มาตรการตั้งรับ
ส่วนการป้องกันชีวิตและทรัพย์สินประชาชนกลับไม่เคยกล่าวถึง หรือ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้ามั่นใจอย่างเต็มเปี่ยมว่า “บีอาร์เอ็นยุคใหม่” ที่เดินตามแนวทางที่ถูกวางไว้โดยองค์กรชาติตะวันตกอย่าง “เจนีวาคอลล์” จะไม่เข่นฆ่าประชาชนผู้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง ยกเว้นคนที่เป็นสายข่าวให้ทหารเท่านั้น
เอาเถอะ อย่างน้อยก็ยังอุ่นใจได้ที่เห็น พล.ต.เฉลิมพร ขำเขียว ผบ.ฉก.นราธิวาส เปิดยุทธการรักษาความสงบในพื้นที่ทั้งทางบก อากาศ และน้ำ ทั้งที่มีแม่น้ำสุไหงโก-ลกกั้นเขตแดนกับมาเลเซียเป็นเส้นทางยาวมาก แถมมี “ท่าข้าม” ที่เป็นช่องทางธรรมชาติเกินกว่า 200 แห่ง เฉพาะใน อ.ตากใบมีถึงไม่น้อยกว่า 110 ท่าข้าม
แสดงให้เห็นว่า ผบ.ฉก.นราธิวาสรับรู้ได้ถึงความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นในห้วงเดือนรอมฎอน อย่างน้อยยุทธการนี้อาจจะป้องกันเหตุร้ายให้ลดน้อยลงได้ ไม่ใช่ทำได้เพียง “ปล่อยลูกโป่งสีขาว” ที่เป็นสัญลักษณ์ของสันติภาพ แล้วทึกทักเอาฝ่ายเดียวว่า บีอาร์เอ็นไม่สนใจในสันติภาพ เพราะไม่ทำอะไรที่เป็นสัญลักษณ์แบบเดียวกัน
ประเด็นต่อมา เรื่องการพูดคุยสันติสุขของฝ่ายเทคนิคไทยกับบีอาร์เอ็นในวันที่ 7-8 มีนาคมที่ผ่านมา แม้จะเห็นความต่อเนื่อง แต่ก็เป็นอย่างที่หลายฝ่ายคาดการณ์คือ ไม่ราบรื่น ถ้าจะบอกว่าลื่นล้มหกคะเมตีลังกาก็น่าจะได้ เพราะก่อนหน้านี้ ฝ่ายบีอาร์เอ็นประกาศผ่านสื่อว่า ไม่ยอมรับ “แผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติภาพแบบองค์รวม” หรือ JCPP มาแล้ว จนเป็นเหตุให้ไทยประท้วงต่อ “ผู้อำนวยความสะดวก” คือรัฐบาลมาเลเซียในฐานะคนกลาง
เป็นที่สังเกตว่า เมื่อครั้งตั้งโต๊ะพูดคุยสันติสุขคณะใหญ่ ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ เมื่อวันที่ 6-7 กุมภาพันธ์ 2567 ฝ่ายบีอาร์เอ็นยังมีท่าทีตอบรับแผน JCPP แต่หลังจากที่นายฉัตรชัย บางชวด รองเลขาสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) หัวหน้าคณะพูดคุยฝ่ายไทย แถลงความก้าวหน้า ฝ่ายบีอาร์เอ็นกลับออกมาปฏิเสธและนำเสนอร่างเก่า ซึ่งฝ่ายไทยไม่ยอมรับ
แม้ว่าหลังเจรจาของฝ่ายเทคนิคจบลงแล้ว และทั้งฝ่ายไทยและบีอาร์เอ็นไม่แถลงถึงรายละเอียดของประชุม โดยต่างสงวนท่าที เพราะไม่มีทั้งการลงนามและผลลัพธ์อะไรที่คืบหน้า ดังนั้น ความหวังที่จะใช้กระบวนการพูดคุยสร้างสันติสุขห้วงเดือนรอมฎอน และอาจจะต่อเนื่องถึงสงกรานต์ด้วย จึงไม่น่าจะทำได้อย่างที่ฝ่ายไทยต้องการ
ถ้าติดตามกระบวนการพูดคุยสันติสุขมาแต่ต้น เราจะเห็นถึงร่องรอยการ “ขบเกลียวกัน” ระหว่าง “ปีกการเมือง” กับ “แกนนำขบวนการ” ของบีอาร์เอ็นว่ามีมาอย่างต่อเนื่อง ฝ่ายแกนนำขบวนการไม่เห็นด้วยกับแผน JCPP และไม่เพียงเท่านั้น นายกรัฐมนตรีของมาเลเซียคนปัจจุบันก็ไม่เห็นด้วยกับแผนนี้ โดยไม่ต้องการให้องค์กรชาติตะวันตกเข้ามาเจ้ากี้เจ้าการชักใยอยู่เบื้องการพูดคุยหรอก
ที่เห็นชัดคือในคณะพูดคุยฝ่ายบีอาร์เอ็นหนล่าสุด มี “นิพนี มะเระ” หรือในชื่อมาเลเซียว่า “อาณัส อับดุลเราะมาน” ร่วมด้วย แต่ไม่มีชื่อของ “เจ๊ะมูดอ มะรือสะ” หรือ “เจ๊ะมูดอ ตะมะยูง” ที่เป็นแกนหลักประสานงานกับ “เจนีวาคอลล์”
ทั้งที่องค์กรชาติตะวันตกนี้แหละที่เป็นเจ้าของแผน JCPP ตัวจริง และเป็นที่มาของ “สัญญาเบอร์ลิน” โดยการสนับสนุนของ “2 นายพลนอกราชการ” ที่นั่งเป็นที่ปรึกษาให้แก่ “คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ” หรือ CIRC ที่ทำหน้าที่เป็นปีกซ้าย-ปีกขวาให้ปีกทางการเมืองของบีอาร์เอ็นในการจัดทำ “แผนพูดคุยสันติสุข” โดยมีสักขีพยานจากตัวแทนประเทศใน “สหภาพยุโรป”
ที่สำคัญใน “คณะกรรมการฝ่ายเทคนิค” ของฝ่ายบีอาร์เอ็น ยังปรากฏว่า รัฐบาลมาเลเซียได้ส่ง 2 ด็อกเตอร์คือ “ดร.นิม๊ะ” และ “ดร.อิสมาแอล” ที่เป็นคนของตนแฝงเข้ามาด้วย เพื่อที่จะได้ทำตามนโยบายของมาเลเซียที่ต้องการล้มแผน JCPP
ขณะที่ นายฉัตรชัย บางชวด หัวหน้าคณะพูดคุยฝ่ายไทย กลับไม่สนใจ เอาแต่พยายามผลักดันให้มีการลงนามกันระหว่างกันเท่านั้น เพื่อจะได้เป็นผลงานที่เป็นรูปธรรมของรัฐบาลพลเรือนในเวลานี้ ที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน ผู้ถูกเชิดให้นั่งในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
เพราะกระบวนการพูดคุยสันติสุขช่วง 9 ปีในยุคของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เคยมีคำสั่งให้หัวหน้าคณะพูดคุย ซึ่งส่วนใหญ่เป็น “นายพลทหาร” ต้องทำให้ไม่มีการลงนามใดๆ กับฝ่ายบีอาร์เอ็นเกิดขึ้นอย่างเด็ดขาด
การที่แกนนำบีอาร์เอ็นที่มีอำนาจจริงและรัฐบาลมาเลเซียไม่เห็นด้วยกับแผน JCPP ที่ฝ่ายไทยเสนอ จึงเป็นการ “ดับฝันการสร้างผลงานชิ้นโบแดง” ของนายฉัตรชัย บางชวด อย่างสิ้นเชิง และที่สำคัญโต๊ะการพูดคุยสันติสุขอาจจะต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่อีกครั้ง
หากเป็นเช่นนั้นจริง ต้องถือว่าเป็นผลดีกับประเทศไทย เพราะไม่ต้องกังวลกับการแทรกแซงขององค์กรชาติตะวันตกที่ต้องการเข้ามาเป็น “หุ้นส่วนดับไฟใต้” ซึ่งเราก็อ่านออกว่าเป็นเรื่อง “หวังดี ประสงค์ร้าย” เสียมากกว่า
ประเด็นที่ 3 การที่ “คณะกรรมาธิการสันติภาพ” เปิดเวทีที่ ม.ราชภัฏยะลา เพื่อให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นและออกแบบสันติภาพนั้นถือเป็นเรื่องดี แต่ในความเป็นจริงผู้คนในเวทีมาจาก “ภาคประชาสังคม” ที่มีแนวคิดไม่ต่างกับบีอาร์เอ็น
ที่สำคัญมีภาคประชาสังคมที่อยู่ใต้ “ปีกทางการเมือง” บีอาร์เอ็นรวมอยู่ด้วย ซึ่งเป็นที่รับรู้กันของหน่วยงานความมั่นคง จึงนับเป็นอีกชัยชนะของฝ่ายบีอาร์เอ็นที่ทะลุทะลวงเข้าไปมีบทบาทได้ถึงในรัฐสภา โดยการมีทั้ง “นักการเมือง” และคนใน “กรรมาธิการ” เพื่อเป็นหัวหอกเพื่อเปลี่ยนแปลงสถานะชายแดนใต้
สาระที่พูดคุยในเวทีการออกแบบสันติภาพครั้งนี้ จะว่าไปแล้วเน้นหนักหรือเกือบทั้งหมดอยู่ที่การปฏิบัติของทหารที่กระทำต่อประชาชนมาตั้งแต่ปี 2547 โดยพยายามชี้ให้เห็นถึงความเลวร้ายของการละเมิดสิทธิเสรีภาพ เช่นมในเหตุการณ์กรือเซะ เหตุการณ์ตากใบ เป็นต้น
แต่กลับไม่พูดถึงความโหดร้ายของบีอาร์เอ็น ที่ทั้งฆ่าครู พระ และประชาชนผู้บริสุทธิ์ มีการลอบวางเพลิงเผาสถานที่ราชการ บริษัทห้างร้าน ปั๊มน้ำมัน จนถือได้ว่าเป็นการฟังความข้างเดียว และที่สำคัญไม่ได้ให้ความสนใจกับรากเหง้าของปัญหาที่มาจากขบวนการแบ่งแยกดินแดน
ความจริงแล้วต้นตอปัญหาที่นำมาพูดถึงในเวทีล้วนมาจากปฏิบัติการของบีอาร์เอ็น เพราะถ้าบีอาร์เอ็นไม่มี “แผนปฏิบัติการใบไม้ร่วง” หรือ “แผนสงคราม 1,000 วัน” โดยเฉพาะไม่ทำให้เกิดเสียงปืนแตกเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 จากเหตุการณ์ปล้นปืนค่ายทหาร ปัญหาทุกอย่างที่ตามมาไม่ว่าจะเป็นเรื่องจุดตรวจ หรือกฎหมายพิเศษก็ไม่เกิดขึ้นบนแผนดินปลายด้ามขวาน
วันนี้ ฝ่ายการเมืองของเรา โดยเฉพาะกรรมาธิการหลายคณะมองไฟใต้เห็นแต่เพียง “กระพี้ “ แต่ไม่ได้สนใน “แก่นแท้” ของปัญหา เพราะผู้ที่อาสาเข้ามาดับไฟใต้รู้ไม่จริง ฟังความข้างเดียว และกลายเป็นเครื่องมือให้กลุ่มคนที่ต้องการเห็นการเกิดขึ้นของ “เขตปกครองตนเอง” หรือ “เขตปกครองพิเศษ” กระทั่งเป็น “นครรัฐปัตตานี”
สุดท้ายอยากจะบอกว่า “เสียดายงบประมาณ” เพราะไม่ว่าจะ “ออกแบบสันติภาพ” แบบไหน ถ้ายังปล่อยให้บีอาร์เอ็นใช้กองกำลังติดอาวุธสร้างความรุนแรงในชายแดนใต้ต่อไปได้อีก นั่นไม่มีวันที่จะทำให้เกิด “สันติสุข” ได้แน่นอน และก็หยุดฝันถึงว่า “สันติภาพ” จะเกิดขึ้นได้ที่ชายแดนใต้