ศูนย์ข่าวภูเก็ต - สมาคมเพอรานากันประเทศไทย ร่วมกับภาครัฐและเอกชนจัดงานวิวาห์หวานบาบ๋าภูเก็ต ครั้งที่ 11 ระหว่างวันที่ 11-13 พ.ค.นี้ เพื่อสืบสานประเพณีการแต่งงานให้คงความศักดิ์สิทธิ์ตามธรรมเนียมที่ได้สืบทอดต่อกันมามากกว่า 100 ปี
นายนรศักดิ์ สุขสมบูรณ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต พร้อมด้วยนายเรวัต อารีรอบ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต นายประสิทธิ์ สินเสาวภาคย์ รองนายกเทศมนตรีนครภูเก็ต นายแพทย์โกศล แตงอุทัย นายกสมาคมเพอรานากันประเทศไทยและสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต ร่วมแถลงข่าวแถลงการจัด “วิวาห์หวานบาบ๋าภูเก็ต ครั้งที่ 11” ณ ภัตตาคารบลูอิเลฟเฟ่นภูเก็ต เมื่อเร็วๆ นี้
การจัดวิวาห์หวานบาบ๋าภูเก็ต ครั้งที่ 11 สมาคมเพอรานากันประเทศไทย ร่วมกับ องค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต เทศบาลนครภูเก็ต การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต และสภาวัฒนธรรมจังหวัดภูเก็ต จัดขึ้น ระหว่างวันที่ 11-13 พฤษภาคม 2567 โดยเน้นพิธีกรรมที่คงความศักดิ์สิทธิ์ตามที่ได้ปฏิบัติต่อเนื่องกันมานานกว่า 100 ปี
นพ.โกศล แตงอุทัย นายกสมาคมเพอรานากันประเทศไทย กล่าวถึงการจัดกิจกรรมวิวาห์หวานบาบ๋าภูเก็ต ครั้งที่ 11 ว่า การจัดงานครั้งที่ 11 นี้ ได้รับการสนับสนุนจากทั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต เทศบาลนครภูเก็ต การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต และสภาวัฒนธรรมจังหวัดภูเก็ต ทั้งนี้ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา สมาคมเพอรานากันประเทศไทย ได้ฟื้นฟูพิธีการสําคัญของประเพณีแต่งงานแบบบาบ๋าในท้องถิ่น โดยได้รวบรวมรายละเอียดต่างๆ จากผู้อาวุโสที่มีประสบการณ์เป็นแม่สื่อ (อึ่มหลาง) ผู้ที่เป็นแม่งานของการแต่งงานตามแบบปุ่นเต และนํามาสืบสานในกิจกรรมวิวาห์หวานบาบ๋าภูเก็ต เพื่อสืบสานประเพณีการแต่งงานให้คงความศักดิ์สิทธิ์ตามธรรมเนียมที่ได้สืบทอดต่อกันมามากกว่า 100 ปี โดยขณะนี้มีคู่บ่าวสาวสมัครเข้าร่วมแต่งงานแล้วประมาณ 3-4 คู่ รวมถึงคู่กิตติมศักดิ์อีกด้วย
จึงขอเชิญชาวภูเก็ตร่วมต้อนรับขบวนแห่คู่บ่าวสาว ในวันอาทิตย์ที่ 12 พฤษภาคมนี้ ร่วมกันแต่งชุดพื้นเมือง และช่วยกันเป็นเจ้าภาพต้อนรับนักท่องเที่ยวที่คอยชมขบวนแห่กิจกรรมวิวาห์หวานบาบ๋าภูเก็ต ซึ่งขบวนแห่จะออกจากอังหม่อเหลาหงษ์หยก ผ่านถนนเทพกระษัตรี ตรงไปผ่านพิพิธภัณฑ์เพอรานากันนิทัศน์และหอฬิกา ตรงไปถนนภูเก็ต เลี้ยวซ้ายตรงวงเวียนหอนาฬิกา เข้าสู่ถนนมนตรี ผ่านโรงแรมเพิร์ล ตรงไปจนถึงสำนักงานไปรษณีย์ เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนถลาง และสิ้นสุดที่สวน 72 พรรษา มหาราชินี โดยในขบวนแห่นี้จะได้ชมความงดงามของชุดเคบายารูปแบบต่างๆ ซึ่งเป็นการแต่งกายที่เป็นเอกลักษณ์ของสตรีลูกหลานคนบาบ๋า