xs
xsm
sm
md
lg

ผ่าพิสูจน์พะยูนตรังตายตัวที่ 4 ในปีนี้ คาดป่วยเรื้อรัง บินสำรวจพบปริมาณลดลง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ตรัง - ผ่าพิสูจน์พะยูนเพศผู้ อายุ 20 ปี หลังเกยตื้นตายเป็นตัวที่ 4 ใน จ.ตรัง พบสาเหตุมาจากป่วยเรื้อรัง ส่วนผลบินสำรวจของทีมอาสาสมัครล่าสุด พบพะยูนน้อยลง คาดอาจเคลื่อนย้ายไปจากปัญหาหญ้าทะเลเสื่อมโทรม

จากกรณีที่เพจ “ขยะมรสุม ᴍᴏɴsᴏᴏɴɢᴀʀʙᴀɢᴇ ᴛʜᴀɪʟᴀɴᴅ” โพสต์ภาพพะยูนที่มีสภาพผอมว่ายอยู่ใกล้กับชายหาด ท่าเรือบ้านพร้าว เกาะลิบง ตำบลเกาะลิบง อำเภอกันตัง จังหวัดตรังนั้น ล่าสุด วานนี้ (8 มี.ค.) พบว่า พะยูนตัวดังกล่าวได้ตายแล้ว เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอันดามันตอนล่าง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ได้นำซากพะยูนตัวดังกล่าวมาผ่าพิสูจน์ซากโดยทีมสัตวแพทย์

จากการตรวจสอบเบื้องต้น พบว่า เป็นพะยูน เพศผู้ อายุประมาณ 20 ปี ความยาว 250 เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ 220 กิโลกรัม ลักษณะภายนอกเขี้ยวอยู่ครบสมบูรณ์ทั้ง 2 ข้าง และยังมีร่องรอยการกินหญ้าคาอยู่ภายในปาก แต่พบเพรียงขนาดเล็กกระจายอยู่ทั่วลำตัว บ่งบอกว่าสัตว์อยู่นิ่งเป็นเวลานาน เนื่องจากมีอาการป่วย เมื่อเปิดผ่าดูอวัยวะภายในส่วนของทางเดินอาหาร พบพยาธิตัวกลมเต็มท้องในกระเพาะ ส่วนลำไส้พบเนื้องอกเนื้อตาย รวมทั้งยังพบพยาธิตัวกลมพยาธิใบไม้ด้วย ขณะที่ในลำไส้ใหญ่พบไมโครพลาสติกปะปนเล็กน้อย

ทีมสัตวแพทย์ใช้เวลาผ่าพิสูจน์นานถึง 4 ชั่วโมงเต็ม ก่อนลงความเห็นสาเหตุการตายของพะยูนตัวนี้ว่า มาจากอาการป่วยเรื้อรัง เนื่องจากมีพยาธิตัวกลมเต็มกระเพาะอาหาร ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อและโครงกระดูก เพื่อส่งตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการต่อไป

นายสันติ นิลวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอันดามันตอนล่าง บอกว่า ตั้งแต่ต้นปี 2567 มีพะยูนเกยตื้นตายในจังหวัดตรังแล้ว 4 ตัว ถือเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างน่าเป็นห่วง ส่วนสาเหตุหลักของการเกยตื้นของพะยูนนั้น ส่วนใหญ่เกิดจากอาการป่วย แต่ค่อนข้างจะวินิจฉัยยาก เพราะมักจะเจอแต่ซากเน่า น้อยมากที่เราจะเจอซากที่สด

ส่วนพะยูนที่เกยตื้นตายตัวล่าสุดนี้ พบหญ้าใบมะกรูดในกระเพาะ ซึ่งแสดงว่าพะยูนยังคงหากินในแหล่งน้ำลึกและแหล่งเดิมๆ ถึงแม้ตอนนี้จะเกิดปัญหาความเสื่อมโทรมของหญ้าทะเลในพื้นที่ก็ตาม

ด้านนายวัชรบูล ลี้สุวรรณ หรือโน๊ต นักแสดงดังที่ร่วมกับทีมอาสาสมัครบินสำรวจสัตว์ทะเลหายาก บอกว่า ปีนี้จากการบินสำรวจเบื้องต้นพบประชากรพะยูนน้อยลง โดยแต่ก่อนจะเจอเป็นฝูงเป็นกลุ่ม แต่ปีนี้อยู่แบบกระจัดกระจาย ซึ่งตนไม่รู้สาเหตุเหมือนกันว่าเพราะอะไร และเท่าที่บินสำรวจยังไม่พบพะยูนคู่แม่ลูกเลย

ขณะที่ Mr.Tom Potisit ช่างภาพอาสาสมัครร่วมบินสำรวจสัตว์ทะเลหายาก บอกว่า จากการบินสำรวจจำนวนประชากรพะยูนในจังหวัดตรัง ปีนี้พบน้อยมากจริงๆ แต่จะไปเจอพะยูนในจังหวัดอื่นๆ แทน ซึ่งยังบอกไม่ได้ว่า เกิดจากเคลื่อนตัว หรือกระจายตัว


กำลังโหลดความคิดเห็น