xs
xsm
sm
md
lg

“กิจ หลีกภัย” ฮึดสู้หลังถูกชี้มูลความผิดซื้อที่ดินแพง ฝ่าย กม.งัดคำพิพากษาคดี “เทพเทือก” สร้างโรงพักฉาวเทียบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ตรัง - “กิจ หลีกภัย” ฮึดสู้ หลังถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดซื้อที่ดินสร้างท่าเรือบ้านนาเกลือแพงเกินจริง ฝ่าย กม. งัดคำพิพากษาศาลฎีกาคดี “เทพเทือก” สร้างโรงพักฉาวเทียบ ศาลยกฟ้องเพราะไม่ใช่เจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่จัดซื้อโดยตรง

จากรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติ 3:2 ชี้มูลความผิดอาญาและวินัย นายกิจ หลีกภัย เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดตรัง (อบจ.ตรัง) พี่ชายของ นายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี 2 สมัย และอดีตประธานรัฐสภา และพวก รวม 6 คน กรณีการจัดซื้อที่ดินเพื่อก่อสร้างท่าเทียบเรือบ้านนาเกลือ (ท่าเรือตรัง) ต.นาเกลือ อ.กันตัง จ.ตรัง มีราคาสูงเกินจริง


ล่าสุด วันนี้ (3 มี.ค.) ว่าที่ร้อยตรีชาญยุทธ เกื้ออรุณ อดีตประธานสภา อบจ.ตรัง มือกฎหมายส่วนตัวของ นายกิจ หลักภัย อดีตนายกฯ อบจ.ตรัง เปิดเผยว่า ในการแถลงข่าวการชี้มูลของ ป.ป.ช.ตรัง ตนได้เข้าสังเกตการณ์ด้วย และได้สอบถาม ป.ป.ช.ว่า การแถลงข่าวดังกล่าวได้รับมอบหมายอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ป.ป.ช.หรือไม่ เพราะได้ปรากฏว่ามีแบนเนอร์เชิญรับฟังแถลงข่าว โดยทาง ป.ป.ช.ระบุถ้อยคำที่อาจทำให้เกิดความเสียหาย ไม่เหมาะสม และเป็นตราบาป ที่ไประบุว่าเชิญฟังแถลงข่าวคดี นายกิจ หลีกภัย เหมือนเจาะจงที่ตัวบุคคลเพียงคนเดียว ทั้งที่ควรใช้คำว่า เชิญฟังแถลงข่าวเรื่องคดีจัดซื้อที่ดินสร้างท่าเรือนาเกลือมากกว่า เพราะคำวินิจฉัย ป.ป.ช.เป็นเหมือนสารตั้งต้น เหมือนพนักงานสอบสวนมีความเห็นสั่งฟ้องไปยังอัยการให้ใช้ดุลพินิจพิจารณา สุดท้ายอยู่ที่ศาล ไม่นั้นต่อไปพนักงานสอบสวนส่งเรื่องไปอัยการ ศาลแล้ว แต่ตัวเองมาแถลงก่อนทุกเรื่อง

โดยผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดตรัง ชี้แจงว่า เป็นการแถลงข่าวโดยทั่วไป ตามนโยบายของเลขาธิการ ป.ป.ช. ที่ให้ ป.ป.ช.แต่ละจังหวัดสามารถแถลงข่าวมติกรรมการ ป.ป.ช.ในคดีที่ ป.ป.ช.จังหวัดนั้นๆ รับผิดชอบได้ และตนได้ถาม ผอ.ป.ป.ช.ตรังว่า ทำไมผู้ถูกกล่าวหาได้ร้องขอรายละเอียดมติ ป.ป.ช.ตลอดจนความเห็นกรรมการ ป.ป.ช.ซึ่งขณะนั้นมีเพียง 5 คน โดยคะแนนเสียง 3:2 ได้ชี้มูล นายกิจ แต่ทาง ป.ป.ช.ตรังไม่ยอมเปิดเผย โดยเฉพาะความเห็นของกรรมการ ป.ป.ช.เสียงข้างน้อยอีก 2 คน อ้างว่าเป็นความลับทางราชการ ทั้งที่ พ.ร.บ.ป.ป.ช. มาตรา 36(3) ระบุไว้ชัดเจนว่า เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีความเห็นหรือวินิจฉัยว่าผู้ถูกกล่าวหามีพฤติการณ์กระทำความผิด ให้เปิดเผยความเห็นหรือคำวินิจฉัยได้ เว้นแต่จะเปิดเผยชื่อผู้กล่าวหา ผู้แจ้งเบาะแสและผู้ซึ่งเป็นพยานมิได้ จึงอาจก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมกับผู้ถูกกล่าวหา


ว่าที่ร้อยตรีชาญยุทธ กล่าวอีกว่า ตนทราบมาว่ามติกรรมการ ป.ป.ช.ที่ชี้มูลความผิด นายกิจ ได้ชี้ในประเด็นว่า นายกิจเป็นเจ้าหน้าที่รัฐหรือไม่ ซึ่งกรรมการ ป.ป.ช.วินิจฉัยว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช. และ นายกิจ เป็นเจ้าพนักงานของรัฐใช่หรือไม่ ซึ่งวินิจฉัยว่าเป็นเจ้าพนักงานของรัฐตาม พ.ร.บ.อบจ. แต่คดีนี้เจ้าพนักงานจัดซื้อจัดจ้างตามมาตรา 151, 157 ต้องเป็นเจ้าพนักงานโดยตรงตามมาตราดังกล่าว

ซึ่งเราได้ดูตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ออกมาแล้วชัดเจน กรณีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ยกฟ้องคดีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี พร้อมพวก 6 คน ในคดีร่วมกันกระทำผิดต่อหน้าที่ราชการในการจัดจ้างโครงการก่อสร้างสถานีตำรวจทดแทน และโครงการก่อสร้างอาคารที่พัก หรือแฟลตตำรวจมูลค่า 6 พันล้านบาท เมื่อเทียบเคียงกับ นายกิจ ซึ่งไม่ใช่เจ้าพนักงานซึ่งมีหน้าที่จัดซื้อโดยตรงแต่อย่างใด และเมื่อไม่ใช่เจ้าพนักงานที่มีหน้าที่จัดซื้อ นายกฯ อบจ.เพียงแต่อนุมัติเห็นชอบตามที่เสนอ ส่วนเรื่องซื้อที่ดินที่บอกว่าแพง ถามว่าโครงการสร้างท่าเรือโดยงบประมาณกรมเจ้าท่าลงมาแล้ว และมีความจำเป็นต้องซื้อที่ดินเพิ่ม ถามว่ามีใครจะยอมขายในราคาเดิม ราคาประเมิน หรือราคาตลาด ต้องดูหลายๆ อย่างประกอบด้วย

ว่าที่ร้อยตรีชาญยุทธ กล่าวว่า นอกจากนี้ในการวินิจฉัย กรรมการ ป.ป.ช.ในขณะนั้นมีเพียง 5 คน วินิจฉัยด้วยเสียง 3:2 ยังมีกรรมการเสียงข้างน้อยที่วินิจฉัยว่าไม่มีมูลในคดีอาญา ถือว่าเสียงยังมีความก้ำกึ่ง แต่บัดนี้กรรมการ ป.ป.ช.มีครบ 9 คนแล้ว รอเพียงการโปรดเกล้าฯ เพื่อมาทำหน้าที่ นายกิจ จึงได้ยื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดตรังแล้ว เพื่อพิจารณาใช้ดุลพินิจว่าเห็นควรหรือไม่เห็นควรในการเสนอให้มีการทบทวนมติกรรมการ ป.ป.ช.ดังกล่าวใหม่ ตามที่พ.ร.บ.ป.ป.ช.มาตรา 99 ที่เปิดช่องโดยระบุว่า


ในการพิจารณาลงโทษทางวินัยตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการ ป.ป.ช. หากผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนมีพยานหลักฐานใหม่อันแสดงได้ว่าผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้มีกำรกระทำความผิดตามที่กล่าวหา หรือกระทำความผิดในฐานความผิดที่แตกต่างจากที่ถูกกล่าวหา ให้ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอน มีหนังสือพร้อมเอกสารและพยานหลักฐานถึงคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อขอให้พิจารณาทบทวนมตินั้นได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับเรื่องจากคณะกรรมการ ป.ป.ช.

และขณะนี้เรื่องยังมาไม่ถึงผู้ว่าฯ ตรัง ซึ่งพยานหลักฐานใหม่ที่ว่าคือ พยานหลักฐานต่างๆ ที่ผู้ถูกกล่าวหาได้ยื่นต่อ ป.ป.ช.เพื่อแก้ข้อกล่าวหา แต่กรรมการ ป.ป.ช.ไม่เคยหยิบยกขึ้นมาพิจารณา ซึ่งล้วนเป็นหลักฐานสำคัญ โดยเฉพาะคำพิพากษาศาลฎีกากรณี นายสุเทพ อีกทั้งช่วงเกิดเหตุในปี 2549 และ 2553 มีระยะเวลาล่วงมาเกิน 10 ปีแล้ว แต่ ป.ป.ช.มาแจ้งข้อกล่าวหาเมื่อปี 2565 จึงเป็นประเด็นว่า ป.ป.ช.มีอำนาจหยิบยกเรื่องขึ้นมาพิจารณาตามอายุความหรือไม่ เป็นต้น ทั้งนี้เมื่อทางอัยการแจ้งผลการพิจารณามา นายกิจ ต้องยื่นเรื่องขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุดตามสิทธิต่อ

ทั้งนี้ สำหรับท่าเรือนาเกลือก่อสร้างโดยกรมเจ้าท่า งบกว่า 206 ล้านบาท บริหารงานโดย อบจ.ตรัง ที่ตั้งอยู่บนเนื้อที่กว่า 100 ไร่ บริเวณหมู่ 2 ต.เกลือ อ.กันตัง ที่ อบจ.ตรังในยุคของ นายกิจ ดำรงตำแหน่งนายก อบจ.ตรัง เป็นฝ่ายออกงบประมาณสำหรับการจัดซื้อที่ดินเพื่อก่อสร้างท่าเรือพาณิชย์ขนถ่ายสินค้า โดยท่าเทียบเรือมีความยาว 185 เมตร ความกว้าง 29 เมตร รองรับเรือขนาด 4,000 ตันกรอส จอดได้ครั้งละ 2 ลำ


ซึ่ง อบจ.ตรัง ได้เช่าอาคารราชพัสดุ ตั้งอยู่ ต.นาเกลือ อ.กันตัง จ.ตรัง กับกระทรวงการคลัง โดยกรมธนารักษ์ จำนวน 7 รายการ ประกอบด้วย ท่าเทียบเรือ อาคารคลังสินค้า อาคารซ่อมบำรุง อาคารด่านตรวจ 2 ป้อมยาม อาคารสำนักงาน และอาคารห้องเครื่อง เพื่อดำเนินกิจการสนับสนุนการส่งออกสินค้า เช่น ข้าวโพดแห้ง มะพร้าวแห้ง ปูนซีเมนต์ ไม้ยางพาราแปรรูป แร่ ยิปซัม บุหรี่ เป็นต้น โดย อบจ.ตรังได้เข้าไปทำสัญญาเช่าปีละ 1,000,000 บาท เพื่อดำเนินการดูแลและบริหารจัดการ โดยเริ่มเช่าตั้งแต่ปี พ.ศ.2558 และสิ้นสุดสัญญาเช่าในเดือนกันยายน 2561 และมีการขอต่อสัญญาเช่าอีก 7 ปี 3 เดือน (1 ตุลาคม 2561-31 ธันวาคม 2568)

รายได้หลักมาจากการเก็บค่าบริการท่าเรือ ซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมาการบริหารท่าเรือนาเกลือขาดทุนทุกปี โดยปี 2560 ตั้งแต่เดือนสิงหาคม-ธันวาคม 2560 ขาดทุนถึง 4,120,000 บาท ทั้งนี้ในปัจจุบันยังคงอยู่ในสภาพเงียบเหงา มีเรือสินค้าเข้าออกเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ทั้งนี้ นายบุ่นเล้ง โล่สถาพรพิพิธ นายกฯ อบจ.ตรัง คนปัจจุบัน ได้มีนโยบายฟื้นฟูการดำเนินการของท่าเรือนาเกลืออีกครั้ง โดยอยู่ระหว่างขั้นตอนศึกษาวางแผนของคณะที่ปรึกษา

สำหรับเรื่องนี้ย้อนกลับไปเมื่อปี 2561 ดาบตำรวจชัยวัฒน์ เส้งนุ้ย รองประธานสภา อบจ.ตรัง ในขณะนั้น ในฐานะประธานคณะกรรมการติดตามจัดเก็บรายได้และทรัพย์สินของ อบจ.ตรัง เป็นผู้ที่ออกมาเปิดเผยเรื่องนี้ ได้ยื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช.ประจำจังหวัดตรัง ให้ทำการสืบสวนสอบสวน พร้อมตั้งข้อสงสัยการจัดซื้อที่ดินบางส่วนจากผู้ขายเดิมอาจอยู่ในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบงด้วยหรือไม่


กำลังโหลดความคิดเห็น