xs
xsm
sm
md
lg

เปิดงบดุลปางช้างฝรั่งเตะหมอ ปี 65 รายได้ 46 ล้าน เมียฝรั่งโวช่วงโควิดสามีควักส่วนตัว 40 ล้านดูแลช้าง-คนงาน ยังไม่รับบริจาคแม้บาทเดียว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าวภูเก็ต - ส่องปางช้าง-มูลนิธิช่วยเหลือช้าง ธุรกิจฝรั่งคู่กรณีแพทย์หญิง งบดุลปี 65 รายได้ 46 ล้าน กำไรกว่า 7 ล้านบาท ด้านเมียฝรั่งเผยมูลนิธิยังไม่เปิดรับบริจาคแม้แต่บาทเดียว โวช่วงโควิดสามีควักเงินส่วนตัว 40 ล้าน ให้ปางช้างอยู่รอดโดยไม่ปลดพนักงาน อ้างเก็บเงินคนละ 2,500 บาท เป็นค่ารถรับส่ง ค่าเล่นกับช้าง ค่าอาหาร โดยอยู่ในปางช้างได้เกือบ 2 ชม.


จากกรณีแพทย์หญิงโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งในจังหวัดภูเก็ต ได้ร้องเรียนและแจ้งความดำเนินคดีชายชาวต่างชาติ ซึ่งเป็นเจ้าของปางช้างและมูลนิธิเกี่ยวกับการดูช้างแห่งหนึ่งในภูเก็ต ในข้อหาทำร้ายร่างกาย จากที่แพทย์หญิงรายดังกล่าวพร้อมเพื่อนสาวได้ไปเล่นที่ชายหาดอ่าวยามู ต.ป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ในคืนวันมาฆบูชา แล้วไปนั่งพักที่บันไดซีเมนต์ขั้นสุดท้ายริมชายหาด และถูกชายชาวต่างชาติเตะที่หลังจนจุก พร้อมด้วยภรรยาคนไทย พูดจาดูถูกเหยียดยามศักดิ์ศรีคนไทยและคนท้องถิ่นภูเก็ต แต่ชายชาวต่างชาติได้ปฏิเสธว่าไม่ได้เตะ แต่เป็นการสะดุดไปโดนหลังแพทย์หญิง จนกลายเป็นกระแสดังอยู่ในขณะนี้

โซเชียลได้ตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับตัวนายอูรส์ บีท เฟอร์ หรือเดวิด อายุ 45 ปี ชาวสวิส และ นางคะนึงนิจ ซทาล์ดเอคเกอร์ ภรรยาชาวไทยว่าทำธุรกิจอะไรในภูเก็ตถึงสามารถเช่าวิลล่าหรูได้เดือนละ 1 ล้านบาท ตามที่นางคะนึงนิจได้ด่าทอคุณหมอในคืนเกิดเหตุ พร้อมทั้งขุดคุ้ยธุรกิจของนายเดวิดในภูเก็ต จนพบว่า นายเดวิด มีภรรยาเป็นคนไทย คือ นางคะนึงนิจ ซทาล์ดเอคเกอร์ ที่กล่าววาจาหยาบคายและเหยียดหยามแพทย์หญิงธารดาว ในคืนเกิดเหตุ และอ้างว่ามีลูกชายเป็นตำรวจ และรู้จักกับนายตำรวจใหญ่ในภูเก็ตนั้น นางคะนึงนิจ มีลูกเป็นตำรวจตามที่กล่าวอ้างจริง เป็นตำรวจระดับนายสิบ อยู่ที่โรงพักเชิงทะเล อ.ถลาง จ.ภูเก็ต


ขณะที่ นายเดวิด และนางคะนึงนิจ ได้ทำธุรกิจปางช้าง ชื่อ Green Elephant Sanctuary Park Phuket ตั้งอยู่เลขที่ 4 ซ.1 ถ.ศรีสุนทร ต.เชิงทะเล อ.ถลาง จดทะเบียนชื่อบริษัท อีเลเฟนท์ แซงชัวรี่ พาร์ค ภูเก็ต จำกัด ซึ่งตามหนังสือจดทะเบียนของสำนักงานทะเบียนธุรกิจการค้า ระบุว่า บริษัท อีเลเฟนท์ แซงชัวรี่ พาร์ค ภูเก็ต จำกัด ได้จดทะเบียนเมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2560 ด้วยทุนจดทะเบียน 1,000,000 บาท แต่ในอีก 8 เดือนต่อมา คือวันที่ 1 พ.ย. เพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 4,000,000 บาท ทำธุรกิจเป็นตัวแทนธุรกิจจัดนำเที่ยว และกิจกรรมการแสดงโชว์เพื่อความบันเทิงและการนันทนาการ มีกรรมการ จำนวน 3 คน ประกอบด้วย นางคะนึงนิจ ชทาล์ดเอคเกอร์ นายอูรส์ บีท เฟอร์ ชาวสวิส และนายนิคม จ่าทองคำ
.
มีรายงานการส่งงบการเงินทุกปี ตั้งแต่ปี 2560-2566 มีสินทรัพย์รวมในปี 2565 จำนวน 21 ล้านบาท แต่มีหนี้สินรวมกับสัดส่วนผู้ถือหุ้น 21,967,364 บาท มีรายได้รวมในปี 2565 จำนวน 46 ล้าน แต่มีต้นทุนการขาย 14 ล้าน มีค่าใช้จ่ายรวมทั้งการขายและบริหารมากถึง 38 ล้านบาท ทำให้มีกำไรก่อนหักภาษีประมาณ 7 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังระบุอีกว่า ปัจจุบัน นายเดวิด เจ้าของปางช้างมีแนวคิดจะระดมทุนทำมูลนิธิ เพื่อเปิดคลินิกรักษาช้างฟรีในจังหวัดภูเก็ต

จากการตรวจสอบกับฝ่ายปกครองของจังหวัดภูเก็ต พบว่า นายเดวิด มีการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิเพื่อการอนุรักษ์ช้างขึ้นจริง โดยชื่อว่ามูลนิธิ กรีน อีเลเฟนท์ ไวดไลฟ์ ซึ่งเดิมทีนั้น มูลนิธิดังกล่าวชื่อมูลนิธิ กรีน อีเลเฟนท์ ตั้งอยู่ที่ตำบลเชิงทะเล เมื่อปี 2564 และต่อมาในปี 2566 ได้เปลี่ยนชื่อเป็นมูลนิธิ กรีน อีเลเฟนท์ ไวดไลฟ์ และเปลี่ยนที่ตั้งสำนักงานใหญ่มาอยู่ในพื้นที่ป่าคลอก คาดว่าเป็นที่ทำการของปางช้าง พร้อมทั้งมีการเปลี่ยนกรรมการบริหารมูลนิธิ และประธานมูลนิธิจากนางคะนึงนิจ ภรรยา นายเดวิด มาเป็นนายเดวิด แทน 

มูลนิธิดังกล่าวตั้งขึ้น มีวัตถุประสงค์ในการดูแลรักษาเยียวยาช้างที่ได้รับบาดเจ็บจากการใช้แรงงาน มีเงินจดทะเบียนแรกตั้ง จำนวน 500,000 บาท และใช้สัญลักษณ์มูลนิธิเป็นรูปหัวช้าง ตามข้อความที่ปรากฏในเอกสารการจดทะเบียนมูลนิธิ ว่า รูปหัวช้างที่มีอาการเศร้าหมอง เนื่องจากถูกบุคคลหรือผู้ใดบีบบังคับให้ใช้แรงงานหรือไม่เหมาะกับชีวิตของช้าง

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่าโลโก้ของมูลนิธิ กรีน อีเลเฟนท์ ไวดไลฟ์ เป็นโลโก้แบบเดียวกับโลโก้ของปางช้าง Green elephant sanctuary park Phuket จึงเป็นที่น่าสังเกตว่ามีความเกี่ยวข้องกัน


เกี่ยวกับเรื่องนี้ นางคะนึงนิจ ชทาล์ดเอคเกอร์ ภรรยานายเดวิด กล่าวว่า มูลนิธิ กรีน อีเลเฟนท์ ไวดไลฟ์ ตั้งขึ้นมาเพื่อให้การช่วยเหลือช้างได้รับบาดเจ็บ และยังไม่ได้ดำเนินการในเรื่องของการระดมทุนแต่อย่างใด เงินที่ใช้ในการเริ่มต้นเป็นเงินของส่วนตัวของนายเดวิด จำนวน 500,000 บาท และในช่วงที่เกิดโควิดระบาดนายเดวิด นำเงินส่วนตัวจากต่างประเทศมาช่วยเหลือช้างในศูนย์จำนวน 40 ล้านบาทไปก่อน เพื่อมาเลี้ยงช้าง มาดูแลพนักงาน โดยที่ไม่มีการปลดพนักงานออกแม้แต่คนเดียว เพื่อพยุงสถานการณ์ไปให้รอด ยืนยันว่าเงินทุกบาททุกสตางค์เป็นเงินส่วนตัวของนายเดวิด ไม่ใช่เงินที่ได้ใช้เงินของมูลนิธิแม้แต่บาทเดียว มีการแยกส่วนกันอย่างชัดเจน

ส่วนที่เก็บเงินค่าเข้าศูนย์อนุรักษ์ช้าง หรือ Green elephant sanctuary park Phuket คนละ 2,500 บาท และเด็ก 1,000 บาทนั้น เป็นในส่วนของ Green elephant sanctuary park Phuket ซึ่งเก็บค่าเข้า 2,500 บาทนั้น เป็นค่ารถรับส่งจากโรงแรมที่พักมาถึงปางช้าง ค่าป้อนอาหารช้าง เล่นกับช้าง และบริการอาหารไทย ซึ่งนักท่องเที่ยวจะใช้เวลาอยู่ภายในปางช้างเกือบ 2 ชั่วโมง

นางคะนึงนิจ กล่าวอีกว่า ตนยินดีที่จะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปตรวจสอบทั้งในส่วนของการดำเนินการของมูลนิธิ กรีน อีเลเฟนท์ ไวดไลฟ์ และธุรกิจปางช้างของตนและนายเดวิด ที่ปางช้าง Green elephant sanctuary park Phuket เพราะตนมั่นใจว่าดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนดทุกอย่าง สามารถเข้าไปตรวจสอบได้ตลอดเวลา


กำลังโหลดความคิดเห็น