คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้ โดย… ไชยยงค์ มณีพิลึก
ภาพการทำซ้ำของปรากฏการณ์ “ช้างเหยียบนา พญาเหยียบเมือง” บนแผ่นดินจังหวัดชายแดนภาคใต้จะเกิดขึ้นอีกในไม่ช้า เมื่อ นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน มีแผนตรวจราชการที่ จ.ปัตตานี จ.ยะลา และ จ.นราธิวาส โดยจะค้างแรมในพื้นที่ 2 คืนแบบเดียวกับ อดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเคยทำไว้ในสมัยแรก และเป็นที่มาของคำนิยาม “โจรกระจอก” ซึ่งได้ถูกใช้อ้างอิงในสมัยรัฐบาลต่อมาด้วย
เป็นการตรวจราชการท่ามกลาง “ความรุนแรงระอุอ้าว” ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปี 2567 อันตรงกับวาระ “ครบรอบ 20 ปี ไฟใต้ระลอกใหม่” ที่นับจากวันที่ 4 มกราคม 2547 ที่เกิดเหตุปล้นปืนในค่ายปิเหล็ง อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส แล้วตามด้วย 2 เหตุการณ์ตายหมู่ของแนวร่วม และมวลชนบีอาร์เอ็นครั้งสำคัญในปีเดียวกันคือ “เหตุการณ์มัสยิดกรือเซะ” ในเดือนเมษายน และ “เหตุการณ์ตากใบ” ในเดือนตุลาคม
แม้จะผ่านมา 20 ปีแล้ว แต่เหตุการณ์ในปี 2547 ยังถูกบีอาร์เอ็นนำมาใช้เป็นเครื่องมือสำคัญของการเคลื่อนไหวทั้งในและต่างประเทศ ทั้งโฆษณาชวนเชื่อและปฏิบัติการไอโอกล่าวหา “รัฐไทย” ว่า เป็นผู้กระทำต่อคนมุสลิม พร้อมๆ กับเรียกร้องให้รัฐบาลไทยคืนความเป็นธรรมให้ชายแดนใต้ ที่สำคัญความเคลื่อนไหวเหล่านั้นกลับได้ผลและช่วยกระพือไฟใต้ไม่ให้มอดดับมาโดยตลอด
นับจากต้นปี 2567 สถานการณ์ความรุนแรงดูเหมือนจะถูกยกระดับขึ้นเรื่อยๆ เพราะนอกจากในเดือนมกราคมจะมีวัน “สัญลักษณ์” ดังกล่าวแล้ว เดือนกุมภาพันธ์นี้มีการสานต่อ “กระบวนการพูดคุยสันติสุข” ระหว่างรัฐไทย ที่มีนายฉัตรชัย บางชวด รองเลขาธิการสภาความมั่นคง (สมช.) เป็นหัวหน้าคณะ กับฝ่ายบีอาร์เอ็น ที่มีนายหิพนี มะเระ อดีตอิหม่ามใน อ.บันนังสตา จ.ยะลา เป็นหัวหน้าคณะ ซึ่งเจรจากันเมื่อวันที่ 6-7 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
ก่อนการพูดคุยเพียง 2 วันมีการยิงถล่มอดีตแกนนำบีอาร์เอ็นคือ นายแวอาลีคอปเตอร์ แวจิ ที่ได้เข้าสู่โครงการพาคนกลับบ้าน เสียชีวิต รวมถึงมีการวางระเบิดแฟลตตำรวจและจุดตรวจ อีกทั้งยิงตำรวจเสียชีวิต ทั้งหมดเกิดเหตุในพื้นที่ของ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส เช่นเดียวกัน
หลังจากนั้นในหลายพื้นที่ของ จ.นราธิวาสและ จ.ปัตตานี มีกองกำลังท้องถิ่น หรือที่เรียกว่า “อส.อ.” ที่เป็นไทยพุทธถูกโจมตีเสียชีวิตหลายศพ และมีการยึดเอาปืนของเจ้าหน้าที่เหล่านั้นไปด้วย ล่าสุดยังมีการถอดหมุดรางรถไฟไป 108 ตัวในพื้นที่บ้านคลองทราย ต.คลองทราย อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี
ต้องจับตาดูต่อว่าอีกไม่กี่วันที่จะเกิดปรากฏการณ์ “ช้างเหยียบนา พญาเหยียบเมือง” ในระหว่างวันที่ 27-29 กุมภาพันธ์นี้ กองกำลังติดอาวุธของบีอาร์เอ็นจะก่อเหตุอะไรอีกมากน้อยแค่ไหนเพื่อต้อนรับคณะของนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ที่จะเดินทางมาตรวจราชการแบบทำซ้ำที่เคยเกิดขึ้นแล้วในสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ดังที่กล่าวไปแล้ว
เนื่องจากเวลานี้มีทั้ง “เงื่อนไข” และ “เหตุผล” มากมายที่ช่วยให้การวิเคราะห์สถานการณ์ได้ว่า น่าจะต้องมีความรุนแรงเกิดขึ้นในชายแดนใต้ต่อเนื่องไปอีก เพราะต้นเดือนมีนาคม 2567 จะมีการเปิดโต๊ะพูดคุยสันติสุขของ “คณะทำงานด้านเทคนิค” ของทั้ง 2 ฝ่ายอีกครั้ง ซึ่งต่างฝ่ายต่างเตรียมชงข้อเสนอขึ้นโต๊ะให้พิจารณากัน เอาแค่หนึ่งในสามของหัวข้อคือเรื่อง “การยุติความรุนแรง” ถือเป็นโจทย์ใหญ่ว่าจะรับกันได้หรือไม่
ดังนั้น ก่อนที่จะถึงวันพูดคุยสันติสุขกันอีกระลอก จึงเป็นไปได้ที่จะต้องมีการสร้างสถานการณ์รุนแรงเพื่อเป็นการกดดันรัฐไทยให้ยอมที่จะรับข้อเสนอของฝ่ายบีอาร์เอ็น
ที่สำคัญ หลังวันที่ 10 มีนาคม 2567 จะเข้าสู่ “เดือนรอมฎอน” ที่พี่น้องมุสลิม ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของชายแดนภาคใต้ต้องถือศีลอด จะมีการออกมาเรียกร้องให้เป็นเดือนแห่งสันติสุข หรือหยุดก่อเหตุร้ายรุนแรง ซึ่งผู้ที่จะให้คำตอบนี้ได้ไม่ใช่ “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” ในนามรัฐไทย แต่ต้องมาจากฝ่ายบีอาร์เอ็น
และหากการพูดคุยสันติสุขของคณะเทคนิคเป็นไปแบบที่รัฐไทยรับข้อเสนอของฝ่ายบีอาร์เอ็นไม่ได้ คงคาดการณ์ได้หรือไม่ว่า ทั้งเดือนถือศีลอดและต่อเนื่องถึงช่วงประเพณีสงกรานต์ที่ทับซ้อนกันอยู่นั้น นั่นจะกลายเป็น “รอมฎอนเลือด” และ “สงกรานต์เดือด” บนแผ่นดินปลายด้ามขวานหรือไม่
เพราะวันนี้ “อุซตาส” ใต้ปีกโอบของบีอาร์เอ็นยังบ่มเพาะประชาชน และโดยเฉพาะเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่เป็นแนวร่วมในพื้นที่ด้วยการ “บิดเบือนหลักการศาสนา” ว่า การเข่นฆ่าผู้ที่เป็นศัตรูในเดือนรอมฎอนจะได้บุญเพิ่มขึ้นถึง 10 เท่า คำสอนนี้ยังมีคนเชื่อตามจำนวนมาก
ดังนั้น ปรากฏการณ์ “ช้างเหยียบนา พญาเหยียบเมือง” บนแผ่นดินปลายด้ามขวานที่จะเกิดขึ้นในอีกไม่นานนี้ ไม่น่าจะมีผลให้ความรุนแรงลดน้อย เพราะดูหมุดหมายของคณะผู้นำรัฐบาลจะเน้นไปที่เรื่องเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และการพัฒนาอาชีพเสียมากกว่าด้านความมั่นคง
ตัวอย่างข่าวคราวที่ปรากฏออกมาคือ “นายกฯ นิด” ท่านให้ความสนใจเรื่อง “ปลาพลวง” กิโลกรัมละ 3,500 บาท และ “ปลานิลน้ำไหล” ตัวละ 3,000-9,000 บาท ซึ่งถึงแม้จะเป็นอาหารของเศรษฐี แต่เชื่อว่าเศรษฐีคงไม่กล้าที่จะกินกันได้ทุกวัน รวมถึงเรื่องของ “สกายวอล์กอัยเยอร์เวง” ที่ว่ากันตามจริง แม้ไม่มี “นายกฯ นิด” มาช่วยโปรโมตก็มีคนมาเที่ยวอย่างล้นหลามอยู่แล้ว
เชื่อว่าสิ่งที่คนชายแดนใต้ต้องการรับรู้และอยากได้ยินมากที่สุดจาก “นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน” และ “พรรคเพื่อไทย” คือ จะมีแนวทางแก้ปัญหาไฟใต้อย่างไร มีแผนการอะไรที่จะทำให้ไม่มีเสียงระเบิดและเสียงปืนเกิดขึ้นอีก ทำอย่างไรให้ไม่ต้องสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินของทั้งเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชนเพิ่มขึ้นไปมากกว่านี้อีก
ที่สำคัญคนชายแดนใต้ต้องการได้ยินจากปาก “นายกฯ นิด” อย่างชัดเจนว่า เรื่องความไม่สงบที่เกิดขึ้น เรื่องการก่อการร้าย และโดยเฉพาะเรื่องของขบวนการแบ่งแยกดินแดน เหล่านี้เป็นหน้าที่ที่จะต้องแก้ปัญหาโดยตรงของรัฐบาล ของพรรคเพื่อไทย และพรรคร่วมรัฐบาล ไม่ใช่เอาแต่โยนเผือกร้อนไปให้ว่าเป็นหน้าที่ของ “กองทัพ” หรือ “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” โดยที่รัฐบาล พรรคเพื่อไทย และพรรคร่วมรัฐบาลไม่เกี่ยวข้อง
ส่วนเรื่อง “ปลาพลวง” เรื่อง “ปลานิลน้ำไหล” ให้คนในพื้นที่ที่เขารู้เรื่องราวกันดีอยู่แล้วจัดการไป ปล่อยให้เป็นเรื่องของเศรษฐี ที่เป็นคนส่วนน้อยในพื้นที่ เพราะเขารู้จักที่จะปรุงอาหารขึ้นเหลากันได้ดีอยู่แล้ว เพราะคนจนแค่ได้กิน “ปลานิลเจ้าสัว” เพื่อให้มีชีวิตรอดอยู่ไปวันๆ ถือว่าหรูที่สุดแล้วเช่นกัน