xs
xsm
sm
md
lg

ผอ.วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีตรังห่วงสถานการณ์เด็กรุ่นใหม่สนใจเรียนเกษตรน้อย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ตรัง - ผอ.วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีตรัง เผยช่วง 10 ปีนี้เด็กรุ่นใหม่สนใจเรียน ว.เกษตรฯ น้อยลงมาก ส่วนใหญ่เบนเข็มไปภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะภาคใต้ ล่าสุดมีนักศึกษาแค่ 300-500 คนเท่านั้น ห่วงกระทบอนาคตของประเทศ

วันนี้ (21 ก.พ.) ที่วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีจังหวัดตรัง ซึ่งปัจจุบันเปิดการเรียนการสอนทั้งในระดับ ปวช. และ ปวส. หรืออนุปริญญา ประกอบด้วย วิชางานเกษตรกรรม การผลิตสัตว์ ผลิตพืช การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ อุตสาหกรรมการเกษตร พาณิชยกรรม คหกรรมการทำอาหาร การแปรรูปผลผลิตการเกษตร และการแปรรูปสัตว์น้ำ ซึ่งทุกสาขาวิชาเป็นความรู้ที่สามารถติดตัวนักศึกษาตลอดไป เพราะได้เรียนทั้งทฤษฎีและภาคการปฏิบัติด้วยตนเอง เช่น สาขาสัตวศาสตร์ มีทั้งการผลิตไก่ไข่ด้วยการฟักไข่ การเลี้ยง การเก็บไข่คัดแยกขนาดเพื่อส่งขาย หรือการเลี้ยงโค


โดยน้องๆ จะได้ทำเองทุกอย่าง ตั้งแต่การเริ่มเลี้ยง การสุขาภิบาลสัตว์ การฉีดยา การฉีดวิตามิน การฉีดวัคซีน การเจาะเลือดส่งตรวจ การให้อาหาร การผสมอาหาร และร่วมพัฒนาปรับปรุงสายพันธุ์โคเนื้อ ด้วยการนำโคสายพันธุ์ดีทั้งที่ผ่านการพัฒนาสายพันธุ์มาแล้ว และสายพันธุ์ต่างประเทศ มาผสมกับโคพื้นเมืองภาคใต้ เพื่อให้ได้สายพันธุ์โคเนื้อที่ทนต่อโรค ได้ปริมาณเนื้อมาก และในอนาคตส่งไปให้แผนกอุตสาหกรรมทำการแปรรูปด้วย

ส่วนน้องๆ ที่เรียนสาขาพืชศาสตร์ ได้เรียนรู้การปลูกพืชทั่วไป การขยายพันธุ์พืชด้วยวิธีการต่างๆ รวมทั้งการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อภายในห้องปฏิบัติการ ทั้งพันธุ์พืชอนุรักษ์ และพืชหายากต่างๆ การเสียบยอดทุเรียนพันธุ์หมอนทอง นอกจากนั้น ยังได้เรียนรู้การดูแลบำรุงรักษาและการใช้เครื่องจักรด้านการเกษตร ทั้งรถไถ รถแทรกเตอร์อีกด้วย

ขณะที่แผนกวิชาประมง นอกจากเรียนเกี่ยวกับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำแล้ว น้องๆ ยังสามารถเก็บตัวอย่างน้ำไปตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำ การตรวจค่าออกซิเจนในน้ำและใช้เครื่องมือทางวิทยาศาตร์ได้ด้วยตนเอง นอกจากนั้น ผลผลิตที่ได้จากการปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ ยังนำเข้าสู่แผนกวิชาอุตสาหกรรมเกษตร เพื่อแปรรูปทำเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ จำหน่ายภายในวิทยาลัย และนำผลผลิตที่ได้ไปทำอาหารเลี้ยงนักเรียนฟรี วันละ 3 มื้อด้วย


นายพรชัย อาจหาญ ผู้อำนวยการวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีตรัง บอกว่า ปีการศึกษา 2566 มีนักศึกษาทั้งหมด 172 คนเท่านั้น ส่วนปีการศึกษา 2567 ตั้งเป้ารับสมัครเอาไว้ 370 คน เป็นระดับ ปวช. 200 คน ระดับปวส. 170 คน ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา วิทยาลัยเกษตรฯ ทั่วประเทศประสบปัญหาเดียวกันคือ คนสนใจเข้าเรียนน้อยมาก อาจเพราะค่านิยมว่าเรียนเกษตรแล้วอาจจะเหนื่อยหรือว่าลำบาก แต่ความจริงแล้วการเรียนสาขาด้านการเกษตรมีอนาคต เนื่องจากว่าประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม สินค้าอุปโภคบริโภคในแต่ละวันต้องพึ่งพาภาคการเกษตร สามารถสร้างอาชีพได้อีกมากมาย

แต่ด้วยความที่นักเรียนรุ่นใหม่อาจจะต้องการทำงานในลักษณะของบริษัทหรือออฟฟิศมากกว่า โดยเฉพาะภาคใต้มีนักศึกษาในวิทยาลัยเกษตรฯ น้อยกว่าทุกภาค คือ เหลือแค่ 300-500 คนเท่านั้น ซึ่งสถานการณ์แบบนี้น่าเป็นห่วง ทั้งที่สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาได้พยายามส่งเสริมการเรียน ด้วยการจัดหอพักให้นักศึกษาอยู่ฟรี มีอาหารให้ทานฟรีวันละ 3 มื้อ และมีทุนการศึกษาให้


นายวิเศษศิฐ คงอ่อนศรี นักศึกษา ปวช.2/2 บอกว่า สาขาสัตวศาสตร์ สิ่งที่ได้จากการศึกษา คือ การจัดการสุขาภิบาลในฟาร์ม การดูแลรักษาโรคสัตว์ และได้รับความรู้ประกอบวิชาชีพ ตอนนี้รับจ้างทั่วไปฉีดยาโคด้วย เน้นฉีดวิตามินและถ่ายพยาธิโค โดยใช้เวลาว่างตอนเย็นเลี้ยงโคที่บ้านด้วย 8 ตัว เพื่อเอาความรู้ไปใช้ในการพัฒนาสายพันธุ์วัวชนได้ต่อยอดอาชีพ

ส่วน น ส.ธาณียา เหล่าวนาสวัสดิ์ อาจารย์ประจำแผนกวิชาสัตวศาสตร์ บอกว่า ปัจจุบันนักศึกษาที่จบจากวิทยาลัยเกษตรฯ ส่วนใหญ่จะมีงานรองรับ เพราะอาชีพด้านการเกษตรเป็นที่ต้องการของตลาดมาก โดยเฉพาะด้านสัตวศาสตร์ ไม่สามารถใช้หุ่นยนต์ได้ ยังคงต้องใช้กำลังคน ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อสมัครเรียนได้ที่วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีทั่วประเทศ หรือวิทยาลัยเกษตรฯ ตรัง โทร.06-1179-5294 หรือ 0-7528-4152




กำลังโหลดความคิดเห็น