xs
xsm
sm
md
lg

(ชมคลิป) หนุ่มสตูลดีกรีปริญญาโท เนรมิตพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากเป็น “สวนเสาวรส” พันธุ์บรูไนลูกโต สร้างรายได้งาม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์





จากพื้นที่ 1 งาน ที่ดูเหมือนจะไม่มีประโยชน์ เพราะน้ำท่วมขังตลอดเมื่อมีฝนตกหนัก มาวันนี้ นายอานนท์ แอหลัง อายุ 33 ปี หนุ่มปริญญาโท คณะสัตวศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชมงคลศรีวิชัย ได้เนรมิตผืนดินที่บ้านทุ่งพัฒนา หมู่ 13 ตำบลละงู อำเภอละงู จังหวัดสตูล ที่น้ำท่วมซ้ำซาก ให้กลายเป็นสวนเสาวรส สายพันธุ์บรูไน ลูกใหญ่ ผลโต น้ำหนักดี และยังให้ผลผลิตทั้งปี สร้างรายได้อย่างงดงามให้แก่ครอบครัวได้ไม่น้อย

จากคุณสมบัติพิเศษของเสาวรส สายพันธุ์บรูไน ที่เขานำมาปลูก ที่มีคุณสมบัติทนทานต่อน้ำท่วมขังได้เป็นอย่างดี และแมลงเจาะเปลือกที่หนาไม่ได้ ทำให้เป็นพืชที่เหมาะแก่การปลูกในพื้นที่ดังกล่าวเป็นอย่างมาก

นายอานนท์ แอหลัง เจ้าของไร่เสาวรสสตูล บอกว่า จุดเริ่มต้นของการปลูกเสาวรสพันธุ์บรูไนเป็นความชอบส่วนตัว เมื่อก่อนเคยอยู่วิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ชื่นชอบในการปลูกพืช จึงได้ลาออกจากงานและมาปลูกพืชพืชชนิดแรกที่นำมาปลูกก็คือเสาวรสเนื่องจากที่ดินใกล้บ้านเป็นพื้นที่ที่ประสบปัญหาน้ำท่วมบ่อยครั้ง และพบว่าเสาวรสเป็นพืชที่ทนน้ำ จึงเป็นที่มาของการปลูกเสาวรส

สำหรับเสาวรสที่นำมาปลูกเป็นสายพันธุ์บรูไน มีความพิเศษคือ ลูกใหญ่ ลูกดก มีรสชาติเปรี้ยวอมหวานนิดๆ อร่อยกว่าพันธุ์อื่นเยอะ จึงเอาลักษณะเด่นนี้มาปลูกในพื้นที่ของตน การให้ผลผลิตอยู่ที่ 50 กิโลกรัมต่อ 1 ต้น ในพื้นที่มีทั้งหมด 35 ต้น โดย 1 กิโลกรัมตกอยู่ที่ 8-9 ลูก ให้ผลผลิตทั้งปี ช่องทางการตลาดขายผ่านตลาดออนไลน์ มีบริการส่งทั่วประเทศ ราคากิโลกรัมละ 80 บาท

ดูแลง่ายมากไม่ต้องห่วงเรื่องโรคหรือแมลง เพราะเสาวรสมีเปลือกแข็ง แมลงทำลายเปลือกของมันไม่ได้ อนาคตจะเพาะพันธุ์ต้นขาย โดยขณะนี้มีน้องสาว อมิตา แอหลัง มาช่วยดูแลในการทำร้านน้ำจากเสาวรส กาแฟเสาวรส ติดต่อสอบถามได้ที่โทร.09-4876-3659

ด้านนายปิยทัศน์ ทองปาน นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ สนง.เกษตรอำเภอละงู กล่าวว่า ที่สวนเสาวรสที่ให้ผลผลิตทั้งปี แต่ยังไม่เพียงพอต่อผู้บริโภค สำนักงานเกษตรอำเภอละงูจึงส่งเสริมให้ขยายพื้นที่ โดยมีการจำหน่ายต้นพันธุ์ แล้วส่งเสริมให้ตัวเกษตรกรได้ใบรับรองสินค้าการเกษตร หรือ GAP จะเป็นการเพิ่มมูลค่าให้แก่ผลผลิตได้ นอกจากนี้ จะแนะนำให้มีการแปรรูปเพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าให้แก่ผลผลิตด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น