xs
xsm
sm
md
lg

บุกโกดังแม่ค้าออนไลน์ชื่อดังเมืองยะลา พบสินค้าหนีภาษี-เครื่องใช้ไฟฟ้าไม่มี มอก. มูลค่ากว่า 10 ล้านบาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ยะลา - ดีเอสไอสนธิกำลังเจ้าหน้าที่เข้าตรวจค้นโกดังสินค้าแม่ค้าออนไลน์ชื่อดังเมืองยะลา หลังสืบทราบว่าลักลอบนำเข้าสินค้าหลบเลี่ยงศุลกากร และสินค้าประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้าไม่ผ่าน มอก. เจ้าหน้าที่ยึดของกลางตรวจสอบ มูลค่าไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท

วันนี้ (14 ก.พ.) นายชยพล สายทวี ผอ.ศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษจังหวัดชายแดนภาคใต้ หัวหน้าคณะพนักงานสืบสวน นำคณะพนักงานสืบสวนเข้าตรวจสอบบริษัท มากี้ช็อป 2017 จำกัด ที่ลักลอบนำเข้าและจำหน่ายสินค้าไม่ผ่านการรับรองมาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.) ผ่านช่องทางออนไลน์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยสนธิกำลังร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าตรวจค้นในบ้านเป้าหมาย พบเป็นบ้านหรู มีสระว่ายน้ำ บางส่วนกำลังต่อเติม มีรถหรูจอดในโรงรถ 4 คัน และเข้าตรวจค้นภายในโกดังที่อยู่หลังบ้านดังกล่าว พบสินค้าหลายประเภทอยู่ตามชั้นวางสินค้า เช่น กระเป๋าเดินทาง ยาสีฟัน ผงซักฟอก นาฬิกาข้อมือดิจิทัล ครีมบำรุงผิวหน้า ขนม

ส่วนสินค้าไม่ผ่านการรับรองมาตรฐานสินค้าอุตสาหกรรม หรือ มอก. ที่ค้นพบอยู่บนชั้นวางด้านหลังโกดัง ประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น เตารีดไอน้ำ หม้อหุงข้าว เตากระทะไฟฟ้า พัดลม เพาเวอร์แบงก์ และจักรยาน เจ้าหน้าที่จึงยึดไปตรวจสอบ

คดีดังกล่าวนี้จากการสืบสวนของเจ้าหน้าที่พบว่า บริษัท มากี้ช็อป 2017 จำกัด มีการนำเข้าและจำหน่ายสินค้าที่ไม่ผ่านการรับรองมาตรฐานอุตสาหกรรม และลักลอบจำหน่ายสินค้าหลีกเลี่ยงภาษีอากร โดยเปิดจำหน่ายสินค้าผ่านช่องทางเว็บไซต์ และแอปพลิเคชัน ซื้อขายสินค้าทางออนไลน์ ทางเพจ Facebook ชื่อ MakeeShop และ Tiktok ชื่อ Makeeshopofficial ซึ่งมีผู้ติดตามจำนวนหลายล้านคน โดยเพจดังกล่าวมีพฤติการณ์ไลฟ์จำหน่ายสินค้าประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่ผ่านมาตรฐานอุตสาหกรรมจำนวนมาก ได้แก่ หม้อไฟฟ้า กระทะไฟฟ้า กระทะปิ้งย่าง พัดลม ซึ่งสินค้าประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้าเป็นสินค้าที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งต้องมีเครื่องหมายมาตรฐานบังคับ โดยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมกำหนดให้ผู้ประกอบการที่นำเข้าจะต้องขออนุญาตสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเสียก่อนเพื่อรับรองคุณภาพสินค้าว่าเป็นไปตามมาตรฐาน และเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคในการที่จะนำไปใช้หรือจำหน่ายต่อ รวมทั้งการนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักรต้องผ่านพิธีการศุลกากรอย่างถูกต้อง


แต่จากการตรวจสอบเบื้องต้นไม่พบว่าบริษัท มากี้ช็อป 2017 จำกัด ได้ขออนุญาตต่อสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม แต่อย่างใด และในการถ่ายทอดสดมีการพูดต่อสาธารณะว่าสินค้าที่ขายไม่ผ่านสำนักมาตรฐานอุตสาหกรรม ซึ่งมีผู้ที่ซื้อสินค้าจำนวนมากทั่วประเทศจำนวนกว่าแสนชิ้นและประกอบธุรกิจมาเป็นเวลานาน รวมมูลค่าความเสียหายมากกว่า 10 ล้านบาท

ผลการตรวจค้นเป้าหมาย ตามหมายศาล จ.ยะลา 1.หมายค้นศาลจังหวัดยะลา ที่ 1/2567 ลงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567 ค้นสถานที่ บ้านเลขที่ 47/57 หมู่ 7 ตำบลสะเตงนอก อำเภอเมือง จังหวัดยะลา ซึ่งเป็นที่พักอาศัยและโกดังเก็บสินค้า พบสินค้าซึ่งไม่ผ่านการรับรองมาตรฐานอุตสาหกรรม มอก. จำนวนมาก ตรวจค้นในขณะเกิดเหตุพบสินค้าในโกดังมีมูลค่ากว่า 10 ล้านบาท

2.หมายค้นศาลจังหวัดยะลา ที่ 2/2567 ลงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567 ค้นสถานที่ บ้านเลขที่ 63/1 หมู่ 7 ตำบลสะเตงนอก อำเภอเมือง จังหวัดยะลา ซึ่งมีลักษณะเป็นโกดัง ภายในพบว่ามีเครื่องจักรขนาดใหญ่สำหรับผลิตกล่องบรรจุสินค้าส่งจำหน่ายให้ลูกค้า และบริเวณด้านข้างโกดังพบรถบรรทุกสินค้าซึ่งมีสินค้าอยู่เต็มคันรถ พฤติการณ์และการกระทำดังกล่าวจึงเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุสาหกรรม พ.ศ.2511 มาตรา 48 และ 48 ทวิ และความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2560 มาตรา 242, 243 และ 244 ซึ่งอาจเข้าข่ายเป็นความผิดทางอาญาตามที่กฎหมายกำหนดไว้ในบัญชีท้ายประกาศ กคพ.(ฉบับที่ 8) พ.ศ.2565 เรื่อง กำหนดรายละเอียดของลักษณะของการกระทำความผิดที่เป็นคดีพิเศษ ตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 ตามบัญชีท้าย ข้อ 8 และข้อ 13 ซึ่งเป็นความผิดมูลฐานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ซึ่งจะได้เสนออธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษเพื่อพิจารณาสั่งการต่อไป ซึ่งพนักงานสืบสวนจะได้ดำเนินการบังคับใช้กฎหมายโดยร่วมปฏิบัติงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อบูรณาการร่วมกันอย่างต่อเนื่องต่อไป


นายชยพล สายทวี ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษจังหวัดชายแดนภาคใต้ เปิดเผยว่า จากการสืบสวนพบว่าโกดังแห่งนี้ลักลอบนำเข้าสินค้าที่ไม่ผ่านพิธีการศุลกากร และไม่ผ่านมาตรฐานสินค้าอุตสาหกรรม หรือ มอก. ก่อนนำมาจัดเก็บที่โกดังดังกล่าว และจะมีไลฟ์ขายผ่านช่องทางออนไลน์เฟซบุ๊กกับติ๊กต็อก โดยในเฟซบุ๊กมีผู้ติดตามมากกว่า 2,600,000 บัญชี ส่วนในติ๊กต็อกอีกหลายแสนบัญชี และซื้อสินค้าไปใช้จำนวนมาก ซึ่งดำเนินการเพื่อปกป้องคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค ที่ซื้อสินค้าไม่ได้คุณภาพจนเกิดความเสียหาย เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ทำให้ลัดวงจรได้ สินค้าบางประเภทใช้งานไม่ได้ตามวัตถุประสงค์ที่ซื้อ และบางส่วนเป็นสินค้าไม่ตรงปก แม้ผู้ซื้อจะรู้ว่าเป็นสินค้าราคาถูก ไม่มี มอก. แต่การใช้งานควรมีคุณภาพที่ผู้บริโภคควรได้รับ

ทั้งนี้ ประเภทสินค้าที่ถูกร้องเรียนเป็นกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งมีกฎหมายบังคับต้องผ่าน มอก. แต่การตรวจกลับไม่พบสินค้าประเภทนี้ในโกดังที่มี มอก. เช่น กาต้มน้ำ พัดลม หม้อหุงขาว เตาปิ้งย่าง เพาเวอร์แบงก์ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนี้ มีสินค้าประเภทของเล่น เช่น จักรยาน ที่ต้องมีความสูงไม่เกิน 60 เซนติเมตร แต่ที่พบเกินกว่ากฎหมายกำหนด และไม่มี มอก. รวมทั้ง รถไฟฟ้าด้วย

ส่วนที่พบ มอก. ต้องตรวจสอบว่า มอก.แท้หรือปลอม ทั้งนี้ผู้ที่ซื้อสินค้าจากร้านดังกล่าว แล้วได้รับความเสียจากการใช้สินค้า หรือพบว่าไม่มี มอก. นำหลักฐานเข้าพบพนักงานสอบสวน เลขสอบสวนที่ 125/2566 ที่ศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่จังหวัดปัตตานี หรือแจ้งตำรวจในท้องที่ที่อยู่อาศัยให้ส่งเรื่องมาศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ได้


ด้านนายสมบัติ สุวรรณมณี อุตสาหกรรมจังหวัดยะลา เผยว่า หลังร่วมคัดแยกสินค้าพบเครื่องใช้ เตารีด พัดลม กระทะ เตาปิ้งย่างไฟฟ้า ซึ่งเจ้าหน้าที่ต้องตรวจคัดแยกสินค้าที่ไม่ผ่าน มอก. และนำไปตรวจสอบอย่างละเอียดว่า บริษัทที่ผลิตสินค้าเหล่านี้ได้ขึ้นทะเบียนและได้รับอนุญาตจากสำนักงานมาตรฐาน มอก. หรือไม่

ส่วนสินค้าที่น่ากังวล เป็นประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่ผ่าน มอก. อาจทำให้เกิดปัญหาจากการใช้งานได้ พร้อมประสานงานตรวจสอบการตรวจมาตรฐานและค้นหาฐานข้อมูลของสินค้าที่ตรวจพบ รวมทั้งตรวจสัญลักษณ์ มอก. ที่พบข้างกล่องสินค้าบางประเภทว่า ผลิตที่ไหน เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับมาตรฐานจริงหรือไม่ ซึ่งโทษตาม พ.ร.บ.มาตรฐานผลิตอุตสาหกรรม พ.ศ.2511 ระบุว่า ผู้ที่จำหน่ายสินค้าไม่ผ่าน มอก. มีโทษปรับไม่เกิน 2 ล้านบาท และจำคุกไม่เกิน 2 ปี

ทั้งนี้ ภายในโกดังยังมีพื้นที่บรรจุสินค้าใส่กล่องพัสดุเพื่อส่งให้ลูกค้าทั่วประเทศ ซึ่งพบกล่องลังที่บรรจุสินค้าวางไว้จำนวนมากที่เตรียมส่งให้ลูกค้า โดยพบว่าไกลสุดที่จังหวัดเขียงราย นอกจากนี้ยังมีโรงงานผลิตกล่องลัง ที่ห่างจากโกดังราว 1 กิโลเมตรอีกด้วย

ทั้งนี้ หน่วยงานที่เข้าร่วมตรวจสอบกับดีเอสไอในครั้งนี้ ประกอบด้วย ฝ่ายปกครองอำเภอเมืองยะลา เจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนจังหวัดชายแดนภาคใต้ เจ้าหน้าที่ศูนย์ปฏิบัติการนิติวิทยาศาสตร์จังหวัดชายแดนภาคใต้ เจ้าหน้าที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดยะลา และเจ้าหน้าที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดยะลา


กำลังโหลดความคิดเห็น