xs
xsm
sm
md
lg

รมว.ยุติธรรมลงใต้เปิดงานรวมพลังมวลชน แก้ปัญหายาเสพติดชายแดนใต้ที่ จ.ยะลา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วันนี้ (12 ก.พ.) พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และคณะได้เดินทางลงพื้นที่จังหวัดยะลา เปิดงาน “รวมพลังมวลชน แก้ปัญหายาเสพติดชายแดนใต้” ณ หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา พร้อมทั้งมอบนโยบายแนวคิดในการแก้ไขปัญหายาเสพติดชายแดนใต้ และชี้แจงแผนการแก้ไขปัญหายาเสพติดภาคประชาชน ประจำปี 2567 ร่วมรับฟังการเสวนา หัวข้อ “ยาเสพติดชายแดนใต้ แก้ได้อย่างไร” และเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชน โดยมีส่วนราชการ ทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และเครือข่ายภาคประชาชนจากทุกหมู่บ้านในพื้นที่จังหวัดยะลา เข้าร่วม

พ.ต.อ.ทวี เปิดเผยว่า การแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่ภาคใต้ มีแผนการใช้มิติทางศาสนา เครือข่ายประชาชน และภาคประชาสังคม และหน่วยราชการ ร่วมบูรณาการในการแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างจริงจัง เนื่องจากพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพื้นที่ในการแพร่ระบาดของยาเสพติด ปัจจัยหนึ่งคือการยกเลิกพืชกระท่อมไม่ใช่ยาเสพติด แต่ในความเป็นจริง กระท่อมยังเป็นภัยของประชาชน รวมถึงกัญชา ดังนั้นการแก้ปัญหาในมิติของพื้นที่ภาคใต้จึงเป็นการแก้ปัญหาที่มีความสลับซับซ้อนกว่าพื้นที่อื่น แต่สิ่งที่เป็นจุดแข็งในมิติของชุมชน หมู่บ้าน ซึ่งที่นี่มีความเข้มแข็งอยู่ ด้วยการใช้มิติทางศาสนา และภาคประชาชน โดยพยายามวางกรอบแนวทางในระยะเวลา 7 เดือน ถึง 1 ปี ต้องเห็นผล รูปแบบในพื้นที่ของจังหวัดชายแดนภาคใต้เน้นในเรื่องของการปราบปรามผู้ค้ารายย่อย รวมทั้งผู้ค้ารายใหญ่ที่เป็นทางผ่านของยาเสพติด รวมถึงการใช้ชุมชนเข้มแข็ง เพื่อเป็นป้องกันยาเสพติด ตลอดจนจะต้องมีมาตรการห่วงใยและเข้มงวด เพื่อไม่ให้ข้าราชการเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับยาเสพติด หากมีเอี่ยวจะดำเนินการยึดทรัพย์และทำการตรวจสอบในเรื่องการบริหารและการปกครองอย่างจริงจัง

สำหรับพืชกระท่อมที่มีการวางจำหน่ายในลักษณะน้ำกระท่อมนั้น ปัจจุบันเป็นภัยและเป็นทุกข์ของประชาชน อาจใช้ พ.ร.บ.อาหารและยาเข้าดำเนินการ ทั้งสถานที่วางขาย เพื่อความเหมาะสม ซึ่งยาที่ใช้ได้ดีที่สุดคือชุมชนต้องเข้มแข็ง เป็นรูปแบบการแก้ไขปัญหา โดยมีเป้าหมายสุดท้าย คือ พื้นที่ตำบล หมู่บ้าน วิธีการดำเนินการอาจจะแตกต่างกันไปตามบริบทพื้นที่ แต่เป้าหมายเดียวกัน ซึ่งในส่วนของภาคประชาชนต้องช่วยกันเป็นหูเป็นตา ประสานการทำงานร่วมกับหน่วยราชการ แต่ให้เป็นของประชาชน โดยที่ไม่ต้องมีกฎระเบียบผูกมัดมากนัก บางอย่างมีการส่งหน่วยราชการเข้ามาช่วยในการแก้ไขปัญหายาเสพติด แต่กรณีที่หน่วยราชการต้องการข้อมูลเป็นการถ่วงดุลกัน คิดว่าการเดิน 2 ขา ในลักษณะแบบนี้ คือขาของจิตอาสาในพื้นที่ จะทำให้การแก้ไขปัญหายาเสพติดไปสู่เป้าหมายอย่างยั่งยืนมากยิ่งขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น