xs
xsm
sm
md
lg

(ชมคลิป) ภูเก็ตปักธงความเป็นกลางทางคาร์บอน 2030 ลด 30% ภายใน 1 ปี นำร่องถนนถลาง ย่านเมืองเก่า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าวภูเก็ต - มูลนิธิพัฒนาการท่องเที่ยงยั่งยืน ร่วมกับชุมชนย่านเมืองเก่าภูเก็ต ประกาศปักธงความเป็นกลางทางคาร์บอน 2030 ประเดิมถนนถลาง ย่านเมืองเก่า ตั้งเป้าลด 30% ภายใน 1 ปี ศึกษาจาก 4 แหล่งปล่อยสำคัญ คือ ยานพาหนะ น้ำเสีย ปริมาณการใช้ไฟฟ้า และขยะ




โดยเมื่อเร็วๆ นี้ มูลนิธิพัฒนาการท่องเที่ยงยั่งยืน ร่วมกับชุมชนย่านเมืองเก่าภูเก็ต แถลงข่าวความเป็นกลางทางคาร์บอน ภูเก็ต โอลด์ ทาวน์ ประเดิมย่านเมืองเก่า ถนนถลาง ตั้งเป้าลด 30% ภายใน 1 ปี ภายใต้การสนับสนุนขององค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต เทศบาลนครภูเก็ต สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 15 กรมควบคุมมลพิษ และสำนักงานข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีนายภูมิกิตติ์ รักแต่งาม ประธานมูลนิธิพัฒนาการท่องเที่ยวยั่งยืน นายเรวัต อารีรอบ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด นายประสิทธิ์ สินเสาวภาคย์ รองนายกเทศมนตรีนครภูเก็ต นายดอน ลิ้มนันทพิสิฐ ประธานชุมชนย่านเมืองเก่าภูเก็ต สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 15 กรมควบคุมมลพิษ และสำนักงานข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) ร่วมกันแถลงข่าวเปิดตัวโครงการความเป็นกลางทางคาร์บอน เมืองเก่าภูเก็ต ณ ศูนย์การค้าไลม์ไลท์ ภูเก็ต เมื่อเร็วๆ นี้


นายภูมิกิตติ์ รักแต่งาม ประธานมูลนิธิพัฒนาการท่องเที่ยวยั่งยืนกล่าวว่า ตามที่ประเทศไทยได้ประกาศต่อหน้าประชาคมโลกในการประชุม COP 26 ว่า จะบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 และบรรลุคาร์บอนสุทธิในปี 2065 นั้น จังหวัดภูเก็ตในฐานะเมืองท่องเที่ยวระดับโลกได้เริ่มมีการประสานงานและวางแผนในการดำเนินการเพื่อให้บรรลุผล และได้เริ่มต้นในการดำเนินการในพื้นที่ถนนถลางเพื่อศึกษาและประยุกต์รูปแบบก่อนที่จะขยายผลไปในพื้นที่ต่างๆ ของจังหวัดภูเก็ต

โดยได้ร่วมมือกับชุมชนย่านเมืองเก่าภูเก็ต องค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต เทศบาลนครภูเก็ต สำนักงานสิ่งแวดล้อม และควบคุมมลพิษที่ 15 กรมควบคุมมลพิษ และสำนักงานข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) ในการดำเนินการ ทั้งนี้ได้เริ่มต้นศึกษาปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์อันเกิดจากแหล่งปล่อยสำคัญ 4 แหล่ง ได้แก่ จากยานพาหนะ จากน้ำเสีย จากปริมาณการใช้ไฟฟ้า และจากปริมาณขยะ และจะดำเนินการปรับลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์จากแหล่งทั้ง 4 แหล่งให้ได้ 30% ภายใน 12 เดือน โดยจะมีการวัดผลทุกๆ 3 เดือน

“มูลนิธิจะนำถุงขยะ 4 สี แจกให้ชุมชนย่านเมืองเก่า เพื่อให้ผู้อยู่อาศัยและประกอบกิจการในถนนถลางได้ร่วมมือกันแยกขยะอย่างเข้มขัน โดยทางเทศบาลนครภูเก็ตจะดำเนินการจัดเก็บตามปกติ และแยกส่วนขยะอินทรีย์ที่ใส่ถุงเขียวไว้ต่างหาก และองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ตจะดำเนินการรับขยะอินทรีย์ไปแปรสภาพเป็นสารปรับปรุงดินต่อไป และถุงสีชมพูจะจัดไว้ให้ผู้ประกอบการได้ตักไขมันจากถุงดักไขมันไว้ เพื่อให้บ่อบำบัดน้ำเสียรวมของเทศบาลนครสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อคุณภาพน้ำในคลองบางใหญ่ที่จะดีขึ้น สามารถปรับคลองบางใหญ่มาใช้เป็นสถานที่นันทนาการได้ตามยุทธศาสตร์ของเทศบาลนครต่อไป”


นายเรวัต อารีรอบ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ตได้ร่วมแถลงว่า องค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ตได้วางยุทธศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อมไว้หลายโครงการ และ ถือว่าสิ่งแวดล้อมเป็นปัจจัยสำคัญต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ต โดยปัจจุบันองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ตได้จัดสรรงบประมาณเครื่องแปรสภาพขยะอินทรีย์เป็นสารปรับปรุงดิน มีความสามารถในการรองรับ 5 ตันต่อวัน โดยได้ดำเนินการมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง และวางแผนในการจัดสรรงบประมาณจัดหาเครื่องแปรสภาพขยะอินทรีย์เป็นสารปรับปรุงดินประจำพื้นที่ต่างๆ ในจังหวัดภูเก็ต เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการแยกขยะอินทรีย์ออกจากขยะทั่วไป และช่วยในการลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากการจัดการขยะอินทรีย์


นายประสิทธิ์ สินเสาวภาคย์ รองนายกเทศมนตรีเทศบาลนครภูเก็ต กล่าวว่า การแยกขยะอินทรีย์จากต้นทางได้ และนำไปแปรสภาพให้เกิดประโยชน์เป็นกระบวนการที่ถูกต้องและเหมาะสมอย่างมาก ทั้งนี้ปัจจุบันเทศบาลนครภูเก็ตได้ดำเนินการแยกการจัดเก็บขยะอินทรีย์อยู่แล้ว และการที่ชุมชนย่านเมืองเก่าภูเก็ต และมูลนิธิพัฒนาการท่องเที่ยวยั่งยืนได้ดำเนินการจัดการแยกขยะอินทรีย์ใส่ถุงสีเขียวจะทำให้การเก็บขยะของเทศบาลนครภูเก็ตสะดวกรวดเร็วขึ้น


รศ.ดร.ธีรณี อจลากุล ผู้อำนวยการสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) หรือ BDI กล่าวว่า หนึ่งในภารกิจของสถาบันคือการบูรณาการข้อมูลจากรัฐและเอกชนเพื่อการใช้ประโยชน์เชิงวิเคราะห์ ซึ่งที่ผ่านมา ทาง BDI ได้ร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งในด้านการสาธารณสุข ท่องเที่ยว และสิ่งแวดล้อม โดยหนึ่งในโครงการด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญของเราคืองานที่เมืองเก่าของภูเก็ตในวันนี้ ทาง BDI ได้ร่วมมือกับมูลนิธิพัฒนาการท่องเที่ยงยั่งยืน เทศบาลนครภูเก็ต ผู้ประกอบการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกของถนนคนเดินในเขตเมืองเก่าให้ได้มากที่สุดในขณะที่ยังให้บริการแก่นักท่องเที่ยวได้อย่างเหมาะสม


นายดอน ลิ้มนันทพิสิฐ ประธานชุมชนย่านเมืองเก่าภูเก็ต กล่าวว่า ปัจจุบันเมืองเก่าภูเก็ต ได้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมของทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ โดยได้รับข้อมูลว่ามีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าออกย่านเมืองเก่าในวันจันทร์ถึงวันเสาร์ช่วงเวลา 08.00-17.00 น. เฉลี่ยวันละ 10,000 คน และช่วงหลาดใหญ่วันอาทิตย์ระหว่างเวลา 17.00-22.00 น. กว่า 33,000 คน

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ชุมชนย่านเมืองเก่าเริ่มกังวลคือ การที่ยานพาหนะที่รับส่งนักท่องเที่ยวมักติดเครื่องยนต์รอนักท่องเที่ยว ทำให้ควันเสียจากยานพาหนะได้ส่งผลต่อสุขภาพผู้อยู่อาศัย และนักท่องเที่ยวที่เดินชมเมืองเก่าเอง จึงอยากวิงวอนให้ทางผู้ประกอบการด้านการขนส่งได้กรุณาส่งนักท่องเที่ยวในจุดส่ง และจอดรถในบริเวณที่เทศบาลนครภูเก็ตได้จัดสรรให้


กำลังโหลดความคิดเห็น