xs
xsm
sm
md
lg

ศอ.บต.ติดตามความคืบหน้าโครงการพัฒนาเส้นทางศึกษาธรรมชาติ "ต้าสวุ่ยต้อ"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รองเลขาธิการ ศอ.บต. ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าโครงการพัฒนาเส้นทางศึกษาธรรมชาติ "ต้าสวุ่ยต้อ" มุ่งพลิกโฉมอุโมงค์หลบภัยสู่แหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ และเส้นทางศึกษาป่าบาลาฮาลาแห่งใหม่

นายชนธัญ แสงพุ่ม รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) พร้อมด้วยคณะจากสำนักงานป่าไม้ที่ 13 ลงพื้นที่เพื่อติดตามความคืบหน้าและร่วมเดินสำรวจเส้นทางศึกษาธรรมชาติที่จะมีการพัฒนาภายใต้โครงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศและประวัติศาสตร์ "อุโมงค์ใหญ่ ต้าสวุ่ยต้อ" อำเภอเบตง จังหวัดยะลา เป้าหมายเพื่อพลิกโฉมอุโมงค์หลบภัยในอดีตให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัดชายแดนภาคใต้ และเป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์แก่คนรุ่นหลัง และนักท่องเที่ยว

โครงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศและประวัติศาสตร์ "อุโมงค์ใหญ่ ต้าสวุ่ยต้อ" ดำเนินการโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมป่าไม้เป็นหน่วยงานหลัก ร่วมกับ ศอ.บต. และจังหวัดยะลา มุ่งพัฒนาอุโมงค์ใหญ่ "ต้าสวุ่ยต้อ" อดีตศูนย์บัญชาการสำคัญของขบวนการคอมมิวนิสต์มลายา ซึ่งเปี่ยมไปด้วยคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของการต่อสู้ในอดีต สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2519 ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์แห่งใหม่ ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และสร้างโอกาสในการเรียนรู้แก่คนรุ่นหลังและนักท่องเที่ยวที่สนใจ

ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2567 กรมป่าไม้ได้รับจัดสรรงบประมาณ 3 ล้านบาท เพื่อศึกษาเส้นทางและดำเนินการนำร่องเปิดเส้นทางการท่องเที่ยวภายในปี 2568 มุ่งดึงดูดนักท่องเที่ยวสายผจญภัยและรักการเดินป่า (hiking) เข้ามาท่องเที่ยวในเมืองเบตงมากขึ้น

อุโมงค์ใหญ่ "ต้าสวุ่ยต้อ" ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 2 บ้านปิยะมิตร 1 ตำบลตะเนาะแมเราะ อำเภอเบตง จังหวัดยะลา อุโมงค์แห่งนี้ถูกขุดด้วยแรงคนในสมัยการต่อสู้ระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์มลายากับรัฐบาลมาเลเซีย ระหว่างปี พ.ศ.2491-2532 เพื่อใช้เป็นที่หลบภัยทางอากาศ ภายในประกอบด้วยอุโมงค์ทางเข้าออกหลายสิบทางเชื่อมโยงถึงกันคล้ายใยแมงมุม มีห้องนอน พื้นที่ปฏิบัติการ สถานีวิทยุ ห้องเก็บเสบียง สะท้อนให้เห็นถึงความชาญฉลาดในการก่อสร้างของมนุษย์ในอดีต

โครงการพัฒนา "อุโมงค์ใหญ่ ต้าสวุ่ยต้อ" นับเป็นการต่อยอดมรดกทางประวัติศาสตร์ ยกระดับแหล่งท่องเที่ยว ส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก และสร้างรายได้ให้ชุมชนในพื้นที่อย่างยั่งยืน


กำลังโหลดความคิดเห็น