กระบี่ - นักท่องเที่ยวแห่ถ่ายภาพนกน้ำ 27 ชนิด ที่ปากแม่น้ำกระบี่ หลังมีฝูงนกอพยพ มาหากินจำนวนมาก สร้างรายได้ให้ชาวบ้านในพื้นที่อย่างงาม ขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องระดมความคิดเห็นเพื่อพัฒนา
กลายเป็นบรรยากาศการท่องเที่ยวที่มีให้ดูเพียงแค่ปีละครั้ง เมื่อนกนานาชนิดอพยพมาหากินที่ปากแม่น้ำ จ.กระบี่ ซึ่งสร้างความตื่นเต้น และความสวยงามให้แหล่งท่องเที่ยว และ ความตื่นเต้นให้นักท่องเที่ยว ซึ่งในแต่ละวันมีนักท่องเที่ยวเดินทางไปชมนกที่อพยพจำนวนมาก
ด้านนายสุรสิทธิ์ เครือวัลย์ หรือบังเดียว ชาวบ้านที่ให้บริการเรือหัวโทงนำเที่ยวดูนก ปากแม่น้ำกระบี่ กล่าวว่า สำหรับปากแม่น้ำกระบี่ ปัจจุบันกำลังกลายเป็นแหล่งถ่ายภาพ ดูนกที่สำคัญของจังหวัด มีนักถ่ายภาพ ดูนก ทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาถ่ายภาพดูนกทุกวัน ตั้งแต่เดือนตุลาคม ถึงปัจจุบัน บางวันตนได้ค่าจ้างครั้งละไม่ต่ำกว่า 3,000 บาท พร้อมเป็นไกด์แนะนำชื่อนกที่พบเห็น และวิถีชีวิตนก สำหรับนกมีหลากหลายชนิด ทั้งนกในท้องถิ่นและนกอพยพ และหากว่ามีการจัดการที่ดีเชื่อว่าจะเกิดประโยชน์และรายได้ให้ชาวบ้านอย่างแน่นอน
ขณะที่ น.ส.จิตตินันท์ เรืองวีรยุทธ ผู้อำนวยการกองจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า สนง.นโยบายและแผนฯ ได้เดินหน้าผลักดัน และขับเคลื่อนกลไกการอนุรักษ์นกน้ำอพยพ และใช้ประโยชน์ถิ่นที่อยู่อาศัยของนกน้ำอพยพอย่างยั่งยืนในพื้นที่เครือข่ายนกน้ำอพยพปากแม่น้ำกระบี่ จ.กระบี่ ให้เห็นผล อย่างเป็นรูปธรรม โดยกระบวนการมีส่วนร่วมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนในพื้นที่
ล่าสุด นายวัลลภ ปรีชามาตย์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานขับเคลื่อนนโยบายและกลไก สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้จัดประชุมหัวหน้าส่วนราชการ ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรพัฒนาเอกชน สถาบันการศึกษา และผู้แทนจากประชาชน จัดขึ้นที่ห้องประชุมเทศบาลเมืองกระบี่ เพื่อกำหนดแผนงานการดำเนินงานโครงการในระยะที่ 2 หลังจากที่ได้มีการดำเนินโครงการระยะที่ 1 แล้ว ในปีงบประมาณ 2566 ที่ผ่านมา ได้คัดเลือกกรณีศึกษาในพื้นที่ ต.คลองประสงค์ อ.เมืองกระบี่ ซึ่งเป็นพื้นที่เครือข่ายนกน้ำอพยพปากแม่น้ำกระบี่ ที่มีนกน้ำอพยพเข้ามารวม 27 ชนิด มี 25 ชนิด เป็นนกน้ำอพยพที่มีความสำคัญระดับโลก และบางชนิดใกล้สูญพันธุ์ ได้แก่ นกทะเลขาเขียวลายจุด นกอีก๋อยใหญ่ นกหัวโตทรายเล็ก นกหัวโตทรายใหญ่ นกหัวโตขาดำ นกซ่อมทะเลอกแดง และนกนอตใหญ่ เป็นต้น เป็นตัวชี้วัดที่เด่นชัดอย่างหนึ่งในเรื่องของความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่
โดยผลการศึกษาในระยะแรกสะท้อนถึงความต้องการของชุมชนในพื้นที่ โดยเฉพาะด้านการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ และ การสนับสนุนจากหน่วยงานท้องถิ่น ซึ่งนำมาสู่การต่อยอดการดำเนินงานระยะที่ 2 ในปี 2567 นี้เพื่อผลักดันและขับเคลื่อนกลไกการอนุรักษ์นกน้ำอพยพ และใช้ประโยชน์ถิ่นที่อยู่อาศัยให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยการมีส่วนร่วมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนในพื้นที่ สำหรับปากแม่น้ำกระบี่ ยังเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ หรือแรมซาร์ไซต์ด้วย