xs
xsm
sm
md
lg

(ชมคลิป) เกาะรังนกพังงา 3 ปียังไร้ผู้ประมูล ผู้ว่าฯ นำคณะลงสำรวจพบร่องรอยขโมย จำนวนนกลดลง หวั่นอาจเหลือเพียงแต่ชื่อ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์





จังหวัดพังงา หนึ่งใน 11 จังหวัดของประเทศไทยที่มีแหล่งที่อยู่อาศัยของนกอีแอ่นชนิดกินรัง และสร้างรายได้เข้าจังหวัดควบคู่กับการท่องเที่ยวปีละหลายร้อยล้านบาท

แต่จากสภาพปัจจุบัน เกาะรังนกที่ตั้งอยู่ในท้องทะเล ในพื้นที่อำเภอเกาะยาว จังหวัดพังงา ตลอดระยะเวลา 3 ปี กลับไม่มีผู้เข้ารับสัมปทานจัดเก็บรังนก ทำให้ภาษีที่ได้จากรังนกที่จะนำมาพัฒนาท้องถิ่นได้หายไป ทั้งเทศบาลตำบลเกาะยาวใหญ่ เกาะยาวเล็ก และตำบลพรุใน

เหตุผลหลักคาดว่ามาจากการตั้งราคาของคณะกรรมการจัดเก็บอากรภาษีรังนกอีแอ่นที่สูงถึง 140 กว่าล้านบาท ทำให้ผู้สัมปทานเกรงว่าจะไม่คุ้มทุน

ทั้งนี้ ในปัจจุบันคณะกรรมการจัดเก็บอากรภาษีรังนกอีแอ่นจังหวัดพังงา เปิดให้ประมูลสัมปทานได้เพียง 4 เกาะเท่านั้น จากจำนวนทั้งสิ้น 34 เกาะ คือ เกาะกาหลาดใหญ่ เกาะกาหลาดน้อย เกาะลิเป้ใหญ่ และเกาะลิเป้น้อย โดยอีก 30 เกาะที่เหลือเป็นพื้นที่รับผิดชอบของอุทยานแห่งชาติ กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ไม่มีนกอีแอ่นเข้าไปทำรัง ทำให้นำเกาะเหล่านั้นมาเปิดสัมปทานไม่ได้

ขณะที่ในจำนวน 4 เกาะ ที่ยังไร้ผู้มารับสัมปทาน จากการลงสำรวจของนายสุพจน์ รอดเรือง ณ หนองคาย ผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา พบว่า มีร่องรอยการแอบเข้าไปขโมยรังนกต่อเนื่อง ทำให้ระบบนิเวศนกอีแอ่นลดน้อยลงมาก และอาจจะสูญหายไปจากท้องทะเลพังงาในอนาคตอันใกล้

นายสุพจน์ เปิดเผยว่า จากการลงสำรวจ จะได้ประชุมคณะกรรมการเพื่อกำหนดรูปแบบวิธีการในการสำรวจเพื่อกำหนดราคารวมถึงมาตรการต่างๆ อย่างเป็นระบบและเป็นไปตามระเบียบกฎหมายอีกครั้ง โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานการรักษาผลประโยชน์ของชาติสูงสุด พร้อมทั้งเร่งหาทางออกเพื่อการฟื้นฟูเกาะรังนก

ด้านนายยงยุทธ เอ็มยุเด็น นายกเทศบาลตำบลเกาะยาวใหญ่ อ.เกาะยาว จ.พังงา กล่าวว่า ตำบลเกาะยาวใหญ่รายได้หลักคือเงินภาษีจากการจัดเก็บรังนกอีแอ่น ส่วนรายได้จากการท่องเที่ยวนั้นถือว่าน้อยมาก เงินอุดหนุนจากส่วนกลางที่นำมาพัฒนาปีหนึ่งเหลือแค่ 1 ล้านบาท ที่นำมาพัฒนาท้องถิ่นได้ รายได้จากเงินภาษีที่เคยได้ปีละ 10 ล้านบาท ตลอด 3 ปีไม่มีผู้ประมูลหรือสัมปทาน ทำให้ขาดรายได้ส่วนนี้ไป การพัฒนาท้องถิ่นหลายกิจกรรมต้องหยุกชะงักลง

“อยากวอนให้คณะกรรมการจัดเก็บรังนกเร่งพิจารณาหาผู้สัมปทานโดยเร็ว เพราะในการดูแลเฝ้าเกาะรังนก เทศบาลต้องหาเงินมาจ้างคนเฝ้าดูแล เดือนหนึ่งตกอยู่ที่ 70,000 บาท โดยยังคงเป็นภาระให้แก่ท้องถิ่นโดยตรง”

นายมโณ ถิ่นเกาะยาว หรือบังหมาน คนรับจ้างแทงรังนก กล่าวว่า ครอบครัวของตนอาชีพรับจ้างเก็บรังนก 15 ครอบครัว ที่ยึดอาชีพนี้มาอย่างช้านาน มีรายได้ ปีละ 1 แสนบาท ตลอดระยะเวลา 3 ปีไม่มีรายได้จากการรับจ้างเก็บรังนก และอีกอย่างอาชีพรับจ้างแทงรังนกต้องฝึกคนรุ่นใหม่เข้ามาเสริม หากไม่มีการสัมปทานในพื้นที่ เชื่อว่าอีกไม่นานจะหาผู้สืบทอดยากขึ้น

ส่วนตัวแทนสมาคมอนุรักษ์นกอีแอ่นในธรรมชาติภาคใต้แห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากการลงพื้นที่สำรวจพร้อมคณะกรรมการ ในวันนี้ พบว่า ตามถ้ำต่างๆ บนเกาะกาหลาดใหญ่มีปริมาณรังนกและนกอีแอ่นอาศัยอยู่น้อย เมื่อเทียบกับช่วงที่มีการสัมปทานก่อนหน้านี้ หากมีการสัมปทานเกิดขึ้น ผู้สัมปทานต้องใช้เวลาอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 5 ปี ในการฟื้นฟูให้นกอีแอ่นกลับเข้ามาอยู่ภายในถ้ำจนเหมือนเดิม การสัมปทานช่วงแรกๆ ต้องสัมปทานในเชิงอนุรักษ์มากกว่าการจัดเก็บ

จากการเฝ้าสังเกตวิถีการใช้ชีวิตของนกอีแอ่นตลอดทั้งปี เฝ้าดูจดบันทึก พบว่า การทำรังของนกในปีแรก และปีถัดไปจะมีปริมาณนกที่เพิ่มขึ้น การทำรังทำซ้ำที่เดิม หรือใกล้เคียงกัน โดยนกอีแอ่นแต่ละตัวมีอายุประมาณ 7 ปี นก 1 คู่ ภายใน 7 ปี ทำรังได้ถึง 381 รัง น้ำหนักรังอยู่ที่ 80 กรัมต่อรัง หากชั่งน้ำหนัก 120 รังต่อ 1 กิโลกรัม คิดเป็นเงินกว่า 1 ล้านบาท ต่อนก 1 คู่เลยทีเดียว

แต่หากไม่มีการอนุรักษ์นกอย่างแท้จริง เชื่อว่าทองคำขาวในท้องทะเลไทยที่ธรรมชาติสรรค์สร้างมาให้อาจจะหายกลายเป็นตำนาน


กำลังโหลดความคิดเห็น