xs
xsm
sm
md
lg

เครือข่ายรักษ์พะโต๊ะ พร้อมชาวบ้านกว่า 200 คน รวมตัวยื่นหนังสือนายกฯ ต้านโครงการแลนด์บริดจ์ ระบุโครงการเกิดส่งผลกระทบทั้ง 14 จังหวัด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ระนอง - เครือข่ายรักษ์พะโต๊ะ พร้อมชาวบ้านชุมพร และระนอง กว่า 200 คน รวมตัวชูป้ายคัดค้านโครงการแลนด์บริดจ์ พร้อมยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรี ขอให้ทบทวนก่อนจะเกิดความผิดพลาดจากการดำเนินโครงการแลนด์บริดจ์ ระนอง-ชุมพร


วันนี้ (23 ม.ค.) เครือข่ายรักษ์พะโต๊ะ ร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่จังหวัดชุมพร และระนอง กว่า 200 คน ได้รวมตัวกันที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ศูนย์การศึกษาจังหวัดระนอง เพื่อคัดค้านโครงการแลนด์บริดจ์ โดยชาวบ้านที่มารวมตัวกันประกอบด้วย ชาวห้อยปลิง ต.ราชกรูด จ.ระนอง และ อ.พะโต๊ะ อ.หลังสวน จ.ชุมพร เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลพิจารณายกเลิกโครงการแลนด์บริดจ์ พร้อมนำป้ายผ้าขนาดใหญ่เขียนข้อความคัดค้านโครงการแลนด์บริดจ์ ธงสีเขียว ซึ่งเป็นการแสดงเป็นเชิงสัญลักษณ์

โดยมีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะเดินทางไปรับฟังข้อเสนอของชาวบ้านและเครือข่ายรักษ์พะโต๊ะ และรับหนังสือคัดค้านการดำเนินโครงการดังกล่าว พร้อมร่วมพูดคุยกับชาวบ้านที่เดินทางมายื่นหนังสือในครั้งนี้

โดยนางอุไร ทับทิมทอง ตัวแทนเครือข่ายรักษ์พะโต๊ะ จ.ชุมพร กล่าวว่า หากโครงการแลนด์บริดจ์เกิดขึ้นจริงจะส่งผลกระทบในพื้นที่ภาคใต้ทั้ง 14 จังหวัด และส่งผลกระทบหลายด้าน ทั้งด้านสภาพแวดล้อมต่อผืนป่าต้นน้ำ ระบบนิเวศชายฝั่งทะเลที่เปลี่ยนแปลงไปจากการถมทะเลเพื่อทำท่าเรือน้ำลึกทั้งในฝั่งอ่าวไทยและฝั่งทะเลอันดามัน และจะส่งผลโดยตรงต่อการประกอบอาชีพประมง ทั้งชาวประมงพื้นบ้านและประมงพาณิชย์ รวมถึงเส้นทางแลนด์บริดจ์ที่ผ่านพื้นที่ อ.พะโต๊ะ ทำให้กระทบเรื่องที่อยู่อาศัยและอาชีพเกษตร โดยเฉพาะการทำสวนทุเรียน และการทำสวนผลไม้ที่มีรายได้มั่นคงอยู่แล้ว จึงอยากให้รัฐบาลทบทวนการดำเนินโครงการดังกล่าว


ส่วนการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นที่ผ่านมา จาการรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาโครงการแลนด์บริดจ์ สภาผู้แทนราษฎร ในส่วนของชาวบ้านมองว่า กรรมาธิการและรัฐบาลไม่ได้ตั้งใจที่จะรับฟังปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้านในพื้นที่อย่างจริงใจ เนื่องจากมีประชาชนออกมาคัดค้านเป็นจำนวนมาก แต่กลับสรุปว่า ประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วย จึงเป็นรายงานที่ขาดความรอบด้าน และมีข้อสงสัยว่าโครงการขนาดใหญ่ขนาดนี้ทำไมถึงมีการศึกษาโครงการไม่เหมาะสมกับราคา รัฐบาลยืนยันที่จะผลักดันเดินหน้าโครงการ จึงได้เดินทางมายื่นหนังสือต่อนายกฯ ในวันนี้ที่ จ.ระนอง เพื่อขอให้ยกเลิกโครงการนี้

ขณะที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ซึ่งเดินทางมารับหนังสือร้องเรียนจากชาวบ้านด้วยตัวเอง ภายหลังเสร็จการประชุม ครม. สัญจร ที่ศูนย์ราชการจังหวัดระนอง โดย รับปากว่า จะนำข้อเสนอจากชาวบ้านไป พิจารณาเป็นข้อประกอบในการจัดทำเอกสารเพื่อให้ทุกฝ่าย มีความกระจ่างในจุดประสงค์ของการทำแลนด์บริดจ์ นอกจากนี้ เรื่องของการกระตุ้นเศรษฐกิจมั่นใจว่ารัฐบาลทำมาอย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็นการสร้างสนามบินอันดามันอินเตอร์เนชั่นแนล ประมง และอื่นๆ

อย่างไรก็ตาม สำหรับใจความส่วนของหนังสือร้องเรียนที่กลุ่มเครือข่ายรักษ์พะโต๊ะ ยื่นต่อนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน
ระบุ ว่า โครงการแลนด์บริดจ์ ระนอง-ชุมพร ที่ท่านคิดว่าจะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจของภูมิภาคและประเทศนี้ได้เป็นไปได้ตามคำมั่นสัญญาที่ท่านแถลงไว้ พวกเราชาวอำเภอพะโต๊ะ จังหวัดชุมพร ในนามเครือข่ายรักษ์พะโต๊ะ เครือข่ายชาวประมงพื้นบ้าน และเครือข่ายคนไทยพลัดถิ่นจังหวัดระนอง ที่มาขอพบท่านในโอกาสนี้ อาจจะเป็นเพียงส่วนหนึ่งของกลุ่มชาวบ้านในพื้นที่โครงการแลนด์บริดจ์ที่ไม่อยู่ในสมการการพัฒนาของท่าน เหมือนคนบางกลุ่มที่ท่านให้ความสำคัญมากกว่าในเวลานี้ ด้วยเพราะท่านเชื่อว่าหากโครงการนี้เกิดขึ้นได้จริง จะสร้างผลตอบแทนอย่างมหาศาลให้คนภาคใต้และคนไทยทั้งประเทศในภาพรวมได้ทั้งหมด ดังที่ท่านได้พร่ำพูดจนชินหูพวกเราผ่านสื่อมวลชนต่างๆ ในช่วงเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา


และท่านได้นำความคิดนี้ไปสำเสนอกับผู้นำและนักธุรกิจใหญ่ในหลายประเทศมาแล้วตามที่ได้รับรู้กันผ่านสื่อสาธารณะทั้งหลาย แม้จะมีเสียงทักท้วงอย่างหนักทั้งจากนักวิชาการ และผู้ประกอบการด้านโลจิสติกส์รายใหญ่ของประเทศนี้ จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่พวกเราจะบอกกับท่านว่า ชุดความคิดดังกล่าวนั้นไม่ได้เป็นความจริงทั้งหมด เพราะใน ที่สุดแล้วพวกเราจะเป็นเพียงผู้เสียสละให้การพัฒนา ที่จะต้องสูญเสียอาชีพ การดำรงชีวิตในถิ่นฐานเก่าแก่ของตนเอง รวมถึงต้องสูญเสียฐานทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม การได้อยู่ในสภาพอากาศที่ดีปลอดภัย และการต้องสูญเสียสังคมวัฒนธรรมดั้งเดิมของพวกเราไปอย่างสิ้นเชิง และเรารู้ดีว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะลบล้างความคิดและความเชื่อดังกล่าวของท่านได้ในเวลานี้

อย่างไรก็ตาม พวกเรายังหวังที่จะให้ท่านนายกรัฐมนตรี ได้โปรดเอียงหูรับฟังเสียงและความคิดของพวกเรา ในฐานะประชาชนผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ อันเป็นที่ตั้งโครงการแลนด์บริดจ์ ตั้งแต่อ่าวอ่าง ตำบลราชกรูด จังหวัดระนอง ที่ทอดผ่านอำเภอพะโต๊ะ และอำเภอหลังสวน ตรงแหลมริ่ว จังหวัดชุมพร รวมระยะทางกว่า 90 กิโลเมตร ซี่งเป็นน้ำเสียงที่อาจจะดูแผ่วเบาในความรู้สึกของท่าน และนักธุรกิจทั้งสองจังหวัดนี้อีกจำนวนหนึ่งที่อยากเห็นความเจริญรุ่งเรือง จนลืมไปว่าสิ่งเหล่านั้นจะต้องแลกด้วยชีวิตและเลือดเนื้อของพวกเราด้วยเช่นกัน

จึงขอขฝเสนอข้อสังเกตต่อการดำเนินงานและดำเนินโครงการนี้พร้อมกับข้อเสนอแนะเพื่อให้ท่านได้พิจารณา ดังนี้ 1.กระบวนการศึกษาที่ผ่านมาถือว่าด้อยมาตรฐานทางวิชาการและไม่เคารพการมีส่วนร่วมของประชาชน หากนับตั้งแต่วันเริ่มต้นในการศึกษาออกแบบและการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในแต่ละโคงการย่อย ถือว่าเป็น กระบวนการที่มาตรฐานด้านวิชาการและด้านการมีส่วนร่วมของประชาชนตกต่ำเป็นอย่างมาก จนมีคำถามว่า ในขณะที่โครงการขนาดใหญ่เช่นนี้ ทำไม่กระบวนการศึกษาถึงไม่สมราคา ซึ่งพวกเราเห็นว่ารัฐบาลจะต้องให้ ความสำคัญกับขั้นตอนนี้เป็นอันดับแรก เพราะจะเป็นการเริ่มต้นที่ทำให้เกิดความน่าเชื่อถือ ผ่านการศึกษาและการเปิดพื้นที่รับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างทั่วถึงรอบด้าน อันจะทำให้รัฐบาลได้รับข้อมูลอย่างตรงไปตรงมาจากกระบวนการที่ดีเพื่อนำไปประกอบการตัดสินใจดำเนินโครงการอย่างถูกต้อง หาใช่เพียงแค่การสร้างพิธีกรรมเพื่อให้เสร็จตามกฎหมายบังคับ หากแต่ต้องสร้างมาตรฐานให้ดีกว่าโครงการอื่นๆ ที่เคยทำมา ที่ควรจะผิดแผกแตกต่างจากยุครัฐบาลอื่นใดก่อนหน้านี้


2.โครงการแลนด์บริดจ์ เป็นโครงการขนาดใหญ่ที่ต้องประกอบด้วยโครงการย่อยอีกหลายโครงการ แต่กลับไม่มีการศึกษาผลกระทบและผลสัมฤทธิ์ในภาพรวม ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และด้านสุขภาพ กลับพบว่าเป็นการแยกกันศึกษาเป็นรายโครงการย่อยที่ต่างคนต่างทำ อย่างเช่น โครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกอ่าวอ่าง โครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกแหลมริ่ว โครงการรถไฟรางคู่ โครงการมอเตอร์เวย์ โครงการนิคมอุตสาหกรรม (ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต) และเชื่อว่าจะมีโครงการอื่นๆ ตามมาอีกหลายโครงการ ซี่งวิธีการศึกษาเช่นนี้จะไม่ทำให้เห็นภาพใหญ่ของโครงการทั้งหมด อันจะทำให้ขาดระบบการประมวลผลกระทบและผลสัมฤทธิ์ของโครงการที่แม่นยำ ซึ่งอาจจะส่งผลต่อการตัดสินใจและการดำเนินโครงการที่ผิดพลาดได้ง่าย ซี่งรวมไปถึงการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญของรัฐสภาที่ได้สรุปรายงานไปแล้ว ซึ่งถูกมองว่าเป็นรายงานที่ทำขึ้นเพียงเพื่อเอาใจท่านนายกฯ แต่กลับไม่ได้นำเสนอข้อสังเกตสำคัญที่พวกเราพยายามให้ข้อมูลไปแล้วแต่อย่างใด

3.นายกรัฐมนตรีต้องคำนึงถึงศักยภาพการพัฒนาจังหวัดระนอง ชุมพร และภาคใต้ในมิติอื่นๆ ด้วย กล่าวคือ ถ้าโครงการแลนด์บริดจ์ ไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริงด้วยเหตุผลใดก็ตามแต่ท่านนายกรัฐมนตรีเคยคิดไว้หรือไม่ว่า ท่านจะพัฒนาจังหวัดระนอง ชุมพร และจังหวัดอื่นๆ ในภาคใต้ไปในทิศทางใด ซึ่งพวกเรามีความเชื่อว่า จังหวัดระนอง ชุมพร และภาคใต้ยังมีศักยภาพอีกมากที่ไม่ถูกพัฒนาอย่างจริงจัง อย่างเช่นมิติของการท่องเที่ยว การประมง และการเกษตร ที่เพียงรัฐบาลกล้าคิดแตกต่างจากรัฐบาลอื่นๆ ที่ผ่านมาจะสามารถสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้ภาคใต้ได้ไม่ยาก ด้วยเพราะภาคใต้ไม่เคยถูกส่งเสริมการพัฒนาอย่างเป็นระบบเพื่อให้ศักยภาพที่มีอยู่เปล่งประกายได้อย่างเต็มที่


ซึ่งเรายังเชื่อว่าหากมีรัฐบาลที่ฉลาดมากพอจะสามารถสร้างการพัฒนาที่จะทำให้คนในพื้นที่ได้ประโยชน์อย่างแท้จริง ทั่วถึง เป็นธรรม และยั่งยืน มากกว่าโครงการแลนด์บริดจ์หลายเท่า จากข้อสังเกตดังกล่าว พวกเราจึงมีข้อเสนอเพื่อแนวทางท่านนายกรัฐมนตรีได้ดำเนินการ ดังนี้ 1.ท่านต้องตรวจสอบและสั่งทบทวนกระบวนการศึกษาโครงการที่ผ่านมาแล้วทั้งหมด โดยการสร้างมาตรฐานทางวิชาการและมาตรฐานของกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนให้เกิดขึ้นจริง ทั่วถึง เป็นธรรม โดยต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

 2.ท่านต้องยกระดับกระบวนการศึกษาภาพรวมของโครงการแลนด์บริดจ์ ระนอง-ชุมพร ทั้งในมิติด้านสิ่งแวดล้อม สังคมวัฒนธรรม และสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ โดยให้มีกลไกและกระบวนการศึกษาที่จะทำเกิดการประมวลผลการศึกษาภาพรวมโครงการทั้งหมด อันจะทำให้ท่านได้เห็นภาพและข้อมูลผลกระทบและผลสัมฤทธิ์อย่างแม่นยำในทุกมิติ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำของโครงการ 

3.ท่านควรศึกษาทางเลือกในการพัฒนาจังหวัดระนอง ชุมพร และภาคใต้ในมิติอื่นๆ ด้วย อันรวมถึงการศึกษาศักยภาพที่แท้จริงของภาคใต้ในมิติการท่องเที่ยว การประมง การเกษตร ซึ่งรวมถึงมิติทางด้านสังคมวัฒนธรรม โดยการใช้นโยบายตามแนวคิด “ซอฟต์เพาเวอร์” ทำการยกระดับการพัฒนาเพื่อสร้างมูลค่าแต่ละมิติให้เกิด ประโยชน์สูงสุด


4.เพื่อให้ข้อเสนอดังกล่าวเบื้องต้นเกิดขึ้นได้จริง เราขอเสนอให้ท่านนายกรัฐมนตรี จัดตั้งคณะทำงานหรือคณะกรรมการขึ้นมาหนึ่งชุด ที่มีองค์ประกอบของหลายภาคส่วน เช่น นักการเมือง ข้าราชการ ท้องถิ่น ท้องที่ นักวิชาการ ภาคประชาสังคม และประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้เป็นกลไกในการดำเนินงานตามข้อเสนอทั้งหมดให้เป็นที่ประจักษ์ อันจะเป็นทางออกในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและความไม่เข้าใจที่ไม่ตรงกันของประชาชนกลุ่มต่างๆ และเพื่อช่วยค้นหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาอื่นๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต รวมถึงได้ร่วมออกแบบการพัฒนาพื้นที่ภาคใต้ เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของท่านและรัฐบาลตามที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา 

พวกเรามีความหวังเป็นอย่างยิ่งว่าท่านนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน จะรับฟังเสียงของพวกเราที่พยายามนำเสนอความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมา ทั้งยังเชื่อว่าท่านยังไม่เคยได้รับข้อเสนอแนะเช่นนี้มาก่อน ซึ่งเรายังยืนยันว่า โครงการแลนด์บริดจ์ ระนอง-ชุมพร เป็นโครงการขนาดใหญ่ที่จะส่งผลผลกระทบอย่างกว้างขวางกับประชาชนทั่วไป ท่านจึงควรพิจารณาไตร่ตรองเรื่องนี้ด้วยตนเองอย่างรอบคอบ และควรจะหาโอกาศศึกษาข้อเสนอเหล่านี้ของพวกเราอย่างละเอียดทั้งด้วยตนเองและจากกลไกที่ท่านสามารถไว้วางใจได้ เพื่อที่จะทำให้ท่านเกิดความมั่นใจในการตัดสินใจต่ออนาคตของโครงการนี้ได้อย่างเหมาะสม โดยไม่ต้องแบกรับภาระความผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้นกับท่านโดยไม่จำเป็น จึงเรียนมาเพื่อพิจารณาและดำเนินการต่อไป

สำหรับหนังสือดังกล่าวได้มีการลงชื่อโดยนายสมโชค จุงจาตุรันต์ คณะทำงานเครือข่ายรักษ์พะโต๊


กำลังโหลดความคิดเห็น