ระนอง - นายกฯ “เศรษฐา” ลงตรวจสถานที่จริงโครงการก่อสร้าง Land Bridge ชุมพร-ระนอง สะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย อันดามัน ยืนยันเกิดประทั้งภาคใต้ไม่ใช่แค่ระนอง พร้อมรับฟังเสียงคัดค้าน
ตามที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง และคณะรัฐมนตรี มีกำหนดการเดินทางไปประชุม ครม.สัญจรที่ จ.ระนอง ระหว่างวันที่ 22-23 มกราคม 2567 โดยเมื่อเวลา 14.30 น. วันนี้ (22 ม.ค.) นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม และนางมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม เดินทางลงพื้นที่โครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเล อ่าวไทย-อันดามัน (แลนด์บริดจ์) ซึ่งเป็นสถานที่จริงที่จะดำเนินการก่อสร้างโครงการแลนด์บริดจ์ได้ลงพื้นที่โครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเล อ่าวไทย-อันดามัน (โครงการแลนด์บริดจ์ชุมพร-ระนอง) ณ อุทยานแห่งชาติแหลมสน ต.ม่วงกลวง อ.กะเปอร์จ.ระนอง ซึ่งเป็นจุดที่จะสร้างโครงการแลนด์บริดจ์ ถือเป็นการลงพื้นที่จริงครั้งแรก เพื่อดูสภาพพื้นที่ และรับฟังข้อมูลต่างๆ จากหน่วยงานที่ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งรับฟังข้อเสนอแนะของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากการดำเนินโครงการดังกล่าว
โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหารกระทรวงคมนาคมร่วมให้การต้อนรับ และให้ข้อมูลการดำเนินโครงการ รวมทั้งมีกลุ่มได้คัดค้านติดป้ายผ้าขนาดใหญ่ เขียนข้อความเป็นภาษาอังกฤษว่า “No landbridje แลนด์บริดจ์” ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้กันไม่ให้เข้ามาในพื้นที่ เพียงให้อยู่บริเวณด้านหน้าทางเข้าอุทยานฯเท่านั้น เพื่อเลี่ยงการเผชิญหน้า
เมื่อมาถึงสถานที่ นายกฯ ได้เดินไปดูผังโครงการท่าเรือบริเวณแหลมอ่าวอ่างตำบลราชกรูด อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง พร้อมรับฟังบรรยายสรุปจากเจ้าหน้าที่กระทรวงคมคามคมถึงการศึกษาโครงการดังกล่าว
จากนั้น นายกฯ ให้สัมภาษณ์ ว่า วันนี้เป็นครั้งแรกที่ได้มาลงพื้นที่บริเวณดังกล่าว และได้ฟังการนำเสนอ ว่า วิธีการโดยภาพรวมจะมีการถมทะเลออกไปเท่าไหร่ และระยะห่างออกไปเท่าไหร่ และมีช่องน้ำอย่างไรบ้าง ซึ่งที่มีการนำเสนอมาจะต้องมีการสร้างตอม่อเป็นบริดจ์ออกไป เพื่อให้เรือประมง ทำให้ประชาชนประกอบอาชีพเรือประมงได้ เห็นถึงศักยภาพที่คณะกรรมการแลนด์บริดจ์ได้นำเสนอขึ้นมา
เมื่อถามว่าในพื้นที่ยังมีการคัดค้าน จะมีการทำความเข้าใจอย่างไร นายกฯ กล่าวว่า เรื่องที่เราจะทำโครงการใหญ่ๆ เป็นเรื่องธรรมดา ที่ต้องมีคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ซึ่งรัฐบาลเองมีหน้าที่ที่จะต้องรับฟังความคิดเห็นประชาชน ทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่ เข้าใจว่า จะมีคนมายื่นหนังสือ ซึ่งตนจะรับฟังว่าความเป็นห่วงเป็นใยของเขาคืออะไร
เมื่อถามย้ำว่า รัฐบาลยังขาดการทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ใช่หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ตอนนี้เพิ่งเริ่ม อย่าทำให้เป็นเรื่องใหญ่ เรื่องโต เดี๋ยวเราค่อยรับฟังความคิดเห็นของประชาชนก่อนแล้วกัน ถ้ายังจำกันได้เมื่อ 20 ปีที่ผ่านมา เรามีโครงการเมกะโปรเจกต์ใหญ่ระดับชาติ ที่หนองงูเห่า ซึ่งมีการถกเถียงกันนานมากว่าจะสร้างสนามบินแห่งที่ 2 รองจากสนามบินดอนเมือง ซึ่งรัฐบาลของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เดินหน้าลุยเต็มตัวทำสนามบินสุวรรณภูมิขึ้นมาได้ ซึ่ง นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม เป็นรัฐมนตรีคมนาคมในสมัยนั้น และ 20-30 ปีที่ผ่านมา ที่เราดูมาไม่มีเมกะโปรเจกต์ขนาดใหญ่เลยในประเทศ ไปดูว่าประโยชน์ที่เราได้รับจากสนามบินสุวรรณภูมิ 20 ปีที่ผ่านมา จนถึงวันนี้ประโยชน์มีมหาศาล ทำให้เราเป็นจุดศูนย์กลางท่องเที่ยวแห่งสำคัญ บางที่ยังบอกว่าเราเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ดีที่สุดในโลก ถ้าเราไม่มีโครงการเหล่านี้ เราคงไม่มาถึงจุดนี้ เป็นธรรมดานานๆ ทีจะมีเมกะโปรเจกต์ต้องรับฟังความคิดเห็นประชาชน ถือเป็นเรื่องสำคัญทั้งฝ่ายเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย
เมื่อถามต่อว่า อยากให้นายกฯ ย้ำถึงประโยชน์ และสร้างความมั่นใจให้คนในพื้นที่ นายเศรษฐา กล่าวว่า โครงการแลนด์บริดจ์เป็นโครงการที่จะเชื่อมต่อระหว่างอันดามันกับอ่าวไทยเข้าด้วยกัน เป็นการย่นระยะทาง การขนถ่ายสินค้าที่ต้องผ่านช่องแคบมะละกา ที่ปัจจุบันเริ่มหนาแน่น และมีอุบัติเหตุเกิดขึ้น ฉะนั้น การขนถ่ายสินค้าจากส่วนหนึ่งของโลกไปอีกส่วนหนึ่งของโลกมีความอึดอัดพอสมควร
ดังนั้น การที่เราจะสร้างเมกะโปรเจกต์ที่เชื่อมทะเลอ่าวไทย ไปทะเลอันดามันและส่งต่อไปทั่วโลกเป็นเรื่องที่สำคัญ ทั้งยังนำความเจริญก้าวหน้าเข้ามาสู่ประเทศทั้งเรื่องการขนถ่ายสินค้า การเป็นแรงจูงใจให้บริษัทข้ามชาติ หลายบริษัทมาสร้างแหล่งผลิตส่งออก ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ เครื่องจักรกลอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญ ทั้งนี้ หากไปดูในรายละเอียดการขนส่งสินค้าน้ำมันไปทั่วโลก 60% ผ่านทางช่องแคบมะละกา ซึ่งตรงนี้ถือเป็นความมั่นคงทางเศรษฐกิจที่เราจะต้องผลักดันให้ประเทศมีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานในเรื่องนี้
เมื่อถามถึงเรื่องผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ขณะที่ในพื้นที่อยากให้ศึกษาให้รอบด้านก่อน และถือเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำและเป็นพื้นที่เสนอเป็นมรดกโลก และความสัมพันธ์กับการท่องเที่ยว และที่ระนองค่อนข้างจะส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและธรรมชาติ จึงเกิดข้อกังวลกับผลกระทบดังกล่าว จึงอยากให้ศึกษาก่อนผลักดัน นายกฯ กล่าวว่า ต้องศึกษาก่อน จริงๆแล้วขั้นตอนต่อไปจะไปดูแหล่งน้ำพุร้อน เรื่องของการท่องเที่ยว ดังนั้นเรื่องของการท่องเที่ยวให้ความสำคัญอย่างยิ่ง การที่เราจะสนับสนุนตรงนี้ต้องควบคู่เรื่องของความเจริญในหลายๆ มิติ
เมื่อถามว่า เรื่องของขั้นตอนการชี้แจงกับประชาชนต้องศึกษาก่อนอนุมัติ การที่มีการผลักดันโครงการในตอนนี้เหมือนเป็นการผลักดันไปก่อนที่จะมีการศึกษา นายเศรษฐา กล่าวว่า ต้องควบคู่กันไป ยังไงต้องฟังความคิดเห็นของพี่น้องประชาชน
เมื่อถามต่อว่า มีระยะเวลาหรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า เดี๋ยวต้องไปดูจะช้าหรือเร็ว ต้องขึ้นอยู่กับเสียงเรียกร้องด้วยว่าจะต้องทำมากน้อยขนาดไหน แต่ขอยืนยันต้องพยายามอย่างเต็มที่ให้เป็นที่เข้าใจของทุกฝ่าย
เมื่อถามด้วยว่า ชาวบ้านมีความกังวลในเรื่องของการจ้างงานที่จะเกิดอุตสาหกรรมรอบด้านทางท่าเรือ จะต้องทำความเข้าใจและชี้ชัดเรื่องอาชีพด้วยหรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า ไม่น่าจะเป็นความกังวล น่าจะเป็นเรื่องของโอกาสมากกว่า วันนี้ให้มองว่าเป็นโอกาส ท่าเรือที่สร้างเข้ามาไม่ใช่แค่ขนถ่ายสินค้าอย่างเดียว เรือสำราญต่างๆ มาเทียบจอดได้ ตนเชื่อว่านี่เป็นโอกาสครั้งสำคัญ ไม่ใช่แค่ชาวระนอง ทางจังหวัดแถวอันดามันก็ได้ประโยชน์ควบคู่กับการพัฒนาภาคใต้ทั้งเขตภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสนามบินอันดามัน เส้นสนามบินอันดามันที่อยู่ทางตอนเหนือของภูเก็ตซึ่งจะเป็นสนามบินขนาดใหญ่เหล่านี้เป็นการพัฒนาควบคู่กันไป ซึ่งทางรัฐบาลเรามีความเชื่อว่าจะยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนคนไทยทั้งประเทศ โดยเฉพาะพี่น้องประชาชนทางด้านภาคใต้
เมื่อถามอีกว่า ต้องดูในเรื่องของความมั่นคงด้วยหรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า ยืนยันว่า เวลาเราทำโครงการเมกกะโปรเจกต์ทั้งหมดเราดูแลให้ครบทุกมิติ
ทั้งนี้ นายกฯ ได้สั่งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดระนองดูแลพี่น้องประชาชนและรับฟังความคิดเห็นว่าเขามีความคิดเห็นต่อโครงการแลนด์บริดจ์อย่างไร ทั้งนี้ รัฐบาลพร้อมยินดีรับฟัง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนที่นายกฯ จะเดินทางมาถึง ปรากฏว่า ได้มีกลุ่มคัดค้านติดป้ายผ้าขนาดใหญ่ เขียนข้อความเป็นภาษาอังกฤษว่า “No landbridje แลนด์บริดจ์” ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้กันไม่ให้เข้ามาในพื้นที่ เพียงให้อยู่บริเวณด้านหน้าทางเข้าอุทยานฯ เท่านั้น เพื่อเลี่ยงการเผชิญหน้า
จากนั้นนายกฯ ได้เดินไปรับหนังสือจากตัวแทนประชาชนและภาคประชาชนที่คัดค้านการก่อสร้างโครงการแลนด์บริดจ์ โดยชาวบ้านเรียกร้องให้นายกฯ รับฟังความเห็นจากประชาชนในพื้นที่ด้วย ไม่ใช่รับฟังความเห็นจากหน่วยงานเท่านั้น ก่อนที่นายกฯ กล่าวว่า ไม่ต้องห่วงเรื่องความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน เป็นเรื่องที่รัฐบาลนี้ให้ความสำคัญ แลนด์บริดจ์เป็นเรื่องของโอกาส แต่การมีโอกาสต้องให้โอกาสกับคนในพื้นที่ได้แสดงความคิดเห็น เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องฟังความคิดเห็นของพี่น้องประชาชนทุกคน