xs
xsm
sm
md
lg

ปี 2567 อย่ากะพริบตา! ทั้งงานการเมืองและการทหารของ “บีอาร์เอ็น” จะเข้มข้นมากขึ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้ โดย... ไชยยงค์ มณีพิลึก

สถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้กลายเป็นหนังชีวิต และเป็นซีรีส์ที่ต้องติดตามกันยาวๆ ไปแล้ว โดยเฉพาะเรื่องราวความโศกเศร้าเคล้าน้ำตา เพราะกว่า 20 ปีที่ “ไฟใต้ระลอกใหม่” ปะทุต่อเนื่องมา มีผู้สังเวยชีวิตไปแล้วกว่า 7,000 ศพ บาดเจ็บกว่า 20,000 ราย ไม่รวมคนที่ต้องพิการ กลายเป็นหญิงม่ายและเด็กกำพร้าอีกมากมาย

ที่สำคัญมีการทุ่ม “งบประมาณ” เพื่อใช้ดับไฟใต้ลงมาตลอดกว่า 20 ปีมากมายมหาศาล เฉพาะทางตรงที่ผ่าน “ทหาร” ก็มากกว่า 400,000 ล้านบาทไปแล้ว ซึ่งกว่า 20 ปีที่ผ่านมายังไม่มีใครตอบได้ว่า ไฟใต้จะมอดดับลงได้เมื่อไหร่ หรือจะยังคุกรุ่นต่อเนื่องยาวนานแบบไม่มีวันจบสิ้น

เวลานี้ที่คนชายแดนใต้จำนวนมากยังทุกข์ยากจากอุทกภัย เจ้าหน้าที่ยังต้องระดมความช่วยเหลือ แต่กองกำลังติดอาวุธบีอาร์เอ็นกลับยังเดินหน้าก่อเหตุ

ล่าสุด ลอบวางระเบิดคณะอาจารย์ราชภัฏยะลา ขณะเดินทางโดยรถตู้ โดยมีรถเกราะ ตชด.คุ้มกัน บุกโจมตี ตชด.ที่บ้านบือซู หมู่ที่ 6 ต.เขื่อนบางลาง อ.บันนังสตา จ.ยะลา สาหัส 2 นาย และซุ่มยิงขบวนรถ ตชด.ขณะกลับจากประชุม เส้นทางเขายือลาแป ต.สุวารี อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส ทำให้ ร.ต.ท.สถาพร สุจินโน หัวหน้าชุด ชฝต.4411 เสียชีวิต รวมทั้ง ก่อนหน้าไม่กี่วันก็ซุ่มโจมตีชุดลาดตระเวนทหารพรานที่ 33 บาดเจ็บไป 2 นาย

ดังนั้น กรณีชาวบ้านทุกข์ร้อนจากอุกทกภัยจึงไม่มีความรู้สึกใดๆ ต่อขบวนการแบ่งแยกดินแดน เพราะบีอาร์เอ็นคิดอย่างเดียวว่าถ้า “เป้าหมายชัด โอกาสมี ทางหนีพร้อม” ก็พร้อมปฏิบัติการ แต่การก่อเหตุที่เพิ่งเกิดขึ้นว่าไปแล้วไม่หวังผลสูงนัก ดูเหมือนเป็นการซ้อมมือของ “กลุ่มแนวร่วมหน้าขาว” ในพื้นที่เสียมากกว่า

อย่างไรก็ตาม มีข้อที่น่าสังเกตคือ มีการโจมตีว่าฝ่ายบีอาร์เอ็นว่า “ไม่แยกแยะ” สถานการณ์อาจจะทำให้เสียมวลชน เพราะกำลังชาวบ้านเดือดร้อนจากอทุกภัย ขณะที่ทั้งทหารและตำรวจง่วนอยู่กับการช่วยเหลือ ผู้เขียนก็ต้องขอบอกว่า ทั้งบีอาร์เอ็นและมวลชนของพวกเขามีการแยกแยะมาอย่างดีแล้ว

เพราะการช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทกภัยเป็น “หน้าที่” ของเจ้าหน้าที่และรัฐบาลที่ต้องตาม ไม่ใช่เรื่องบุญคุณเหมือนดังที่ “โฆษกบีอาร์เอ็น” ออกมากล่าวโจมตีด้วยว่า ในการทำหน้าที่ช่วยเหลือประชาชนมีการคอร์รัปชันแฝงอยู่ด้วย แถมยังมีการ “เซลฟี่” เพื่อโชว์ผลงานเป็นที่ประจักษ์

และนั่นก็สอดรับกับการใช้สื่อปฏิบัติการไอโอของ “ภาคประชาสังคม” ในพื้นที่ที่อยู่ใต้ปีกการเมืองของบีอาร์เอ็นที่ได้ออกมาระดมกล่าวหาว่า ความช่วยเหลือของภาครัฐเข้าไม่ถึงคนส่วนใหญ่ที่เดือดร้อนจากอุทกภัย ซึ่งเรื่องนี้ได้กลายเป็นประเด็นร้อนแรงอยู่ในเวลานี้

อีกประเด็นที่กลายเป็นเงื่อนไขให้ฝ่ายบีอาร์เอ็นนำไปขยายผลให้ “มวลชนมลายู” และ “องค์กรต่างชาติ” เข้าใจผิด คือเรื่องที่ พล.ท.ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะ ผอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า มอบหมายให้นายทหารในสังกัดเข้าแจ้งความดำเนินคดีแกนนำภาคประชาสังคมในชายแดนภาคใต้รวม 9 คน

อันเป็นความสืบเนื่องมาจากการจัดกิจกรรม “วันมลายูเดย์” ที่หาดวาสุกรี อ.สายบุรี จ.ปัตตานี ตั้งแต่เมื่อปี 2555 ซึ่งฝ่ายกฎหมาย กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า คงเพิ่งรวบรวมเอกสารหลักฐานครบ จึงเพิ่งได้เข้าแจ้งความกล่าวโทษ แต่ทำให้หลายฝ่ายเกิดความสงสัยว่าทำไมจึงต้องทิ้งเวลาให้ยาวนานเช่นนั้น

ก่อนหน้าก็ได้แจ้งความนายกัณวีย์ สืบแสง เลขาธิการพรรคเป็นธรรม ที่แต่งกายด้วยชุดมลายูเข้าร่วมงานมลายูเดย์ รวมถึงมีการกล่าวหาผู้นำ “กลุ่มพ่อบ้านใจกล้า” ที่ริเริ่มเปิดบัญชีรับเงินบริจาคเงินช่วยเหลือครอบครัวนักรบบีอาร์เอ็นที่ถูกเจ้าหน้าที่วิสามัญฯ เสียชีวิต ซึ่งคดีอยู่ในความรับผิดชอบของ “ดีเอสไอ”

อีกทั้งเมื่อกลางปี 2566 ยังได้มีการแจ้งความกล่าวโทษ “กลุ่มนักศึกษา ม.อ.วิทยาเขตปัตตานี” และ “แกนนำภาคประชาสังคม” ที่ร่วมกันจัด “เวทีจำลองการลงประชามติเพื่อแบ่งแยกดินแดน” ซึ่งคดีนี้พนักงานสอบสวน สภ.เมืองปัตตานีได้แจ้งข้อกล่าวไปหาครบทุกคนแล้ว อยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐานส่งให้อัยการฟ้องศาลต่อไป

ว่ากันว่าการที่ พล.ท.ศานติ ศกุนตนาค สั่งให้แจ้งความเอาผิดกับผู้กระทำเข้าข่ายผิดกฎหมายความมั่นคง เป็นทำหน้าที่ที่ไม่มีอะไรที่ซับซ้อน แถมยึดมั่นในสันติวิธีที่ประกาศมาโดยตลอดว่าจะใช้การพูดคุยสร้างความเข้าใจก่อน และสุดท้ายใครยังกระทำผิดก็ต้องให้ศาลสถิตยุติธรรมเป็นผู้ตัดสินชี้ขาด

ดังนั้น การที่ 32 องค์กรสิทธิมนุษยชน ภาคประชาสังคม และเอ็นจีโอร่วมกันออกแถลงการณ์ให้แม่ทัพภาคที่ 4 ถอนแจ้งความ จึงเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องตามหลักสากล เพราะยังไม่มีการพิสูจน์ความถูก-ผิด หากยอมจะทำให้กระบวนการยุติธรรมบิดเบี้ยว และอาจเข้าข่ายปกป้องคนผิด ซึ่งเรื่องนี้ น่าจะไม่ถูกต้อง

ยิ่งมีการอ้างว่าเป็นการใช้ “กฎหมายปิดปาก” เรื่องนี้ผู้เขียนเห็นว่าไม่น่าจะฟังขึ้น เพราะคนกลุ่มนี้เคลื่อนไหวในพื้นที่ด้วยการกระทำที่ “หมิ่นเหม่” ต่อกฎหมายความมั่นคงมาโดยตลอด และการฟ้องร้องกลุ่มคนกลุ่มนี้ก็ไม่เคยปิดปากได้ เพราะมีทั้ง “องค์กรสิทธิมนุษยชนต่างชาติ” “นักการเมือง” และ “พรรคการเมือง” ให้การสนับสนุน

แต่กลับตรงข้าม ยิ่งฟ้องมาก ยิ่งเป็นการ “เข้าทางตีน” ของกลุ่มคนกลุ่มนี้ รวมไปถึงขบวนการบีอาร์เอ็นด้วย เพราะมีการนำเงื่อนไขนี้ไปขยายผลทั้งใน “สภาผู้แทนราษฎร” และ “องค์กรสิทธิมนุษยชนสากล” รวมถึงใน “เวทีสหประชาชาติ” ด้วย

การที่แม่ทัพภาคที่ 4 ยอมเป็นโจทก์กล่าวหาผู้ทำผิดกฎหมายความมั่นคงจึงเป็นเรื่องที่ถูกต้อง เพราะถ้าไม่ทำต่างหากจะกลายเป็นเรื่องผิดปกติ และอาจจะถูกเอาผิดเองได้ในฐานะเจ้าพนักงานที่ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ การดำเนินคดีจึงเป็นการแสดงเจตนาที่จะไม่ใช้ “ศาลเตี้ย” อีกด้วย

ที่สำคัญ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ไม่ได้เอาผิดเรื่องการแต่งกายตามอัตลักษณ์ชนชาวมลายู แต่มุ่งไปที่การจัดงานที่มีหลายอย่างหมิ่นเหม่กับกฎหมายความมั่นคง และเชื่อว่ามีคนขององค์กรแบ่งแยกดินแดนร่วมอยู่ในการชุมนุมครั้งนั้นด้วย ซึ่งจะมีนัยแอบแฝงหรือการรู้เท่าไม่ถึงการณ์หรือไม่ นั่นเป็นเรื่องที่ต้องให้ศาลชี้ขาด

แต่ถ้าไม่ทำอะไรเลย นั่นจะทำให้คนกลุ่มนี้ไม่เห็นกฎหมายอยู่ในสายตา และจะร่วมกันทำผิดแบบซ้ำซากที่ยิ่งนานวันยิ่งอันตราย
ขณะเดียวกัน กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ต้องตั้งรับให้ดีด้วย เพราะมีการใช้เงื่อนไขการแจ้งความดำเนินคดีไปสร้างแรงกดดันให้ขยายวงจากพื้นที่ชายแดนใต้ไปยัง “ส่วนกลาง” และ “ต่างประเทศ” แล้ว หากยอมถอนแจ้งความนั่นอาจจะทำให้เห็นว่ากลุ่มคนเหล่านี้อยู่เหนือกฎหมาย ทำผิดก็ไม่ถูกลงโทษ

สุดท้ายกลายเป็นการวกกลับไปหนุนว่า ชายแดนใต้คือ “รัฐปาตานี” ที่กฎหมายไทยใช้บังคับไม่ได้ ประเด็นนี้ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า อย่าได้นิ่งนอนใจอย่างเด็ดขาด

เนื่องเพราะ “งานการเมือง” และ “งานการทหาร” ของบีอาร์เอ็นจะมีความเข้มข้นมากขึ้นในปีมังกรนี้ โดยอาศัยเงื่อนไขการดำเนินคดีกลุ่มภาคประชาสังคม และการขับเคลื่อนเวทีพูดคุยสันติสุข ซึ่งจะกลายเป็น “คนละเรื่องเดียวกัน” นั่นอาจนำสู่การก่อเหตุรุนแรงต่อเนื่องตลอดทั้งปี 2567 อย่างไม่พักสงสัย


กำลังโหลดความคิดเห็น