xs
xsm
sm
md
lg

“คุณก้อย” เผยนาที “โอมูระเผือก” วาฬหายาก บอกไม่คาดคิดมาก่อน ขณะเจ้าหน้าที่ออกสำรวจยังไร้เงามาโชว์ตัว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าวภูเก็ต - “คุณก้อย” เจ้าของคลิป “โอมูระเผือก” ระบุไม่คาดคิดมาก่อนจะพบสัตว์ทะเลหายาก ขณะที่สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 10 ออกบินสำรวจแต่ยังไร้วี่แวว พบเพียง “โอมูระ” ธรรมดาที่ออกมาว่ายน้ำหากินตามธรรมชาติ


จากกรณีมีการแชร์คลิปวาฬโอมูระสีขาว กำลังว่ายน้ำหยอกล้อกับวาฬโอมูระสีทั่วไป ซึ่งได้รับการยืนยันจากนักวิชาการว่า โอมูระสีขาว น่าจะเป็นโอมูระเผือกที่หายาก และเป็นการพบครั้งแรกในประเทศไทย โดยมีการระบุว่า คลิปดังกล่าวเป็นคลิปของคุณก้อย Happy Ours Phuket Charter Team ซึ่งนำเรือพาครอบครัวไปดำน้ำ

จากการสอบถามไปยังคุณก้อย หรือคุณ ประภากร ลื่มมณี เจ้าของเรือ Happy Ours Phuket Charter Team ซึ่งได้เล่าถึงนาทีที่ไปพบกับ “วาฬโอมูระเผือก” ว่า เมื่อวันที่ 1 ม.ค.ที่ผ่านมา ขณะพาครอบครัวล่องเรือกลับจากดำน้ำแถวลายัล เพื่อเดินทางไปเกาะเฮ จ.ภูเก็ต ระหว่างที่ทุกคนกำลังนอกพักผ่อนเห็นแสงสีขาวในทะเลที่ขยับไปมา ซึ่งอยู่ห่างจากเรือไม่ต่ำกว่า 1 กิโลเมตร แต่แสงที่สะท้อนออกมาพบว่ามีความขาวที่กระจ่างสวยงาม และเป็นแสงสีขาวที่พุงเข้ามาหาเรือที่กำลังแล่นช้าๆ จึงได้ใช้กล้องซูมเข้ามาดู และอัดคลิปไป พบว่ามีลักษณะคล้ายวาฬ แต่เป็นสีที่แปลกไม่เหมือนวาฬทั่วไป ซึ่งเขาว่ายน้ำในลักษณะหยอกล้อมากกว่าจะว่ายน้ำแบบหาอาหาร


จนกระทั่งว่ายน้ำเข้ามาจนถึงเรือ ซึ่งตอนแรกคิดว่าจะชนเรือ แต่เขากลับว่ายไปรอบๆ เรือ โดยมีวาฬอีกตัวซึ่งสีเหมือนที่เคยพบทั่วไปว่ายน้ำอยู่ด้วย โดยวาฬทั้ง 2 ตัว ใช้เวลาว่ายน้ำเล่นกันบริเวณเรือนานมาก หลังจากนั้นดำน้ำหายไป ซึ่งตอนแรกไม่แน่ใจว่าวาฬดังกล่าวคือชนิดไหน จึงได้ส่งภาพให้ผู้เชี่ยวชาญ และหน่วยงารที่เกี่ยวข้องดู และแจ้งว่าเป็นวาฬโอมูระเผือก ซึ่งเป็นวาฬหายาก และไม่เคยพบในประเทศไทยมาก่อน ตนรู้สึกดีใจมากและไม่คาดคิดว่าจะเป็นวาฬโอมูระเผือกในประเทศไทย และจังหวัดภูเก็ต จึงได้ตั้งชื่อวาฬทั้ง 2 ตัว ว่า “ถลาง” และ “บูกิต”


อย่างไรก็ตาม หลังมีการพบวาฬโอมูระเผือก (Balaenoptera omurai, Albeno) ในทะเลภูเก็ต ล่าสุด นายวิษณุ แจ้งใจ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 10 ร่วมกับ ดร.ก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านวิจัยทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมในระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง พร้อมเจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน และเจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนล่าง ร่วมกันออกสำรวจ และเก็บข้อมูลวาฬโอมูระเผือก (Balaenoptera omurai, Albeno) โดยใช้วิธีการสำรวจ 3 แบบ


ประกอบด้วย 1) การวิ่งเรือสำรวจด้วยวิธีการวางเส้นแนวสำรวจ (Distance Transect Sampling) โดยใช้เรือทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง 805 (ปะการัง) และเรือของอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา เรือตรวจการณ์ 38 ฟุต (พีพี 18) สำรวจบริเวณอ่าวพังงาตอนล่างถึงบริเวณตอนใต้ของเกาะราชาน้อย ครอบคลุมพื้นที่การสำรวจ 400 ตารางกิโลเมตร

2) บินสำรวจด้วยอากาศยานไร้คนขับปีกตรึง บริเวณโดยรอบเกาะราชาใหญ่ในรัศมี 8 กิโลเมตร และ 3) ติดตามและสอบถามข้อมูลการพบเห็นจากภาคการท่องเที่ยวและเรือประมง นอกจากนี้ ยังได้มีการประชาสัมพันธ์แนะนำข้อปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยต่อวาฬโอมูระเผือก


ผลการปฏิบัติติงานพบ วาฬโอมูระลักษณะสีปกติ จำนวน 1 ตัว ความยาวประมาณ 9 เมตร มีพฤติกรรมว่ายน้ำค่อนข้างเร็วเพื่อหากิน ส่วนวาฬโอมูระเผือกยังไม่พบแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม ระหว่างปฏิบัติงานมีลมค่อนข้างแรง ทะเลมีคลื่นหัวแตกประปราย


กำลังโหลดความคิดเห็น