กลายเป็นเรื่องฮือฮา เมื่อชาวประมงในจังหวัดสตูลพบปลารูปร่างแปลกประหลาดบริเวณเกาะอาดัง และเกาะลิบง ในทะเลอันดามัน แล้วนำมามอบให้สำนักงานประมงจังหวัดสตูล
บ้างก็ว่าจะเป็นลางบอกเหตุเรื่องร้ายแรงหรือไม่!?
ในประเทศไทย เราเคยเห็นแต่ภาพปลาชนิดนี้ เมื่อก่อนเราเชื่อว่าเป็นภาพของ “พญานาค” ที่พบในแม่น้ำโขง โดยภาพดังกล่าวเป็นภาพถ่ายทหารอเมริกันหลายนายอุ้มปลาประหลาดยาวกว่า 10 เมตร จนตอนหลังคนไทยเรียกปลาชนิดว่า ปลาพญานาค
แต่จริงๆ แล้ว ภาพนี้ไม่ได้ถ่ายในประเทศไทย แต่ถ่ายที่ชายหาดของหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ กองเรือยุทธการ ของสหรัฐอเมริกา ใกล้กับชายหาดโคโลราโด รัฐแคลิฟอร์เนีย เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2539 มีการบันทึกว่าปลาดังกล่าวคือ ปลาออร์ฟิช มีความยาวประมาณ 7.3 เมตร
น.ส.อภิรดี ณ ไพรี นักวิชาการประมงปฏิบัติการ สำนักงานประมงจังหวัดสตูล เชื่อว่า นี่เป็นครั้งแรกที่พบปลาออร์ฟิชในประเทศไทยโดยชาวประมง ที่ผ่านมา ชาวประมงอาจจะเคยเจอแล้ว แต่เขาอาจไม่ทราบ อาจจะคิดว่าเป็นปลาดาบ สำหรับปลาออร์ฟิช หรือที่บ้านๆ เรียกปลาพญานาค หรือปลาริบบิ้น มีลักษณะการว่ายจะพลิ้วๆ ไปมา จะเจอในทะเลน้ำลึก 1,000 เมตรขึ้นไป
การพบในทะเลอันดามัน จ.สตูลในครั้งนี้ไม่ได้มีการบ่งชี้อะไร ตามความเชื่อบ้างว่า หากเจอที่ชายฝั่งจะเจอภัยพิบัติหรืออาเพศ เป็นความเชื่อเฉยๆ แต่ทางวิทยาศาสตร์เป็นการอพยพย้ายถิ่นฐาน อาจเนื่องจากกระแสน้ำที่เปลี่ยนไป
หลังจากนี้ จะนำส่งพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ เพื่อไว้ให้รุ่นหลังได้ศึกษาต่อไป
ด้าน ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระบุในเพซบุ๊กส่วนตัวว่า oarfish เป็นปลาน้ำลึก พบได้ทั่วโลก แต่เนื่องจากอยู่น้ำลึกคนจึงไม่คุ้นเคย สมัยไปลงเรือสำรวจญี่ปุ่น ลงอวนน้ำลึกก็จับลูกปลา oarfish ได้เช่นกัน
oarfish แพร่กระจายทั่วโลก ที่น่าสงสัยคือเจอที่สตูลได้อย่างไร ทะเลอันดามันน้ำลึกครับ เฉพาะในไทยลึกสุดก็ 2,000 เมตร อาจมี oarfish อยู่แถวนั้น แต่ปกติเราไม่จับปลาน้ำลึก ก็เลยไม่ค่อยรู้จักกัน
อีกอย่างคือช่วงนี้น้ำเย็นเข้าอันดามัน ปรากฏการณ์ IOD มีปลาแปลกๆ เข้ามาตามมวลน้ำเย็น
เมื่อไม่กี่วันก่อนก็มีโมล่าติดอวน ลูกเรือช่วยกันปล่อยไปแล้ว จึงเป็นไปได้ว่า oarfish ตัวนี้จะเข้ามาตามน้ำ อีกทั้งยังมีขนาดเล็ก
เมื่อพิจารณาจากจุดจับได้ เป็นเขตน้ำไม่ลึกมาก คงเป็นปลาวัยรุ่นที่อาจเข้ามาตามมวลน้ำเย็น เท่าที่ทราบ จับได้โดยเรืออวนล้อม หมายถึงปลาขึ้นมาใกล้ผิวน้ำ ซึ่งบางครั้งก็เป็นไปได้ แต่ไม่เกิดขึ้นบ่อย
จากข้อมูลต่างๆ พอสรุปได้ว่า ปลาวัยรุ่นตัวนี้คงมากับน้ำเย็น เหมือนกับโมล่าที่ปกติก็ไม่ค่อยพบในไทย
มหาสมุทรมีปรากฏการณ์แปลกๆ เป็นระยะ แต่ถ้าเรามีข้อมูลเพียงพอ เราอธิบายได้ ไม่สร้างความตระหนกตกใจ
อนึ่ง ไม่ต้องตื่นเต้นตกใจ แม้บางทีเราอาจได้ยินว่าเป็นปลาแผ่นดินไหว แต่เป็นการว่ายเข้ามาที่ฝั่ง ไม่ใช่จับมา แม้ว่ายมาฝั่งก็ไม่ใช่ทุกครั้ง อันที่จริง ผมเชื่อว่าเป็นเรื่องบังเอิญมากกว่า จึงไม่ต้องตื่นตระหนกกัน สตูลยังเที่ยวได้ครับ
ด้าน ดร.วัชรพงษ์ หงส์จำรัสศิลป์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายว่า ทำไมถึงพบเจ้าปลา Oarfish ที่ทะเลในจ.สตูล น่าจะมาจากปรากฏการณ์ IOD หรือ Indian Ocean Dipole ซึ่งเป็นการสลับขั้วของน้ำอุ่นและน้ำเย็นในมหาสมุทรอินเดีย
นั่นคือปรากฏการณ์อุณหภูมิที่ผิวน้ำในมหาสมุทรอินเดียสองฝั่งขยับตัวต่างจากค่าเฉลี่ยของพื้นที่ จนเกิดการไหลของน้ำที่ไม่ปกติ และขุดเอาน้ำเย็นจากห้วงมหาสมุทรลึกขึ้นมาแทนที่ชั้นบนของแสงสว่าง
ทำให้สัตว์น้ำที่เราไม่ค่อยพบกันเข้ามาตามมวลน้ำเย็น และโอกาสนี้เองจึงเป็นไปได้ว่าปลาออร์ฟิชตัวนี้จะเข้ามาตามน้ำ