xs
xsm
sm
md
lg

ถึงเวลาแล้วที่ต้องนำบทเรียนจาก "อุทกภัยใหญ่" ที่ปลายด้ามขวานไปสู่การปรับเปลี่ยนนโยบายดับไฟใต้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้ โดย... ไชยยงค์ มณีพิลึก

" ...หน่วยงานที่สมควรถูกตำหนิมากสุดคือ “กรมการปกครอง” เพราะนายอำเภอเป็นผู้บังคับบัญชากำนัน ผู้ใหญ่บ้าน รวมถึง ชรบ. ซึ่งทุกคนต่างมี “เงินเดือน” และ “เบี้ยเลี้ยง” ที่สำคัญมีงบให้จัดประชุมกันทุกเดือน แต่ที่ผ่านมากลับใช้ประโยชน์จากบรรดาผู้นำท้องที่ไปช่วยแก้ปัญหาไม่ได้เลย
.
นี่กระมังที่โบราณกล่าวว่า “เลี้ยงไปก็เปลืองข้าวสุก”..
"

.......

ก่อนอื่นขอแสดงความเสียใจกับชาวจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ต้องสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินจากอุทกภัย ซึ่งมีผู้ใหญ่ที่ต้องรับผิดชอบแก้ปัญหาให้ประชาชนกล่าวว่า ถือเป็นอุทกภัยครั้งใหญ่ในรอบ 50 ปี ประเด็นนี้ต้องพิจารณาว่าเป็นการพูดที่ตั้งอยู่บนข้อเท็จจริง หรือพูดเพื่อปัดความรับผิดชอบต่อกันแน่

จึงขอเว้นเขียนถึงสถานการณ์ไฟใต้ที่ร้อนแรงไปก่อน เพราะในห้วงแห่งความโศกเศร้าและสูญเสีย ขบวนการบีอาร์เอ็นคงไม่ก่อเหตุซ้ำเติมแน่ แต่หลังปีใหม่ไปแล้วการก่อเหตุอาจจะเกิดขึ้นอีก โดยเป้าหมายยังอยู่ที่ทหาร ตำรวจ และกองกำลังท้องถิ่น ตามแต่ว่าฝ่ายไหนจะประมาทหรือเปิดช่องว่างให้บีอาร์เอ็นฉกฉวยโอกาสได้

สิ่งที่นำมาเขียนถึงขอเป็นสถานการณ์เย็นๆ ไปก่อน กล่าวคือ ไฟใต้กำลังจะก้าวสู่ปีที่ 20 ในช่วงต้นปี 2567 ซึ่งตลอดเกือบ 20 ปีความสูญเสียเกิดกับภาคราชการและประชาชน โดยเฉพาะมีการใช้งบประมาณไปแล้วกว่า 4 แสนล้านบาท แต่ว่าเวลานี้กลับยังมองไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์แม้แต่น้อย

ในบรรดาคนชายแดนใต้ที่ประสบภัยน้ำท่วม ปรากฏว่า ชาว จ.นราธิวาสหนักหน่วงที่สุด และภัยธรรมชาติครั้งนี้ได้ “ประจาน” การทำหน้าที่ของหน่วยงานพิทักษ์และปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้อย่างไร้ประสิทธิภาพแบบสุดๆ เหมือนกัน

เนื่องเพราะน้ำป่าที่หลากจากพื้นที่สูงลงสู่พื้นราบ นอกจากนำพาดินโคลนลงมาด้วยแล้ว ยังมี “ท่อนไม้” ที่อยู่ในสภาพถูกตัดโค่นมาก่อนไหลตามสายน้ำมาด้วย โดยเฉพาะบริเวณ “เทือกเขาเมาะแต” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเขต “อุทยานแห่งชาติน้ำตกซีโป” ในพื้นที่ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส ซึ่งมีทั้งภาพและข่าวยืนยันอย่างเป็นที่ประจักษ์

เรื่องนี้แสดงให้เห็นถึงการมีอยู่จริงของ “ขบวนการมอดไม้” ในชายแดนใต้ ซึ่งมักจะชุกชุมตามแนวชายแดนไทย-มาเลเซีย นอกจากในพื้นที่ จ.นราธิวาส และ จ.ยะลาแล้ว ในส่วนของ จ.สงขลาก็ไม่น้อยหน้า โดยเฉพาะใน อ.สะบ้าย้อยที่เป็นรอยต่อกับ อ.กาบังของ จ.ยะลา

จนกลายเป็นว่า “ไฟใต้ระลอกใหม่” ที่เกิดขึ้นนับเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2547 กลับกลายเป็นสถานการณ์ที่เอื้อประโยชน์ให้บรรดา “ผู้มีอิทธิพลกลุ่มต่างๆ” ไม่เว้นแม้กระทั่งพวกที่สวม “เครื่องแบบข้าราชการ” และ “เสื้อพรรคการเมือง” ได้ทำมาหากินในสิ่งที่ผิดกฎหมายกันคล่องขึ้นอย่างมากมาย

ความจริงแล้วการลอบตัดไม้ทำลายป่า หรือทำลายทัพยากรธรรมชาติอื่นๆ เช่น ลอบขุดดิน ขุดทราย รวมถึงการค้ายาเสพติด น้ำมันเถื่อน บุหรี่เถื่อน หรืออะไรที่เถื่อนๆ อีกมากมาย ล้วนเป็นการ “บ่อนทำลายชาติ” ทั้งนั้น แต่มักถูกเจ้าหน้าที่รัฐแอบอ้างยกเอาสถานการณ์ไฟใต้มาเป็นเงื่อนไขกลบเกลื่อน

ตัวอย่างที่เห็นบ่อยๆ ก็เช่น อ้างว่าเข้าไปจัดการหรือแก้ปัญหาไม่ได้เพราะเสี่ยงต่อชีวิต หรือกลัวตกเป็นเหยื่อของสถานการณ์ โดยกลับยินยอมปล่อยให้กลุ่มผู้มีอิทธิพลที่อยู่ในความคุ้มครองของขบวนการแบ่งแยกดินแดนกระทำการใดๆ ได้ตามใจชอบ

ที่น่าเศร้าใจคือ นับแต่เกิดไฟใต้ระลอกใหม่ปี 2547 ต่อเนื่องมาจนจะครบ 20 ปีในอีกไม่กี่วัน ในชายแดนใต้มี “กองกำลังเสริม” ไม่ว่าจะจากฝ่ายทหารหรือท้องถิ่นกว่า 70,000 คน ซึ่งถูกนำเข้ามาเสริมกองกำลังตำรวจประจำการในพื้นที่ที่อยู่แล้วไม่ต่ำกว่า 30,000 คน กลับไม่ช่วยให้สถานการณ์บ่อนทำลายชาติต่างๆ ดีขึ้นเลย

ทำไมกองกำลังภาครัฐที่มีมากมายกว่า 100,000 คนในชายแดนใต้ กลับป้องกันการตัดไม้ทำลายป่าไม่ได้แม้แต่กระผีกริ้น โดยเฉพาะบริเวณเทือกเขาเมาะแต ในเขตอุทยานแห่งชาติน้ำตกซีโป ซึ่งได้สร้างปรากฏการณ์ประจานชัดแจ้งจากกรณีเกิดอุทกภัยหนักในห้วงเวลานี้

ความจริงแล้วไม่เฉพาะแต่ป่าไม้บริเวณเทือกเขาเมาะแตเท่านั้น ผืนป่าในพื้นที่อื่นๆ ของชายแดนใต้ โดยเฉพาะที่สำคัญยิ่งคือ “ป่าฮาลา-บาลา” ที่กินพื้นที่ 2 จังหวัดคือ ยะลากับนราธิวาส ถือได้ว่าเป็นประจักษ์พยานที่ชัดเจนว่าได้ถูกขบวนการมอดไม้รุกล้ำทำลายไปแล้วจำนวนมาก

กองกำลังของเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานพิทักษ์รักษาป่าต่างๆ มากมายที่รับผิดชอบโดยตรง รวมถึงกองกำลังทหารสังกัด “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” ที่เข้าไปช่วยสนับสนุนมาอย่างต่อเนื่อง ทำไมกำลังพลที่มีมากมายเหล่านี้กลับป้องกันการบุกรุกทำลายป่าในชายแดนใต้ไม่ได้เลย

ดังนั้น ถึงเวลาหรือยังที่จะต้อง “ทบทวน” การทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

อย่างไรก็ตาม หน่วยงานที่สมควรถูกตำหนิมากสุดคือ “กรมการปกครอง” เพราะนายอำเภอเป็นผู้บังคับบัญชากำนัน ผู้ใหญ่บ้าน รวมถึง ชรบ. ซึ่งทุกคนต่างมี “เงินเดือน” และ “เบี้ยเลี้ยง” ที่สำคัญมีงบให้จัดประชุมกันทุกเดือน แต่ที่ผ่านมากลับใช้ประโยชน์จากบรรดาผู้นำท้องที่ไปช่วยแก้ปัญหาไ่ม่ได้เลย

นี่กระมังที่โบราณกล่าวว่า “เลี้ยงไปก็เปลืองข้าวสุก

สำหรับขบวนการมอดไม้ที่ชายแดนใต้จัดว่าใหญ่เอาการทีเดียว โดยมีเครือข่ายกลุ่มอิทธิพลทำหน้าที่เกี่ยวเนื่องกันไปตั้งแต่ “กลุ่มทุนต้นน้ำ” คือพวกลักลอบตัด ชักลาก ก่อนส่งให้แก่ “กลุ่มทุนกลางน้ำ” รับซื้อไปแปรรูป แล้วสุดท้ายถูกส่งต่อไปสู่ “กลุ่มทุนปลายน้ำ” คือตัวแทนจำหน่ายวัสดุไม้แปรรูป วงกบ ประตู หน้าต่าง เป็นต้น

ถ้าเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนทำงานอย่างบูรณาการครบวงจรกันแล้ว ปัญหาการลอบตัดไม้ทำลายป่าจะเบางบางลงได้แน่นอน หรือกระทั่งขบวนการลักลอบตัดไม้จากฝั่งไทย ส่งให้โรงเลื่อยในมาเลเซียแปรรูป ก่อนนำกลับเข้ามาขายในไทย หรือที่เรียกว่า “ไม้สวมโสร่ง” ขบวนการแบบนี้ก็จะหมดไปได้ในที่สุด

ที่เขียนมายืดยาวเพียงต้องการชี้ว่า ถึงเวลาแล้วที่ผู้มีอำนาจต้องนำ “บทเรียน” จากอุทกภัยใหญ่ที่ชายแดนใต้ครั้งนี้ไปสู่การ “ปรับเปลี่ยนนโนบาย” ดับไฟใต้อย่างบูรณาการแท้จริงเสียที ซึ่งหากทำได้จะช่วยประหยัดงบประมาณแผ่นดินที่มาจากภาษีของประชาชนได้มากมายเช่นกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น