xs
xsm
sm
md
lg

สภาพัฒน์ฯ จับมือ ม.อ. จัดประชุมระดมความคิดเห็นสำหรับแผนแม่บทการพัฒนาเชิงพื้นที่สงขลาและปัตตานี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จัดประชุมระดมความคิดเห็น ครั้งที่ 4 ภายใต้โครงการการจัดทำ SEA สำหรับแผนแม่บทการพัฒนาเชิงพื้นที่ของจังหวัดสงขลาและปัตตานี

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่ปรึกษาโครงการ จัดประชุมระดมความคิดเห็น ครั้งที่ 4 (เวทีที่ 20) ภายใต้โครงการการจัดทำการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ สำหรับแผนแม่บทการพัฒนาเชิงพื้นที่ของจังหวัดสงขลาและปัตตานี โดยมี นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และนายสมนึก พรหมเขียว ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นประธานเปิดการประชุม และมีคณะกรรมการกำกับโครงการฯ อาทิ ดร.วิชญายุทธ บุญชิต รองเลขาธิการสภาพัฒน์ฯ และนายมงคลชัย สมอุดร รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เข้าร่วมสังเกตการณ์การประชุม รวมทั้งมี ผศ. ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวบรรยายพิเศษเกี่ยวกับบทบาทมหาวิทยาลัยกับการขับเคลื่อนการดำเนินโครงการฯ เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2566 ณ โรงแรมสยามออเรียนทัล อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา


โครงการการจัดทำการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ สำหรับแผนแม่บทการพัฒนาเชิงพื้นที่ของจังหวัดสงขลาและปัตตานี เป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2564 ที่มอบหมายให้ สศช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันจัดให้มีการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) และแผนแม่บทต่าง ๆ โดยให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อให้ได้แผนแม่บทการพัฒนาเชิงพื้นที่ของจังหวัดสงขลาและปัตตานี ที่มีความสอดคล้องกับศักยภาพและโอกาสการพัฒนาของพื้นที่ มีแนวทางการพัฒนาที่ครอบคลุมทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งมีมาตรการที่เหมาะสมในการรองรับผลกระทบจากการพัฒนาที่จะเกิดขึ้น เพื่อให้ได้แผนที่เป็นที่ยอมรับร่วมกันของทุกภาคส่วน และนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

โครงการนี้ได้กำหนดให้มีกระบวนการมีส่วนร่วมเพื่อแสดงความคิดเห็นในทุกขั้นตอนของการจัดทำแผนแม่บทของจังหวัดสงขลาและปัตตานี จำนวนไม่น้อยกว่า 40 เวที ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาได้มีการจัดประชุมระดมความคิดเห็นไปแล้ว รวมทั้งสิ้น 19 เวที ทั้งในจังหวัดสงขลาและปัตตานี มีผู้เข้าร่วมการประชุมประมาณ 1,700 คน ซึ่งการประชุมครั้งนี้ เป็นการจัดระดมความคิดเห็น เวทีที่ 20 ในจังหวัดสงขลา โดยจะเป็นเวทีที่นำเสนอผลจากการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสีย จากเวทีที่ 1 – 19 ซึ่งเป็นส่วนของการกำหนดขอบเขตตามขั้นตอนของ SEA มาระดมความคิดเห็น เรื่อง เป้าหมายการพัฒนา ประเด็นยุทธศาสตร์ วัตถุประสงค์เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ตัวชี้วัด และข้อมูลฐาน เพื่อนำไปจัดทำ (ร่าง) รายงานการกำหนดขอบเขต (ร่าง) ทางเลือกการพัฒนาที่เป็นไปได้ รวมทั้งนำไปกำหนดเป้าหมายการพัฒนาในแผนแม่บทการพัฒนาเชิงพื้นที่ฯ ต่อไป


โดยการประชุมดังกล่าวมีผู้เข้าร่วมประชุม ซึ่งเป็นผู้แทนของผู้มีส่วนได้เสียจากการระดมความคิดเห็นในเวทีที่ 15 – 19 จำนวนประมาณ 100 คน ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายด้านการพัฒนา ได้แก่ ด้านการเกษตร อุตสาหกรรม สิ่งแวดล้อม การท่องเที่ยว เศรษฐกิจสร้างสรรค์ สังคม โครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์ ทั้งนี้ รูปแบบการประชุมแบ่งออกเป็น 5 ช่วง คือ (1) นำเสนอผลการกำหนดร่างเป้าหมายการพัฒนา ประเด็นยุทธศาสตร์ วัตถุประสงค์เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และตัวชี้วัด (2) แบ่งกลุ่มย่อย เพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อการกำหนดร่างเป้าหมายการพัฒนา ประเด็นยุทธศาสตร์ วัตถุประสงค์เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และตัวชี้วัด (3) นำเสนอและรับฟังความคิดเห็นต่อผลการศึกษาศักยภาพที่เหมาะสมในการพัฒนาพื้นที่ (4) แบ่งกลุ่มย่อย เพื่อระดมความคิดเห็น เรื่อง ทางเลือกการพัฒนาเบื้องต้น และ (5) สรุปผลการประชุมระดมความคิดเห็น

จากการระดมความคิดเห็นในวันนี้ พบว่าประเด็นที่ควรให้ความสำคัญในแผนแม่บทฯ มี 4 เรื่อง ได้แก่ การยกระดับภาคเศรษฐกิจเดิมและสร้างเศรษฐกิจใหม่อย่างสร้างสรรค์ การพัฒนาและปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อรองรับการพัฒนาทางเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ การสร้างสังคมเป็นธรรมและเป็นสุข และการอนุรักษ์ พื้นฟู และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบ เพื่อเป็นฐานการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยใช้กลไกการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ทั้งนี้ แต่ละจังหวัดควรมีจุดเน้นในแต่ละประเด็นสำคัญที่แตกต่างกันออกไปตามศักยภาพของพื้นที่


โดยผลจากการระดมความคิดเห็นในครั้งนี้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์จะนำไปจัดทำรายงานการกำหนดขอบเขต รวมทั้งวิเคราะห์และพัฒนาทางเลือก ตามขั้นตอนของ SEA ต่อไป โดยที่ปรึกษาจะนำผลการวิเคราะห์กลับมารับฟังความคิดเห็นในการประชุมอย่างเป็นทางการในเวทีต่อ ๆ ไปอีกกว่า 4 ครั้ง 20 เวที

ทั้งนี้ สามารถติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวของโครงการฯ ได้ผ่านช่องทางเว็บไซต์ของสภาพัฒน์ฯ Facebook: @SEASongkhlaPattani หรือประสานฝ่ายพันธกิจสังคม สำนักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และพันธกิจสังคม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์






กำลังโหลดความคิดเห็น