"สมศักดิ์ เทพสุทิน" รองนายกฯ สั่งการ ศอ.บต. เร่งพูดคุยกลุ่มผู้เพาะพันธุ์นก หาแนวทางปลดล็อก “นกกรงหัวจุก” พ้นสัตว์ป่าคุ้มครอง เปิดทางช่วยชาวบ้านสร้างรายได้
วานนี้ (23 ธ.ค.) นายชนธัญ แสงพุ่ม รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ลงพื้นที่ไปยังฟาร์มเพาะพันธุ์นกกรงหัวจุก ชาญหาดใหญ่ ฟาร์ม หมู่ 11 ต.คลองแห อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ซึ่งเป็นฟาร์มเพาะพันธุ์นกปรอดหัวโขน หรือนกกรงหัวจุก ของนายวิชาญ อัมโร เพื่อรับฟังความเห็นและปัญหาที่เกิดขึ้นจากกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงนกกรงหัวจุกที่ยังเป็นสัตว์อยู่ในบัญชีสัตว์สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
ขณะเดียวกัน เป็นข้อสั่งการของนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี ที่ได้ต่อสายตรงผ่านมายังรองเลขาธิการ ศอ.บต.ให้เร่งเดินหน้าช่วยเหลือประชาชนเรื่องการปลดล็อก “นกกรงหัวจุก” ออกจากบัญชีสัตว์สงวน และเร่งสำรวจปัญหาที่เกิดขึ้น หลังมีการเคลื่อนไหวเรื่องดังกล่าว เนื่องจากปัจจุบันมีการเพาะเลี้ยงนกกรงหัวจุกจำนวนมาก อีกทั้งยังสอดรับกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจและอัตลักษณ์ของท้องถิ่น พร้อมผลักดันนกปรอดหัวโขนให้เป็นสัตว์เศรษฐกิจ ที่อยู่คู่กับพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อีกด้วย
นายชนธัญ เปิดเผยว่า นายสมศักดิ์ห่วงใยประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างมาก และให้ ศอ.บต.ได้รายงานความคืบหน้าถึงนโยบายที่สำคัญของรัฐบาลที่มอบหมายให้ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต. แต่ละกระทรวง ทบวง กรม ไปดำเนินการในอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต. จากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ลงไปดูในเรื่องของการบ่มเพาะ ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต.จากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้ลงไปดูในเรื่องของการนำเข้าสัตว์ โดยเฉพาะนกกรงหัวจุกไปต่างประเทศ เช่น ประเทศมาเลเซียที่มีข้อกำหนดว่าตอนนี้ยังไม่สามารถนำนกกรงหัวจุกเข้าไปได้
"ดังนั้น ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต. ที่เกี่ยวข้องในแต่ละกระทรวงจะต้องไปดูเรื่องของการปลดล็อกด้านกฎหมายให้เกิดความถูกต้อง รวมถึงให้ปลดล็อกในประเทศอินโดนีเซีย เวียดนาม และสิงคโปร์ด้วย" นายชนธัญ กล่าว
นายชนธัญ กล่าวว่า กลุ่มเพาะพันธุ์นกพร้อมที่จะทำโครงการช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงนกในพื้นที่ เมื่อมีการแข่งขันนกในแต่ละครััง โดยจะนำรายได้ส่วนหนึ่งที่ได้รับมาจากการแข่งขันนก มาทำ CSR หรือการตอบแทนสังคม เช่น มอบเงินช่วยเหลือให้แก่โรงพยาบาลในชุมชน หรือทำโครงการดูแลคนจน และโครงการอื่นๆ อีกมากมายที่คืนความสุขให้แก่สังคมได้ต่อไป
ด้านนายวิชาญ กล่าวว่า ชาญหาดใหญ่ ฟาร์ม ยังคงยึดมั่นเสมอว่า การจับนกป่านั้นถือเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย แต่นกที่เลี้ยงและเพาะพันธุ์จากฟาร์ม ขอให้เป็นเสรี ถูกต้องตามกฎหมาย และที่สำคัญคนที่เลี้ยงสัตว์ หรือเลี้ยงนกต่างๆ ถือเป็นผู้ที่มีจิตใจดี ซึ่งตรงนี้ยังช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่ประเทศไทยด้วย เพราะชาวต่างชาติจะได้รู้ว่าคนไทยเป็นคนที่มีจิตใจงดงาม ดังนั้น จึงอยากให้ ศอ.บต. เร่งผลักดันนกปรอดหัวโขน (นกกรงหัวจุก) เป็นสัตว์เศรษฐกิจ หวังสร้างโอกาสในการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ กระตุ้นการท่องเที่ยวในชุมชน
นายวิชาญ กล่าวว่า ฟาร์มยังมีโครงการที่จะทำร่วมกับ ศอ.บต. เช่น อยากให้เกษตรกรรายย่อยทำฟาร์มของตนเองได้ โดยจะมอบความรู้เรื่องการเพาะพันธุ์นก การทำกรงนก การผสมอาหารนกต่างๆ และเป้าหมายสูงสุดของผู้เลี้ยงนกคือการจัดแข่งขันนกชิงถ้วยพระราชทานให้เกิดขึ้นในพื้นที่ เพื่อให้เพิ่มมูลค่าให้ตัวนก รวมถึงเกษตรกรในพื้นที่ด้วย แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นตอนนี้คือการยังไม่ปลดล็อกนกกรงหัวจุก ถ้าหากยังไม่มีการปลดล็อก เมื่อมีการเลี้ยงจะต้องนำนกเหล่านี้ไปขึ้นทะเบียน และเมื่อมีการออกลูกจะต้องนำลูกไปขึ้นทะเบียนด้วย และถ้าการเคลื่อนย้ายนก จะต้องได้รับการอนุญาตก่อนจึงเคลื่อนย้ายนกได้ นี่คือปัญหาที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนาน และเป็นสิ่งที่อยากให้ทางรัฐบาลแก้ปัญหาโดยเร็ว เพื่อช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงนกกรงหัวจุกให้ประกอบอาชีพได้อย่างสบายใจต่อไป
จากนั้นรองเลขาธิการ ศอ.บต.ลงพื้นที่ไปบ้านของนายณัฐวุฒิ กาสาเอก ตั้งอยู่ที่ หมู่ที่ 7 ต.ท่าแพ อ.ท่าแพ จ.สตูล ซึ่งเป็นเจ้าของผู้เพาะพันธุ์นกหัวกรงจุกแฟนซีเผือกขาวสำลีตาแดง ที่ขึ้นชื่อในพื้นที่แห่งนี้ โดยรองเลขาธิการ ศอ.บต.ได้เยี่ยมชมวิธีการเลี้ยง เพาะพันธุ์ และการบำรุงนก รวมถึงได้สอบถามถึงปัญหาและความต้องการที่อยากให้รัฐบาลเร่งปลดล็อกนกกรงหัวจุก ให้เป็นสัตว์เศรษฐกิจและเป็นอัตลักษณ์ของท้องถิ่นถูกต้องตามกฎหมาย
นายณัฐวุฒิ เปิดเผยว่า นกกรงหัวจุกดำนิยมเลี้ยงเพื่อขึ้นราว ประกวดแข่งขันร้อง แต่สิบกว่าปีมานี้เทรนด์การเลี้ยงเปลี่ยนไปแล้ว นิยมเลี้ยงนกกรงหัวจุกแนวแฟนซีมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นนกเผือก โอวัลติน เทา ด่างหัวอินทรีต่างๆ ดังนั้น พอตลาดแฟนซีเพิ่มมากขึ้น ลูกค้าเห็นว่าสวยงามจึงเลือกซื้อนกแนวนี้มาเพาะพันธุ์เพิ่มขึ้นเช่นกัน แต่ตลาดนกแฟนซีในรุ่นแรกเล่นกันเรื่องสีสันอย่างเดียวร้องไม่เป็น ลูกค้ายังไม่นิยมมากนักเพราะนกแฟนซีไม่ร้อง ไม่เล่น ไม่มีการขึ้นราว มีแต่ความสวยและแปลกเท่านั้น กระทั่งต่อมาผู้เลี้ยงพากันต่อยอดพัฒนาฝึกฝนให้นกแฟนซีมีความสามารถอย่างอื่นนอกจากสีสันเพื่อเอาใจตลาดแนวเดิม ดังนั้น นกกรงหัวจุกแฟนซีจึงได้รับความนิยม และมีมูลค่าทางการตลาดเพิ่มขึ้น
นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า นกทุกตัวของที่เลี้ยงมานั่นคือนกเพาะพันธุ์จากฟาร์มของตนเอง ไม่ใช่นกป่าอย่างแน่นอน จึงอยากให้รัฐบาลปลดล็อกนกกรงหัวจุกเป็นนกที่ถูกต้องตามกฎหมาย ให้ส่งออกนกไปต่างประเทศได้อย่างถูกต้อง เพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่กลุ่มผู้เลี้ยงนกอีกด้วย
ทั้งนี้ นกกรงหัวจุก หรือนกปรอดหัวโขน เป็นนกประจำถิ่นที่พบมากในหลายพื้นที่ประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงไทยที่มีเกือบทุกจังหวัด กิจกรรมที่นิยมเลี้ยงนกชนิดนี้ตั้งแต่อดีตจนทุกวันนี้คือการแข่งขันร้องเพื่อประกวดความไพเราะของเสียง หรือระยะเวลาที่ร้องได้นานเท่าไร
กระทั่งเมื่อมูลค่านกถูกพัฒนาด้วยการสร้างสีสันแฟนซีเข้ามาเพิ่ม เกิดความคึกคักในกลุ่มตลาดเลี้ยงนกชนิดนี้เป็นอย่างมาก ถือเป็นเป็นสัตว์เศรษฐกิจและเป็นอัตลักษณ์ของท้องถิ่นอย่างเห็นได้ชัด