xs
xsm
sm
md
lg

สมาคมกู้ชีพร่วมใจ จ.ตรัง ประกาศหยุดรับผู้ป่วยชั่วคราว เหตุหน่วยงานสาธารณสุขค้างค่าเคส

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ตรัง - สมาคมกู้ชีพร่วมใจ จ.ตรัง ประกาศหยุดปฏิบัติหน้าที่รับผู้ป่วยฉุกเฉินชั่วคราว นับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.นี้ หลังประสบปัญหาค่าใช้จ่าย เพราะหน่วยงานสาธารณสุขค้างจ่ายค่าเคสมานานนับปีแล้ว

วันนี้ (20 ธ.ค.) ที่สมาคมกู้ชีพร่วมใจ อ.ย่านตาขาว จ.ตรัง นายจารุ สุนทรนนท์ นายกสมาคมกู้ชีพร่วมใจ ซึ่งมีตำแหน่งเป็นรองนายกเทศมนตรีตำบลย่านตาขาว บอกว่า ตนได้ประกาศผ่านเฟซบุ๊กของทางสมาคม แจ้งขอยุติการปฏิบัติหน้าที่รับผู้ได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุและผู้ป่วยฉุกเฉินเป็นการชั่วคราว นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป เนื่องจากที่ผ่านมา ทางสมาคมกู้ชีพร่วมใจมิได้รับค่าตอบแทนในการปฏิบ้ติหน้าที่จากสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) และจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตรัง (สสจ.ตรัง) เป็นเวลานานนับปี

คือ ตั้งแต่เดือนกันยายน 2565 ถึงกุมภาพันธ์ 2566 และจากเดือนมิถุนายน 2566 จนถึงปัจจุบัน รวมระยะเวลาปฏิบัติงานทั้งหมด 16 เดือน โดยได้รับเงินสนับสนุนแค่ 3 เดือน คือ มีนาคม เมษายน และพฤษภาคมเท่านั้น ยังคงค้างจ่าย 13 เดือน จึงทำให้สมาคมกู้ชีพร่วมใจขาดสภาพคล่องในการบริหารงาน เช่น ค่าใช้จ่ายค่าน้ำมันในการออกรับผู้ป่วยและผู้ประสบอุบัติเหตุ ค่าบำรุงรักษารถ และค่าใช้จ่ายต่างๆ ทั้งนี้ สมาคมกู้ชีพร่วมใจจะกลับมาปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ เมื่อได้รับการตอบรับและดูแลค่าตอบแทนที่คงค้างจาก สพฉ. และ สสจ.ตรัง


โดยที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขได้จัดสรรงบสนับสนุนการปฏิบัติงานของกู้ชีพกู้ภัยต่างๆ ซึ่งเป็นเครือข่ายของ สพฉ. เคสละ 350 บาท และสมาคมกู้ชีพร่วมใจได้เปิดทำการและช่วยเหลือสังคมมานานกว่า 6 ปีแล้ว ซึ่งจำนวนเงินที่สนับสนุนต่อเคส ส่วนตัวไม่ได้ติดใจเรื่องนั้น และไม่ได้อยากมาเรียกร้องค่าเคสเลย แต่เพราะ สพฉ. และ สสจ.ตรัง ไม่รับผิดชอบในหน้าที่ของตนเองในการสนับสนุนการปฏิบัติงานของกู้ชีพกู้ภัย ทั้งที่พวกตนทำงานด้วยจิตอาสาเพื่อสังคม โดยไม่มีองค์กรเป็นเจ้าของ ต้องอาศัยเงินบริจาคจากประชาชน และผู้มีจิตศรัทธาที่ตั้งใจมาทำบุญสนับสนุนเท่านั้น แต่เมื่อเงินสนับสนุนจาก สพฉ. และ สสจ.ตรัง ไม่จ่ายมา ขณะที่เงินบริจาคช่วยเหลือก็หมด ทางสมาคมจึงจำเป็นต้องหยุดออกเหตุ เพราะไม่สามารถจะช่วยเหลือสังคมต่อไปได้ และไม่เฉพาะสมาคมกู้ชีพร่วมใจของตนเท่านั้น แต่ประสบปัญหาเหมือนกันหมดทั่วประเทศ จึงต้องยุติออกเหตุเช่นกัน

สำหรับสมาคมกู้ชีพร่วมใจ ขณะนี้ต้องรับผิดชอบพื้นที่ 3 อำเภอ คือ ย่านตาขาว ปะเหลียน และหาดสำราญ ต้องออกเหตุเดือนละนับร้อยเคส ส่วนรถตู้ 2 คัน ที่ใช้ในการออกเหตุ รวมทั้งอุปกรณ์ภายในรถตู้ทั้งหมด ทั้งม้านั่ง เปล เตียง เครื่องตัดถ่าง มูลค่ารวมประมาณคันละ 1 ล้านบาทนั้น ซื้อได้ด้วยเงินบริจาคจากประชาชนผู้มีจิตศรัทธาช่วยกันทำบุญมา ไม่ใช่เป็นเงินราชการแม้แต่บาทเดียว ต่อเดือนเฉพาะค่าน้ำมันรถในการออกเหตุคันละประมาณ 8,000 บาท รวม 2 คัน เป็นเงิน 16,000 บาท เมื่อก่อนค่าน้ำมันลิตรละ 10 กว่าบาท แต่ตอนนี้ลิตรละ 40 กว่าบาท ซึ่งเป็นภาระค่าใช้จ่ายที่สำคัญในการออกเหตุของทางสมาคม

อย่างไรก็ตาม ปัญหานี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อเดือนกรกฎาคม 2566 โดย สพฉ.ได้ออกมาชี้แจงปัญหาจ่ายเงินกู้ชีพกู้ภัยที่ล่าช้าว่าเกิดจากระบบเบิกจ่าย พร้อมยืนยันว่ามีงบประมาณเพียงพอ แต่กลับมาเกิดปัญหานี้ซ้ำอีกครั้งทั่วประเทศช่วงก่อนถึงเทศกาลสำคัญคือ เทศกาลปีใหม่


กำลังโหลดความคิดเห็น