xs
xsm
sm
md
lg

ซอฟต์พาวเวอร์! สตูลผลักดันประเพณี “ลอยเรือชาวเลอูรักลาโว้ย” หลังขึ้นบัญชีเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ระดับชาติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สตูล – จังหวัดสตูลผลักดันประเพณี “ลอยเรือชาวเลอูรักลาโว้ย” ให้เป็นซอฟต์พาวเวอร์หลังถูกขึ้นบัญชีให้เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ระดับชาติ ประจำปี 2566

“ประเพณีลอยเรืออูรักลาโว้ย” เป็นหนึ่งใน 18 บัญชีประกาศให้เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ระดับชาติ ประจำปี 2566 ด้านแนวปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรม ประเพณี และเทศกาล จากการเสนอของคณะกรรมการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม และผ่านการพิจารณาคัดเลือก จากคณะอนุกรรมการกลั่นกรองตามลักษณะมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่เสี่ยงต่อการสูญหาย ต้องได้รับการส่งเสริมและรักษาอย่างเร่งด่วน

นางแสงโสม หาญทะเล รักษาการแทน ผอ.โรงเรียนบ้านเกาะหลีเป๊ะ กล่าวว่า ในนามชาวเลอูรักลาโว้ย รู้สึกภาคภูมิใจและดีใจที่มีภาครัฐโดยเฉพาะกระทรวงวัฒนธรรมได้เห็นความสำคัญของงานประเพณีที่มีการสืบทอดกันมาร่วม 300 ปี งานประเพณีนี้ยังมีคุณค่าทางจิตใจ อีกทั้งยังเป็นงานที่ช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยว ให้นักท่องเที่ยวทั่วโลกได้เข้ามามีส่วนร่วมสัมผัสและศึกษาความงดงามของงานประเพณีลอยเรือชาวเลบนเกาะหลีเป๊ะ ที่มีขึ้นเป็นประจำทุกปีๆ ละ 2 ครั้ง


นางสาวอาซีซ๊ะ สะมะแอ นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการพิเศษ ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสตูล กล่าวว่า การขับเคลื่อนประเพณีลอยเรือชาวเลอูรักลาโว้ยของจังหวัดสตูล เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการจัดประเพณีลอยเรืออูรักลาโว้ยของจังหวัดสตูล ร่วมกับชุมชนชาวเลอูรักลาโว้ยสตูล ประชาสัมพันธ์การจัดประเพณีลอยเรือของจังหวัดสตูล ส่งเสริมการท่องเที่ยวสนับสนุนข้อมูลองค์ความรู้เกี่ยวกับประเพณีลอยเรืออูรักลาโว้ย สำหรับต่อยอดงานวิชาการ การวิจัย และพัฒนาเพื่อการเรียนรู้ สืบสานและต่อยอดให้คงอยู่ต่อไป อีกทั้งเห็นว่างานประเพณีนี้เป็นหนึ่งในซอฟต์พาวเวอร์ของจังหวัดสตูล

การจัดพิธีลอยเรือของชาวเลอูรักลาโว้ยมีความเชื่อว่า เพื่อเป็นการเริ่มต้นชีวิตใหม่ โดยการสะเดาะเคราะห์ร้ายและโรคภัยไข้เจ็บให้หมดสิ้นไป เป็นการแสดงความเคารพบรรพบุรุษ ส่งวิญญาณกลับสู่แดนฆูนุงฌีรัย และล้างบาปอันเกิดจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตที่แล้วมา นอกจากนี้ ยังเป็นพิธีการเสี่ยงทายการทำมาหากินของชาวเลตลอดทั้งปี ชาวเลอุรักลาโว้ยสตูลมีความเชื่อว่าผู้ที่ผ่านพิธีลอยเรือจะเป็นผู้ที่ผ่านทุกข์โศกโรคภัยไข้เจ็บไปหมดแล้ว ชีวิตต่อไปข้างหน้าจะประสบแต่ความสุขและโชคดีในการทำมาหากิน


ประเพณีลอยเรือเป็นประเพณีของชาวเล ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในบริเวณหมู่เกาะแถบทะเลอันดามัน เป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ อันเกี่ยวเนื่องกับตำนาน ความเชื่อ ความเป็นมา วิถีชีวิต และทุกอย่างของชาวเลอูรักลาโว้ย โดยพิธีลอยเรือจะจัดขึ้น 2 ครั้งต่อปี ในวันพระจันทร์เต็มดวงของเดือน 6 และเดือน 11 ตามปฏิทินจันทรคติ มีระยะเวลาในการจัดงานครั้งละ 3 วัน

เรือที่ใช้ในพิธีเรียกว่า “ปลาจั๊ก” หรือ “เปอลาจั๊ก” ทำจากไม้ตีนเป็ดและไม้ระกำ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของ “ยาน” ที่จะนำวิญญาณของคนและสัตว์ไปอีกภพหนึ่ง ไม้ระกำทำหน้าที่นำเคราะห์โศกโรคภัยของสมาชิกในแต่ละครอบครัวเดินทางไปกับเรือ และเครื่องเซ่นไหว้ต่างๆ ที่จะให้วิญญาณบรรพบุรุษนำไปยังถิ่นฐานเดิมที่เรียกว่า “ฆูนุงฌีรัย” ซึ่งบุคคลสำคัญที่สุดในพิธีลอยเรือ คือ “โต๊ะหมอ” เป็นผู้นำทั้งทางโลกและทางธรรม เป็นบุคคลที่ชาวเลศรัทธา มีความแม่นยำในพิธีการ และสื่อสารกับวิญญาณบรรพบุรุษได้

ทั้งนี้ทางกรมส่งเสริมวัฒนธรรม จะดำเนินการประกาศในราชกิจจานุเบกษา และเผยแพร่คุณค่าสาระความสำคัญ รวมทั้งให้การส่งเสริมสนับสนุนในด้านต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการดำรงรักษาต่อไป






กำลังโหลดความคิดเห็น