xs
xsm
sm
md
lg

ต้อนรับก้าวใหม่ของการร่วมสร้าง “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โดย.. อู๋ ตงเหมย กงสุลใหญ่แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำสงขลา

เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา การประชุมสุดยอดความร่วมมือระหว่างประเทศ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ครั้งที่ 3 ได้ประสบความสำเร็จที่กรุงปักกิ่ง มีตัวแทนมากกว่า 10,000 คนจาก 151 ประเทศ และ 41 องค์กรระหว่างประเทศเข้าร่วม โดยที่ประชุมได้บรรลุผล 458 โครงการ มีมูลค่าการลงทุนรวม 97,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้ประกาศจะดำเนินการ 8 ประการเพื่อสนับสนุนการร่วมสร้างหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางอย่างมีคุณภาพสูง ซึ่งเป็นการเริ่มต้นก้าวใหม่ของการร่วมสร้าง “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ที่มีคุณภาพสูง

เป็นเวลาสิบปีแล้วที่ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงได้เสนอข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ในปี 2013 ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” มีความสอดคล้องกับยุคสมัยและยึดมั่นใน “3 หลักการ” (ร่วมหารือ ร่วมสร้าง และร่วมแบ่งปันประโยชน์) “3 แนวคิด” (เปิดกว้าง สีเขียว และโปร่งใส) และ “3 เป้าหมาย” (มาตรฐานสูง เกิดประโยชน์ต่อประชาชน และยั่งยืน) ส่งเสริมการสื่อสารเชิงนโยบาย การเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐาน การค้าไร้อุปสรรค การเชื่อมโยงทางการเงิน และการเชื่อมหัวใจประชาชน ส่งแรงผลักดันที่แข็งแกร่งต่อการส่งเสริมการพัฒนาร่วมกันของทุกประเทศ

จวบจนเดือนกรกฎาคม ปี 2023 จีนได้ลงนามในเอกสารความร่วมมือ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” กับกว่า 3 ใน 4 ของประเทศต่างๆ ทั่วโลกและองค์กรระหว่างประเทศมากกว่า 30 องค์กร ก่อตั้งกลไกความร่วมมือทวิภาคีมากกว่า 90 กลไก และก่อให้เกิดโครงการความร่วมมือมากกว่า 3,000 โครงการ จีนกับประเทศตามแนว “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ได้มีปริมาณการค้าสินค้าสะสมจาก 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐเป็น 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 8% ต่อปี มีการลงทุนแบบสองทางสะสมเกิน 2.70 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ สร้างรูปแบบการเชื่อมโยงที่เรียกว่า “หกระเบียง หกถนน หลายประเทศ และหลายท่าเรือ” สร้างงาน 420,000 ตำแหน่งให้แก่ประเทศตลอดเส้นทาง จากผลวิจัยของธนาคารโลกแสดงให้เห็นว่าข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางมีหวังจะช่วยให้ผู้คนเกือบ 40 ล้านคนทั่วโลกหลุดพ้นจากความยากจนในระยะกลางและระยะยาว

จีนและไทยเป็นเพื่อนบ้านที่ดี เพื่อนที่ดี ญาติที่ดี และหุ้นส่วนที่ดี ทั้งสองประเทศมีประวัติศาสตร์การไปมาหาสู่อันยาวนาน ประชาชนของทั้งสองประเทศได้สร้างมิตรภาพอันลึกซึ้ง จีนให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการพัฒนาความสัมพันธ์ฉันมิตรกับไทย ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ประสบความสำเร็จในการเยือนไทยเมื่อปีที่แล้ว ทั้งสองประเทศประกาศร่วมสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันระหว่างจีน-ไทยที่มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนมากขึ้น โดยเป็นการชี้ชัดถึงทิศทางความสัมพันธ์จีน-ไทยยุคใหม่ และเพิ่มเนื้อหาใหม่ๆ ให้กับคำกล่าวที่ว่า “จีน-ไทยใช่อื่นไกล พี่น้องกัน” ทั้งสองฝ่ายได้ลงนามใน “แผนความร่วมมือจีน-ไทยว่าด้วยการร่วมกันส่งเสริมการสร้างหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” อันเป็นการเขียนพิมพ์เขียวและชี้ทิศทางให้แก่การร่วมสร้างหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางที่มีคุณภาพสูงระหว่างสองประเทศ

ประเทศไทยตั้งอยู่บนจุดที่สำคัญของข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง และเป็นผู้มีส่วนร่วมและผู้รับประโยชน์จากการร่วมสร้างหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีไทย ได้เยือนจีนอย่างเป็นทางการในโอกาสเข้าร่วมการประชุมสุดยอดความร่วมมือระหว่างประเทศหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ครั้งที่ 3 และได้เยือนจีนอย่างเป็นทางการเป็นประเทศแรกนอกภูมิภาคอาเซียน

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา จีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของไทยมาโดยตลอด ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนมิถุนายนปีนี้ ปริมาณการค้าทวิภาคีระหว่างจีนและไทยมีมูลค่าสูงถึง 64,120 ล้านดอลลาร์สหรัฐ การส่งออกของจีนไปประเทศไทยมีมูลค่าถึง 38,350 ล้านดอลลาร์สหรัฐ การส่งออกของไทยไปจีนมีมูลค่าถึง 25,770 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในจำนวนนี้เป็นการส่งออกทุเรียนถึง 600,000 ตัน มูลค่า 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 20% และ 22% ตามลำดับ โครงการรถไฟความเร็วสูงจีน-ไทยเป็นแรงผลักดันอย่างมากต่อการส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยและตระหนักถึงการพัฒนาความเชื่อมโยงระหว่างจีน-ลาว-ไทย

ภาคใต้ของประเทศไทยเป็นที่ตั้งยุทธศาสตร์บนเส้นทางสายไหมทางทะเลมาตั้งแต่สมัยโบราณ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จีนและภาคใต้ของไทยยังคงกระชับความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว เศรษฐกิจ การค้า และวัฒนธรรมผ่านข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ภาคใต้ของไทยอุดมไปด้วยทรัพยากรการท่องเที่ยว จังหวัดภูเก็ต เกาะสมุย เกาะหลีเป๊ะ ล้วนเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมของนักท่องเที่ยวชาวจีน การส่งออกสินค้าเกษตรจากภาคใต้ของไทยไปประเทศจีนยังคงมีแนวโน้มการเติบโตที่ดี ยางพาราและผลไม้เมืองร้อนยังคงเข้าสู่ตลาดจีนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ประชาชนในภาคใต้ของไทยกำลังเรียนรู้ภาษาและวัฒนธรรมจีนอย่างกระตือรือร้น อีกทั้งสนใจภาพยนตร์ โทรทัศน์ ศิลปะ และวรรณกรรมจีนเพิ่มมากขึ้น

ข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเป็นอันดับแรก ส่งเสริมการพัฒนาและความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน และสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันสำหรับมวลมนุษยชาติ และนำมาซึ่งการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรมและประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตของผู้คนมาสู่ประเทศต่างๆ ตลอดเส้นทาง รวมถึงประเทศไทย

เรายินดีที่จะทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนของสังคมในภาคใต้ของประเทศไทยเพื่อกระชับความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว เศรษฐกิจ การค้า และวัฒนธรรม เพื่อต้อนรับก้าวใหม่ของการร่วมสร้าง “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” เพื่อเปิดพื้นที่ไร้ขีดจำกัดเพื่อความเจริญรุ่งเรืองและการพัฒนาของจีนและไทยร่วมกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น