คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้ โดย.. ไชยยงค์ มณีพิลึก
แม้รัฐบาลจะแสดงออกอย่างคึกคักในการแต่งตั้ง "คณะพูดคุยสันติสุข" แต่สำหรับผู้เขียนแล้วกลับมองเห็นว่า ยังไม่ใช่ “งานง่าย” สำหรับการจะแก้วิกฤต “ไฟใต้” ทั้งในด้านความมั่นคงและการพัฒนา เพราะปรากฏว่า เสียงตอบรับจากคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้กลับ “ไม่ปัง” อย่างที่ควรจะเป็น
ไม่มีเสียงตอบรับจากภาคประชาสังคม แม้กระทั่งที่อยู่ใต้ปีกทางการเมืองขอบีอาร์เอ็น ทั้งที่คณะพูดคุยสันติสุขชุดใหม่มีหัวหน้าคณะเป็น “พลเรือน” โดยมีตำแหน่งเป็นถึงรองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)
ไม่เพียงเท่านั้น การเร่งเครื่องเดินหน้ากระบวนการพูดคุยสันติสุขของรัฐบาลไทยกลับไม่มีทั้งแถลงการณ์หรือแค่เสียงตอบรับจากฝ่ายบีอาร์เอ็น แถมความเคลื่อนไหวจัดตั้งคณะพูดคุยเพื่อเตรียมเจรจากับตัวแทนรัฐบาลไทยก็ไม่ปรากฏเหมือนกับหลายๆ ครั้งที่ผ่านมา
การที่คนไทยได้รัฐบาลพลเรือนมาแทนที่รัฐบาลทหาร โดยเฉพาะมีนายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่ชื่อ นายศรษฐา ทวีสิน ไม่ต้องมียศ “นายพล” นำหน้า อันถือได้ว่าหลังสังคมไทยถูกกดทับมานาน รัฐบาลใหม่น่าจะเป็นความหวังของคนทั้งชาติได้ แต่สำหรับวิกฤตไฟใต้กลับไม่มีอะไรใหม่ที่จะเป็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ได้เลย
ก่อนหน้านี้ เมื่อรัฐบาลไทยเปลี่ยนตัวคณะพูดคุยสันติสุขคราใด ฝ่ายบีอาร์เอ็นจะออกแถลงการณ์แสดงความคิดเห็นแทบทันที ขณะที่บรรดา “กูรู” ไม่ว่าจะนักวิชาการ นักการทหาร สื่อหรือผู้ที่สนใจไฟใต้ก็จะออกมาวิเคราะห์วิจารณ์ แล้วมักตามด้วยสุ้มเสียงให้บีอาร์เอ็นต้องแต่งตั้งตัวแทนที่เป็น “ตัวจริง” มาเจรจาด้วยเท่านั้น
เช่นต้องการเห็น "กาแม เลาะเว" หรือฆอซาลี หรืออิหม่ามสะปอม ที่เชื่อว่าเป็น “ประธาน” รวมถึง "นิเซะ นิฮะ" หรือเปาะนิอาซิ ที่เชื่อว่าเป็น “เลขาธิการ” กระทั่ง อิหม่ามเฮง เจาะไอร้อง กับบือราเฮง ปะจุศาลา ที่เชื่อว่าเป็นแกนนำตัวจริง คนใดคนหนึ่งก็ได้ให้เป็นหัวหน้าคณะพูดคุยฝ่ายบีอาร์เอ็น เป็นต้น
โดยเฉพาะไม่ต้องการเห็นว่า ภายหลังการเจรจาเสร็จสิ้นไม่นาน ฝ่ายบีอาร์เอ็นก็ประกาศปลดคณะพูดคุยสันติสุขฝ่ายตนออกจากการเป็น “แกนนำ” ของขบวนการ เพราะนั่นเท่ากับต้องการประกาศว่า คนที่บีอาร์เอ็นส่งมาเจรจากับตัวแทนรัฐไทย “ไม่ใช่ตัวจริง” หรือไม่มีอำนาจตกลงใจในเงื่อนไขบนโต๊ะเจรจา
อีกประเด็นสำคัญที่ผู้เขียนมองเห็นคือ การเจรจาครั้งต่อไป “สาระ” และ “เงื่อนไข” ยังจะยึดโยงกับที่คุยกันมาโดยตลอดหรือไม่ ซึ่งช่วงเวลา 9 ปีของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ถูกมองว่า การเจรจาได้เดินไปถึง “ทางตัน” และถูกวิพากษ์วิจารณ์หนักว่า ทั้งฝ่ายรัฐบาลไทยกับฝ่ายบีอาร์เอ็นต่างเล่น “ปาหี่” ด้วยกันนั่นเอง
ในวันนี้ที่ นายฉัตรชัย บางชวด รองเลขาธิการ สมช. ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุข เขาเองยังถูกมองว่าเป็นตัวแทน “อำนาจเก่า” เพราะเคยร่วมในคณะพูดคุยภายใต้ทหารนำมาตลอด หากการเจรจาครั้งใหม่ยังยึดโยง “สาระ” และ “เงื่อนไข” เดิมๆ ก็ไม่น่าจะเกิดประโยชน์อะไร
ดังนั้น ต้องติดตามดูว่าคณะพูดคุยสันติสุขของไทยจะมี “ท่าที” และ “ถ้อยแถลง” ต่อการเจรจาครั้งใหม่จนสร้างความหวังได้หรือไม่ รวมทั้งต้องติดตามดูการทำความเข้าใจกับ “กลุ่มผู้เห็นต่างในพื้นที่” โดยเฉพาะภาคประชาสังคม ในฐานะ “แนวร่วมมุมกลับ” ที่ฝ่ายบีอาร์เอ็นจะได้ประโยชน์โดยไม่ต้องลงทุนลงแรง
ประเด็นการทำความเข้าใจกลุ่มผู้เห็นต่างในพื้นที่เป็นหน้าที่โดยตรงของ พล.ท.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ แม่ทัพน้อยที่ 4 ซึ่งได้รับมอบหมายจาก พล.ท.ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4/ผอ.รมน.ภาค 4 ให้นั่งควบในฐานะ ผอ.ศูนย์สันติวิธี กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า หน่วยงานที่รับผิดชอบหลัก
เวลานี้ นายฉัตรชัย บางชวด ในฐานะหัวหน้าคณะเจรจากับฝ่ายบีอาร์เอ็น ยังไม่มีถ้อยแถลงใดๆ ต่อสังคม ขณะที่ พล.ท.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ ในฐานะหัวหน้าคณะทำความเข้าใจกลุ่มกับผู้เห็นต่างในพื้นที่ก็ยังอยู่ระหว่าง “ตั้งไข่” ให้ศูนย์สันติวิธี ซึ่งคงต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง
ในส่วนของงานการพัฒนาและสังคมจิตวิทยา ที่รับผิดชอบโดย พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) แม้ถือเป็นผู้บริหารที่ยังหนุ่มแน่น แต่ก็เพิ่งถูกโอนย้ายข้ามห้วยมาจากกระทรวงยุติธรรม
สำหรับงานการพัฒนาและสังคมจิตวิทยาเป็นอีกองค์ประกอบสำคัญของมาตรการดับไฟใต้ และถือเป็นความหวังของคนในชายแดนใต้ด้วย เพราะมุ่งเน้นการ “พัฒนาพื้นที่” ควบคู่กับ “พัฒนาคน” เพื่อลดความเหลื่อมล้ำอันเป็นปัญหาเรื้อรัง แต่เวลานี้ก็มากมายไปด้วยอุปสรรคเช่นกัน
พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ หรือปลัดบิลลี่ แม้จะเป็นคนรุ่นใหม่ไฟแรง ที่คงปรับตัวได้รวดเร็วกับหน้าที่การงานใหม่ แต่ปัญหาสำคัญกับอยู่ที่จะฟื้น “ความเชื่อมั่น” ให้หน่วยงานกลับมาเป็นที่ยอมรับของประชาชนได้อย่างไร ซึ่งในอดีตคนชายแดนใต้ถึงกลับเคยกล่าวขวัญกันติดปากว่า “ศอ.บต.ของเรา”
ก็คงไม่ง่ายที่จะผลักดันให้ ศอ.บต.กลับมาเป็น “หน่วยงานอิสระ” เหมือนในอดีต หลังจากถูกรัฐบาลท็อปบูตที่ได้อำนาจมาจากการรัฐประหารใช้ “คำสั่ง คสช. 3 ฉบับ” ทั้ง “กดทับ” และ “บอนไซ" ให้หน่วยงานพลเรือนกลับกลายไปเป็นส่วนหนึ่งของหน่วยงานทหารอย่าง กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า
ทั้งที่ ศอ.บต.มีความสำคัญและมีพัฒนาการต่อเนื่องมายาวนานมาก จนถึงขั้นรัฐสภาออก พ.ร.บ.การบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ปี 2553 หรือ “พ.ร.บ.ศอ.บต.” มารองรับให้มีอำนาจ บทบาทและทำหน้าที่ได้เหมือน “รัฐบาลท้องถิ่น” ของแผ่นดินปลายด้ามขวาน
กฎหมายกำหนดให้ต้องมีสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนา ศอ.บต. ทำหน้าที่เหมือนกับ “สภาท้องถิ่น” ชี้แนะและกลั่นกรองนโยบายต่างๆ ของหน่วยงานให้เป็นไปตามความต้องการของประชาชนในพื้นที่และสังคมไทย
ภายหลังถูกกดทับและบอนไซทำให้เกิดปัญหาและเรื่องราวเล่าขานขึ้นกับ ศอ.บต.มากมาย แถมยังถูกปล่อยให้หมักหมมมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน เงื่อนปมปัญหาต่างๆ เหล่านี้ทำให้คนในหน่วยงานขาดขวัญและกำลังใจในการทำหน้าที่มานมนานด้วยเช่นกัน
ล่าสุด ระหว่างรัฐบาลไทยกับมาเลเซียกระชับความสัมพันธ์กันที่ อ.สะเดา จ.สงขลา ถือเป็นโอกาสดีที่ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกฯ ทำหน้าที่กำกับดูแล ศอ.บต.และประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) ได้ร่วมหารือกับรองนายกรัฐมนตรีมาเลเซียถึงการพัฒนาและแก้ปัญหาไฟใต้
ดูเหมือนจะพอมีหวังขึ้นมาก็จริง แต่ก็ไม่ง่ายนัก ที่สำคัญต้องใช้อดีตเป็นบทเรียนมากค่า หลายสิบปีมาแล้วที่ไทยเคยช่วยมาเลเซียแก้ปัญหาการสู้รบกับพรรคคอมมิวนิสต์มลายาสำเร็จ แต่หลายสิบปีเช่นกันที่ไทยเคยขอให้มาเลเซียช่วยแก้ปัญหาไฟใต้ ซึ่งจวบจนปัจจุบันนี้ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะประสบผลสำเร็จ
สำหรับใน “กระบวนการพูดคุยสันติสุข” ที่ดำเนินต่อเนื่องนับสิบปีมาแล้วก็เช่นเดียวกัน มาเลเซียยังได้รับหน้าที่ “คนกลาง” หรือผู้อำนวยความสะดวกการเจรจามาตลอด ทว่าคนไทยก็ยังแทบไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์แม้แต่น้อยสำหรับทุกมาตรการดับไฟใต้
ดังนั้น ทั้งเรื่อง “ความมั่นคง” และ “การพัฒนา” เพื่อแก้วิกฤตไฟใต้จึง “ไม่ง่ายเลย” ตราบใดที่กลไกรัฐของไทยเราเองยังทำหน้าที่แบบพิกลพิการ อีกทั้งยังปล่อยให้มาเลเซียทำหน้าที่เพื่อนบ้านในแบบที่ “ซ่อนดาบในรอยยิ้ม” ได้อย่างไม่ตะขิดตะขวงใจ