ยะลา - หนุ่มโพสต์เฟซบุ๊กตัดพ้อโรงพยาบาล พ่อเป็นผู้ป่วยนอนเตียง 14 ผู้ช่วยพยาบาลถือแฟ้มไปตรวจเตียง 12 ได้ค่าเบาหวานสูง 300 กว่า กลับออกมาเอาอินซูลีนฉีดพ่อแทนที่จะฉีดเตียง 12 สักพักตัวสั่นเกือบชัก ค่าเบาหวานตกเหลือ 68 ฉุนพยาบาลให้หาน้ำหวานกินเอง แฉ 20 ปีที่แล้วเคยฉีดยาผิดจนพี่สาวเสียชีวิต
วันนี้ (7 ธ.ค.) ผู้สื่อข่าวได้รับการร้องเรียนจากประชาชน ถึงการโพสต์ของผู้ใช้เฟซบุ๊กที่ใช้ชื่อว่า Maskan Nalika เมื่อวันที่ 5 ธ.ค. ถึงการพาพ่อมารักษาตัวที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในจังหวัดยะลา และเกิดความผิดพลาดในการรักษา โดยโพสต์ดังกล่าวมีข้อความว่า “#ไม่คิดว่าจะเกิดขึ้นครั้งที่สองกับครอบครัวตัวเอง เคสฉีดยาผิดเตียง เคสแรกพี่สาวผม พี่สาวผมอยู่เตียง 17 แต่คนป่วยอีกคนที่ต้องฉีดนั้นอยู่เตียง 27 แต่พยาบาลมาฉีดยาเตียงพี่สาวผม หลังจากฉีดแป๊บเดียวพี่สาวผมชัก หลังจากนั้นไม่นานก็เสียชีวิต ถึงขั้นเสียชีวิต (แต่พ่อผมไม่เอาเรื่อง)”
“วันนีเกิดเคสกับพ่อผมต่อ พ่อผมอยู่เตียง 14 ผู้ช่วยพยาบาลถูกสั่งให้มาเช็กเบาหวานที่เตียง 14 ซึ่งคือเตียงพ่อผม แต่ผู้ช่วยพยาบาลไปตรวจเบาหวานเตียง 12 ซึ่งผลออก 305 แล้วลงในสมุดบันทึกเตียง 14 ซึ่งเป็นเตียงพ่อผม”
“แล้วสักพักพยาบาลเอาอินซูลินมาฉีดที่ท้องของพ่อผม สักพักพ่อผมตัวสั่น เกือบชัก พยาบาลสั่งให้กินน้ำหวาน โดยให้ฝั่งผู้ป่วยหากินเอง ตอนนี้รอดูอาการ #หวังว่าเคสพ่อผมจะเป็นเคสสุดท้าย #โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในยะลา”
ผู้สื่อข่าวได้ติดต่อไปยังเจ้าของโพสต์ ทราบชื่อคือ นายมัสกานดา บือแน เป็นบุตรชายของผู้ป่วยคนดังกล่าว เปิดเผยว่า ผู้ช่วยพยาบาลเขาได้หยิบสมุดเพื่อที่จะมาตรวจเบาหวานของเตียงพ่อผม เตียง 14 เขาเอาสมุดนั้นเข้าไปตรวจคนไข้ของเตียง 12 ซึ่งจากเดิมที่เราได้คุยกับคนไข้เตียง 12 นั้น เขาบอกว่าปกติของเขาเบาหวานของเขาจะขึ้นสูง พอตรวจเสร็จได้บันทึกลงไว้สมุดของเตียง 14 ซึ่งเป็นเตียงของพ่อผมและเข้าไปข้างใน พอสักพักหนึ่ง พยาบาลได้เอาสมุดเล่มนั้นมาที่เตียงพ่อผมแล้วมาถามพ่อผมว่า “เปาะจิ เปาะจิไปกินอะไรมาทำไมเบาหวานถึงขึ้น 300 กว่า” ปกติของพ่อจะอยู่ประมาณ 117-127 ซึ่งก่อนหน้านี้ที่ตรวจ ที่ก่อนเขาจะมาเจาะนั้น พ่อ 127 เอง และอีกอย่างหนึ่งเปาะจิก็ไม่เคยที่จะใช้ยาอินซูลินที่ฉีดลงหน้าท้อง
“พยาบาลบอกว่าถ้าอย่างน้้นต้องฉีดอีกนิดหนึ่งเพราะว่าเบาหวานสูง พ่อผมปฏิเสธไปแล้วแต่พยาบาลยังฉีดลงที่ท้อง อยู่ประมาณสักพักหนึ่ง พ่อผมรู้สึกว่าอาการสั่นและใจเต้นผิดปกติ ก็เลยมีอาการอย่างนี้ พ่อผมให้น้องสาวผมชงกาแฟ และให้ใส่น้ำตาลเยอะๆ พ่อผมได้ดื่มกาแฟ แล้วอยู่สักพักหนึ่ง ผู้ช่วยพยาบาลอีกคนหนึ่งมาเข้ามาตรวจเบาหวานของพ่อผม ปรากฏว่าผลที่ออกมา 68 และบอกว่า เปาะจิ เปาะจิต้องกินน้ำหวานนะ น้ำเฮลบลูบอลประมานสักครึ่งแก้วหรือว่าแก้วหนึ่ง เพราะว่าเบาหวานเปาะจิต่ำมาก ผู้ช่วยคนนั้นก็เดินไป”
นายมัสกานดา กล่าวว่า แล้วสักพักหนึ่ง พยาบาลที่ฉีดยาอินซูลินหน้าท้องพ่อผมได้เดินเข้ามา และบอกว่าเปาะจิ หาน้ำเฮลบลูบอยก็ได้ให้ดื่ม เป็นการบอกครั้งที่ 2 และพ่อผมรู้สึกว่าเอะใจ ว่าเมื่อกี้หรือว่าฉีดผิด ปรากฏว่า พ่อผมได้คุยกับเตียง 12 เพราะว่าเมื่อกี้ตอนที่เขามาตรวจนั้นพ่อผมดูว่ามาตรวจเตียง 12 แต่ไม่ได้มาตรวจเตียงที่พ่อผมและไปถามเตียง 12 เตียง 12 บอกว่าออเมื่อกี้เขามาตรวจเบาหวาน ซึ่งปรากฏว่าออกมา 300 กว่า แต่ไม่ได้มาฉีดเขาแต่มาฉีดเปาะจิ เรื่องราวก็ประมาณนั้น
นายมัสกานดา กล่าวว่า หลังจากนั้นน้องสาวผมที่เฝ้านั้นบอกไปในกลุ่มของครอบครัว และพี่สาวผมก็รับทราบก็ได้มาที่โรงพยาบาลและก็ได้เข้าไปถามเกี่ยวกับพยาบาลที่ฉีด แรกๆ เขาก็ไม่ยอมรับ ต้องถามถึง 3 รอบ ถึงจะยอมรับและมาขอโทษ ผู้ช่วยพยายาลคนนั้นก็มาขอโทษที่เตียง ตอนนี้มีเพียงแค่เจ้าหน้าที่ร้องเรียนทุกข์ของโรงพยาบาลที่เข้ามาคุย ให้ผมลบโพสต์ก่อน แล้วเขาบอกว่า โรงพยาบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ ไม่ได้อยู่เฉยๆ ตอนนี้ก็กำลังประชุมหรือว่าเข้าที่ประชุมพูดคุยอยู่ก็เท่านั้น ความคืบหน้าผู้หลักผู้ใหญ่ทางโรงพยาบาล หรือว่า ผอ.ยังไม่ได้มาลงที่เตียงมาเจอครอบครัวผม
“เคสนี้ผมอยากจะฝากเป็นเคสตัวอย่าง เพราะว่าเท่าที่ผมเจอมากับครอบครัวผมเอง หรือว่ากับเพื่อนญาติหรือว่าเพื่อนหรือว่าคนที่อยู่รอบข้างผม ส่วนมากจะพูดออกมาประมาณนี้เหมือนกัน เพราะว่าจากเคสที่เกิดขึ้นมันสะท้อนกับคนอื่นๆ ที่เกิดขึ้นมาแล้ว เขาไม่สามารถที่จะไปร้องเรียนที่อื่นหรือว่าเขาไม่ทราบถึงขั้นตอนอะไรประมาณนี้ เขาไม่ได้ร้องเรียนแต่ว่ามันอยากให้เป็นเคสตัวอย่างมากกว่า อย่างน้อยๆ ช่วยให้การพัฒนาในการระบบทำงานได้ดีมากกว่านี้ ในส่วนเรื่องของพี่สาวที่เสียชีวิต ทางครอบครัวถือว่าเป็นประสงค์ของพระเจ้าที่ผ่านไป 20 ปีแล้ว ที่บ้านไม่อยากพูดถึง” นายมัสกานดา กล่าว
นายมัสกานดา กล่าวว่า ทั้งนี้ ได้ยื่นข้อเสนอให้โรงพยาบาล 6 ข้อคือ
1.ให้พยาบาลที่เกี่ยวข้อง (ผิดพลาด) มายอมรับและขอโทษอย่างเป็นทางการต่อหน้าผู้หลักผู้ใหญ่ของ รพ.
2.ต้องการชดใช้เยียวยาค่าเสียหาย
3.อบรมพยาบาล/เจ้าหน้าที่ให้สื่อสารพูดจากับคนไข้ในทางที่ดี ไม่ใช่ไปข่มขู่ผู้ป่วยหรือญาติผู้ป่วย
4.ในกรณีที่เกิดอาการหรือความผิดปกติของร่างกายอันมาจากผลข้างเคียง โรงพยาบาลจะต้องรับผิดชอบทั้งการรักษาและสินไหม (ออกหนังสือรับรองเป็นลายลักษณ์อักษร)
5.เป็นคนไข้พิเศษของ รพ.
6.ต้องให้ผู้บริหารออกมาแถลงต่อสาธารณชน ถึงความผิดพลาดที่เกิดขึ้นพร้อมแนวทางการแก้ไข
ด้าน พญ.นิตยา ภูวนานนท์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลยะลา เปิดเผยว่า ไม่สะดวกให้สัมภาษณ์ เพราะติดภารกิจต้อนรับอธิบดีกรมอนามัย ให้ข้อมูลได้เพียงว่า เบื้องต้น ตอนนี้เรามีทีมจัดการดูแลแก้ปัญหาเรียบร้อยแล้ว คนไข้ปลอดภัย ส่วนเรื่องของมาตรการต่างๆ ได้ดำเนินการในการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำ และเราได้ให้การดูแลผู้ป่วย ซึ่งมีทีมในการดูแลตรงนี้แล้ว
พญ.นิตยา กล่าวว่า ในช่วงบ่ายวันนี้ ทีมงานจะคุยกับญาติคนไข้ทั้งหมด ตั้งแต่เกิดเหตุ ทีมได้ดำเนินการหมดแล้ว ซึ่งบ่ายนี้หมอติดภารกิจต้องไปต้อนรับอธิบดีกรมอนามัย เดินทางมา ซึ่งไม่สะดวกที่จะให้สัมภาษณ์ โรงพยาบาลเข้าใจ เมื่อรับทราบเรื่องได้ดำเนินการแก้ปัญหาให้ผู้ป่วยและวางมาตรการของทางโรงพยาบาลเพื่อป้องกันไม่ให้มีเหตุการณ์ ส่วนผู้ป่วยเราดูแลเต็มที่แล้ว