คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้ โดย… ไชยยงค์ มณีพิลึก
ถือว่ารวดเร็วพอสมควรสำหรับ “รัฐบาลนิดหนึ่ง” กับการแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยืดเยื้อมานาน โดยมาตรการดับไฟใต้ระลอกใหม่ได้ใช้เงินไปแล้วเกือบ 200,000 ล้านบาท ซึ่งกำลังก้าวสู่ปีที่ 20 ในต้นปี 2567 หรืออีก 1 เดือนข้างหน้า
หลังมีการตั้ง “คณะกรรมาธิการสันติภาพ” เพื่อระดมความเห็นหาแนวทางดับไฟใต้มาได้ 1 เดือน เวลานี้มีสรุปไว้แล้วในหลายประเด็นสำคัญ หนึ่งในนั้นคือการขับเคลื่อน “กระบวนการพูดคุยสันติสุข” ต่อจากรัฐบาลลุงตู่ชุดที่แล้ว หลังต้องหยุดชะงักมานาน
อีกทั้งมีการเสนอให้หัวหน้าคณะพูดคุยสันติภาพเปลี่ยนจาก “ทหาร” มาเป็น “พลเรือน” ซึ่งนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกฯ ที่กำกับดูแลศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และปัญหาไฟใต้ก็เห็นด้วย เพราะสอดรับกับรัฐบาลพลเรือนที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกฯ และมีนายสุทิน คลังแสง เป็น รมว.กลาโหม
อย่างไรก็ดี มีข่าววงในระบุว่า ฝ่ายความมั่นคงพยายามที่ล็อบบี้ให้นายกฯ แต่งตั้ง “นายทหารนอกราชการ” เป็นหัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุข แต่รัฐบาลไม่ยอมอ่อนข้อให้ เพราะให้ไปมากแล้วทั้งในเรื่องการไม่แตะต้อง “กอ.รมน.” รวมถึงไม่ยุบและไม่เปลี่ยนแปลงโครงสร้าง “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า”
ทว่าทหารก็ไม่ละความพยายามเสนอให้อดีตแม่ทัพภาค 4 “บิ๊กเดฟ” หรือ “บิ๊กเกรียง” คนใดคนหนึ่งเป็นนั่งหัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสานต่องานเก่า แต่รัฐบาลไม่ตกลง เพราะกลัวภาพว่าอยู่ใต้อำนาจกองทัพ เช่นเดียวกับที่ไม่ให้ พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เป็น รมว.กลาโหม แต่ตั้งให้เป็นเลขานุการ รมว.กลาโหมแทน
หวยจึงมาออกที่ นายฉัตรชัย บางชวด รองเลขาธิการสภาความมั่นคง (สมช.) ได้เป็นหัวหน้าคณะพูดคุยแทน หลังต้องชวดเลขาธิการ สมช.ไป เพราะรัฐบาลต้องการปลอบใจ พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร.อาวุโสอันดับ 1 ที่ไม่ได้เป็น ผบ.ตร. เพื่อให้ได้ระดับ 11 เท่ากัน ซึ่งกองทัพก็พอใจเพราะเป็น “เด็กในคาถา” อยู่แล้ว
พูดถึงนายฉัตรชัย บางชวด ที่ได้ทำหน้าที่หัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุข ซึ่งเป็นอีกช่องทางแก้ปัญหาไฟใต้ตามแนวทางสันติวิธีนั้น ต้องยอมรับว่าแม้จะไม่ได้เป็นคีย์แมนในกระบวนการพูดคุยตลอด 9 ปีของรัฐบาลลุงตู่ แต่เขาได้ร่วมคณะในฐานะตัวแทน สมช.และถือเป็นผู้อยู่เบื้องหลังคนสำคัญมาโดยตลอด
นายฉัตรชัย บางชวด ถูกนินทามาโดยตลอดว่าเป็นคนของ “อำนาจเก่า” ที่มีผลประโยชน์กับเม็ดเงินที่ใช้ในการพูดคุยสันติสุขมาตลอดด้วยเช่นกัน ดังนั้น จึงต้องถือว่าเท่าทันเล่ห์เหลี่ยมทั้งฝ่ายบีอาร์เอ็นและมาเลเซียในฐานะคนกลาง รวมถึงองค์กรต่างชาติอย่างเจนีวาคอลล์ หรือคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC) แน่นอน
สถานะ “ข้าราชการพลเรือน” ของนายฉัตรชัย บางชวด แม้จะมีผู้ไม่เห็นด้วยที่จะให้ทำหน้าที่หัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุข แต่น่าจะเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด และเชื่อว่าน่าจะทำหน้าที่ได้อย่าง “ยืดหยุ่น” เพราะไม่อยู่ในกรอบอย่าง “นายทหาร” ที่ทุกอย่างต้องเป๊ะๆ ตามคำสั่งของ “นาย”
ประเด็นนี้จึงยังไม่อยากติเรือทั้งโกลน แต่จะขอดูก่อนว่าคณะพูดคุยสันติสุขชุดนี้ที่จะมีการ “กลั่นกรอง” บุคคลที่จะได้รับการแต่งตั้งให้เข้าร่วมเป็นคณะทำงานชุดต่างๆ มีใครบ้าง ซึ่งนั่นจะนำไปสู่การหนุนเสริมและสร้างความเชื่อมั่นว่ามีประสิทธิภาพได้แค่ไหน
ที่สำคัญคือ ต้องดูด้วยว่านายฉัตรชัย บางชวด มีอิสระในการตัดสินใจประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับฝ่ายบีอาร์เอ็นมากน้อยแค่ไหน และที่สำคัญฝ่ายมาเลเซียในฐานะผู้อำนวยความสะดวก แต่จริงๆ แล้วกลับเล่นบท “ผู้กำกับ” บีอาร์เอ็น เรื่องเหล่านี้เขาเข้าใจตื้นลึกหนาบางอย่างไรหรือไม่
ถ้านายฉัตรชัย บางชวด ไม่มีอิสระเพียงพอ เพราะยังต้องฟังคำสั่งจาก “หน่วยอื่น” แบบที่อดีต 4 หัวหน้าคณะพูดคุยที่เป็น “นายทหารเกษียณ” เคยทำมาตลอดกว่า 9 ปีภายใต้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั่นก็น่าจะสรุปได้ว่าคงไม่ต่างจากการ “พายเรือในอ่าง” เหมือนที่ผ่านๆ มา
ดังจะเห็นว่าการเปลี่ยนหัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขจากนายทหารเกษียณมาเป็นข้าราชพลเรือนในครั้งนี้ สำหรับความเชื่อมั่นของประชาชนแล้ว แทบจะไม่มีผลต่อความมั่นใจว่ากระบวนการพูดคุยจะมีมรรคมีผลให้ไฟใต้ยุติลงได้อย่างไร หรืออาจคาดเดาได้ว่าเป็นแค่การ “เปลี่ยนปก” ในขณะที่ “เนื้อใน” เหมือนเดิม
มีข้อน่าสังเกตต่อคณะพูดคุยที่ตั้งขึ้นใหม่ยังอยู่ในชื่อเดิมคือ “การพูดคุยสันติสุข” ไม่ใช่ “การเจรจาสันติภาพ” เพียงมีการตัด กอ.รมน. และสันติบาลส่วนกลางออก มีการยกเลิกหน่วยข่าว แต่ให้อำนาจ “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” ทำหน้าที่กรรมการและเลขานุการ อีกทั้งยังพบว่า “นายทหารสายอำนาจเก่า” เดิมๆ ยังคงมีบทบาทสำคัญ
แต่ก็ยังมีความหวังลึกๆ ว่าคณะพูดคุยสันติสุขชุดใหม่นี้น่าจะขับเคลื่อนให้เกิดมรรคผลได้มากกว่า 4 ชุดที่มีนายทหารเกษียณเป็นหัวหน้า เพราะในคำสั่งแต่งตั้งครั้งนี้มีคำว่า “ช่องทางอื่น” อยู่ด้วย ดังนั้นชุดใหม่ที่มีนายฉัตรชัย บางชวด เป็นผู้นำอาจจะใช้ช่องทางที่เป็นไปตาม “หลักการสากล” ก็เป็นไปได้
อย่างไรก็ตาม สำหรับ “ช่องทางอื่น” น่าจะยังหมายถึงรวมมีอีกช่องทางที่เป็น “ทางลับ” หรือ “ไม่เปิดเผย” ที่อาจจะมีหัวหน้าคณะที่ชื่อ พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี ผบ.ทหารสูงสุด คนที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ ไว้เนื้อเชื่อใจ หรือไม่อาจเป็น พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ที่มีสายสัมพันธ์อันดีกับองค์กรมุสลิมมากมาย
หรือแม้แต่ พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร อดีตเลขาธิการ ศอ.บต.ที่เพิ่งเกษียณไปก็อาจถูกดึงมาอยู่ในคำว่า “ช่องทางอื่น” สำหรับกระบวนการเจรจาสันติสุขในครั้งต่อไปก็เป็นได้
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น บนเวทีพูดคุยสันติสุขไม่ได้อยู่ที่ฝ่ายรัฐไทยเราที่มีความพร้อมและเป็นเอกภาพเท่านั้น ปัจจัยสำคัญยังอยู่ที่ฝ่ายบีอาร์เอ็นด้วย และจากการติดตามข่าววงในพบว่า บีอาร์เอ็นน่าจะ “อ่านทาง” รัฐบาลนิดหนึ่งได้แบบทะลุปรุโปร่ง จึงเฉยๆ ต่อรายชื่อคณะพูดคุยของฝ่ายรัฐบาลไทย แถมบีอาร์เอ็นยังใช้ตัวแทนชุดเดิมๆ ด้วย
ข้อสำคัญที่สุดของคณะการพูดคุยสันติสุขชุดล่าสุดนี้คือ ต้องปราศจาก “กลุ่มผลประโยชน์” ของ “นายพลนอกราชการ” ที่ถูกนินทามาตลอดกว่า 19 ปีที่ผ่านมา ประเด็นนี้ต่างหากที่นักวิชาการบางคนตั้งข้อสังเกตว่าทำไมที่ผ่านมาถูก “ลากยาว” เพราะการยุติปัญหาลงไฟใต้นั่นหมายถึงการสิ้นสุดโอกาสกอบโกยผลประโยชน์นั่นเอง