ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ชาวบ้านและเจ้าหน้าที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาปะช้าง-แหลมขามช่วยชีวิตวาฬเบลน์วิลล์ เพศเมีย ตัวใหญ่กว่า 4 เมตร น้ำหนกกว่า 500 กิโลกรัม ถูกคลื่นซัดมาเกยตื้นริมหาดปากบาง-สะกอม อ.เทพา จ.สงขลา คาดอาจพลัดหลงฝูง เป็นตัวแรกที่พบในไทยในรอบ 12 ปี
วานนี้ (3 ธ.ค.) ชาวบ้านและเจ้าหน้าที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาปะช้าง-แหลมขาม อ.เทพา จ.สงขลา ได้ช่วยวาฬตัวหนึ่งที่คลื่นซัดลอยมาเกยตื้นอยู่ที่ชายหาดปากบาง-สะกอม อ.เทพา กลับลงสู่น้ำทะเลอีกครั้ง โดยพยายามประคองไปยังที่มีน้ำลึกพอสมควร เพื่อให้ว่ายออกสู่ทะเลได้ แต่ปรากฏว่า วาฬตัวนี้ว่ายออกไปได้ราว 500 เมตร ก็วนกลับเข้าหาฝั่งอีกครั้ง คาดว่าน่าจะอ่อนแรงและอาจจะบาดเจ็บ และด้วยคลื่นลมในทะเลที่ยังค่อนข้างแรงเป็นระยะ เนื่องจากยังอยู่ในช่วงมรสุมของภาคใต้ฝั่งตะวันออก จึงถูกคลื่นซัดกลับเข้าหาฝั่งอีกครั้ง
เจ้าหน้าที่จึงประสานไปยังศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนล่าง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ให้เข้ามาช่วย โดยพบว่า เป็นวาฬเบลน์วิลล์ (Blainville’s beaked Whale) ชื่อวิทยาศาสตร์ Mesoplodon densirodtris เพศเมีย ความยาวลำตัว 4 เมตร ขนาดรอบลำตัว 2 เมตร น้ำหนักประมาณ 500 กิโลกรัม
สัตวแพทย์และเจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนล่าง ได้ทำเปลผ้าใบพยุงร่าวาฬให้ลอยอยู่ในน้ำได้ และใช้ผ้าชุบน้ำคลุมรักษาความชุ่มชื่นของผิวหนัง รวมทั้งคอยรดน้ำให้ความชื้นบริเวณครีบหลังและลำตัว พร้อมกับสับเปลี่ยนกันเฝ้าดูอาการตลอด 24 ชั่วโมง
จากนั้นทางเจ้าหน้าที่กลุ่มสัตว์หายาก พร้อมสัตวแพทย์ได้ทำการให้ยาซึม ก่อนที่จะทำการเคลื่อนย้ายมาบริเวณร่องน้ำด้านในริมหาดปากบาง-สะกอม หลังจากนั้นได้ทำการให้ยาลดการอักเสบ ยาฆ่าเชื้อ และให้น้ำเกลือ พร้อมทั้งเก็บตัวอย่างเลือดเพื่อนำส่งตรวจ ซึ่งการติดตามอาการจนถึงวันที่ 4 ธ.ค. พบว่า เริ่มมีอาการดีขึ้น จึงได้ให้อาหารเหลว และเฝ้าสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด
นอกจากนี้ ทางเจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนล่าง กำลังหาวิธีเคลื่อนย้ายวาฬตัวนี้ เพื่อไปทำการดูแลรักษาต่อที่ศูนย์เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของกรมประมง ที่หาดเก้าเส้ง อ.เมือง จ.สงขลา ซึ่งคาดว่าอาจจะทำการเคลื่อนย้ายในช่วงบ่ายหรือเย็นของวันนี้
สำหรับวาฬเบลน์วิลล์นั้น ปกติจะอยู่เพียงลำพัง หรือเป็นคู่ แต่อาจรวมฝูง 3-7 ตัว เหมือนกับฮาเร็ม โดยมีเพศผู้เพียงตัวเดียว และเพศเมียหลายตัว และมีการแพร่กระจายค่อนข้างกว้างในเขตร้อน และเขตอบอุ่น ส่วนมากจะพบไกลฝั่งบริเวณที่มีน้ำลึกประมาณ 200-1,000 ม. โดยประเทศไทยพบเพียงตัวอย่างเดียวเกยตื้นที่บ้านอ่าวน้ำบ่อ อ.เมือง จ.ภูเก็ต เมื่อเดือน พ.ย.2554 หรือเมื่อ 12 ปีที่ผ่านมา