xs
xsm
sm
md
lg

ชาวตรังบางรายมองลงทะเบียนแก้หนี้นอกระบบเป็นนโยบายเพ้อฝัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ตรัง - วันแรกลงทะเบียนแก้หนี้นอกระบบลูกหนี้ทยอยลงทะเบียนคึกคัก วาดฝันนโยบายรัฐบาลทำลืมตาอ้าปากได้ แต่บางส่วนมองว่าเป็นนโยบายเพ้อฝัน ติดเงื่อนไขเข้าถึงธนาคารรัฐได้ยากลำบาก

วันนี้ (1 ธ.ค.) บรรยากาศในการลงทะเบียนลูกหนี้นอกระบบในเขตอำเภอเมืองตรัง จ.ตรัง ได้มีบรรดาลูกหนี้นอกระบบเดินทางมาศูนย์ดำรงธรรมอำเภอเมืองตรัง เพื่อลงทะเบียนแก้หนี้นอกระบบ โดยอำเภอเมืองตรังได้จัดห้องประชุม และเจ้าหน้าที่ให้คำแนะนำขั้นตอนการกรอกเอกสารลงทะเบียน และวิธีลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชัน “ThaiD”


โดยลูกหนี้ซึ่งประกอบอาชีพค้าขายรายหนึ่ง เปิดเผยว่า ตนเป็นหนี้นอกระบบที่มีทั้งชำระเป็นรายเดือนและรายวัน รวม 60,000 บาท โดยเจ้าหนี้คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 20 ต่อเดือน ซึ่งในหนึ่งเดือนต้องชำระดอกเบี้ยพร้อมเงินต้น จำนวน 10,000 บาท ส่วนหนี้รายวันต้องชำระวันละ 600 บาท ถือเป็นภาระที่หนักและไม่รู้ว่าจะหมดหนี้เมื่อไหร่ เพราะที่ผ่านมาใช้วิธียืมจากเจ้าหนี้ 3-4 ราย เอาเงินจากรายหนึ่งมาปิดยอดหนี้อีกรายหนึ่ง หมุนเวียนกันแบบนี้ตลอด ซึ่งตนตกอยู่ในวังวนเช่นนี้มานาน 3 ปี พอรัฐบาลมีโครงการแก้หนี้ก็รีบมาลงทะเบียนหวังว่าจะได้ลืมตาอ้าปาก

ด้านเกษตรกรผู้เป็นลูกหนี้นอกระบบอีกราย กล่าวว่า เริ่มเป็นหนี้นอกระบบเมื่อ 2 ปีที่แล้ว เพราะราคายางพาราตกต่ำต้องกู้ยืมเงินดอกเบี้ยร้อยละ 10 จากเจ้าหนี้หลายราย ยอดกู้รายละ 4,000-6,000 บาท รวมกันประมาณ 40,000 บาท เป็นหนี้รายวันแล้ว ยังเป็นหนี้ค่าไฟฟ้ารายเดือนด้วย ตอนนี้ 3 เดือนแล้วยังไม่มีเงินจ่ายค่าไฟฟ้า มีรายได้ไม่พอใช้จ่าย ครอบครัวลำบากต้องกู้หนี้ นอกจากคาดหวังเรื่องแก้หนี้แล้ว ตนอยากให้รัฐบาลช่วยเรื่องเงินกู้สำหรับประกอบอาชีพด้วยอีกทางหนึ่ง


อย่างไรก็ตาม ยังมีชาวบ้านอีกบางส่วนที่เห็นว่านโยบายแก้หนี้ และการเข้าถึงบริการเงินกู้ธนาคารของรัฐบาลเป็นเรื่องที่เข้าถึงยาก โดย นายอติชาติ ไทรโยก อายุ 57 ปี พ่อค้าหมูปิ้ง กล่าวว่า ตนไม่ได้เป็นหนี้นอกระบบ แต่เป็นหนี้สถาบันการเงินของเอกชนพวกสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ แต่ตนมองว่าการแก้หนี้นอกระบบเป็นไปได้ยาก เพราะมองว่านโยบายดังกล่าวไม่มีความจริงใจ มีนโยบายออกมาแล้วให้ลูกหนี้ไปลงทะเบียน พอไปเชื่อมโยงกับธนาคารรัฐบาล ธนาคารมีเงื่อนไขมากมาย เพราะธนาคารเขาต้องการกำไร ไม่อยากรับความเสี่ยง เรื่องก็ถูกตีตกไป ชาวบ้านตาดำๆ ก็ต้องเป็นหนี้นอกระบบเหมือนเดิม

นายชัชวาลย์ จันทร์เชียวใช้ อายุ 50 ปี พ่อค้าไอศกรีม กล่าวว่า การเข้าถึงบริการธนาคารของรัฐบาลตามนโยบายที่รัฐบาลประกาศออกมา เป็นเรื่องที่เข้าถึงยากมาก ธนาคารจะมองที่หลักทรัพย์ค้ำประกัน บัญชีเงินเดือนบัญชีรายรับรายจ่ายเป็นหลัก ตนเคยไปขอกู้ตามนโยบายแก้จนต่างๆ แต่ติดต่อไปหลายเดือน ธนาคารขอเอกสารจำนวนมาก แต่สุดท้ายไม่ได้รับอนุมัติ ตนหาเช้ากินค่ำต้องเสียเวลาไปกับเรื่องนี้ ทุกวันนี้ตนไม่มีหนี้ หามาได้เท่าไหร่ก็ใช้เท่านั้น ใช้จ่ายอย่างประหยัด




กำลังโหลดความคิดเห็น