xs
xsm
sm
md
lg

ม.อ.ร่วมกับ IPF เปิดเวทีปาฐกถาพิเศษ โดยผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ ภายใต้หัวข้อ “The importance of science for peace-building”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) ร่วมกับ IPF เปิดเวทีปาฐกถาพิเศษ โดยผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ ภายใต้หัวข้อ “The importance of science for peace-building”

วันนี้ (29 พ.ย.) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) ร่วมกับคณะวิทยาศาสตร์ International Peace Foundation (IPF) และการสนับสนุนของ บริษัท มิตซุย ฟูโดซัง จำกัด โรงแรมดุสิตธานี แอนด์รีสอร์ท ธนาคารกสิกรไทย และ บีเอ็มดับเบิลยู เปิดปาฐกถาพิเศษโดยผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ Prof. Takaaki Kajita ในหัวข้อ “The importance of science for peace-building” ภายใต้กิจกรรม JAPAN-ASEAN BRIDGES Event Series ในโอกาสฉลองครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์ญี่ปุ่น-อาเซียน และในวาระครบรอบ 55 ปี แห่งการสถาปนามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในปี 2566 โดย ผศ. ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวเปิดงาน Mr. Uwe Morawetz, Founding Chairman of International Peace Foundation กล่าวรายงาน ศ. ดร.อัญชนา ประเทพ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ กล่าวต้อนรับ พร้อมด้วย คณะผู้บริหาร คณาจารย์ นักวิจัย บุคลากร นักศึกษา และนักเรียนในพื้นที่ เข้าร่วมรับฟังอย่างคับคั่ง ณ ห้องประชุม L1 และ L2 ศูนย์ปาฐกถาประดิษฐ์ เชยจิตร คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่


สำหรับ Prof. Takaaki Kajita เป็นนักฟิสิกส์ชาวญี่ปุ่นและเป็นศาสตราจารย์ประจำสถาบันวิจัยรังสีคอสมิกแห่งมหาวิทยาลัยโตเกียว ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์จากการค้นพบการเปลี่ยนรูปกลับไปกลับมาของนิวทริโนจากชนิดหนึ่งไปเป็นอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งพิสูจน์ว่าอนุภาคมูลฐานเหล่านั้นมีมวล

ทีมงานของท่านที่สถานีตรวจวัดนิวทริโน Super-Kamiokande พบว่าเมื่อรังสีคอสมิกกระทบชั้นบรรยากาศโลก นิวทริโนที่เกิดขึ้นจะเปลี่ยนรูปสลับไปมาระหว่างนิวทริโนสองชนิดก่อนที่จะไปถึงเครื่องตรวจวัดใต้ภูเขา Ikenoyama ใน Kamioka ประเทศญี่ปุ่น

การค้นพบนี้พิสูจน์การมีอยู่ของการเปลี่ยนรูปกลับไปกลับมาของนิวทริโน และชี้ให้เห็นความบกพร่องของแบบจำลองมาตรฐานซึ่งเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง โดยทฤษฏีนี้สันนิษฐานว่านิวทริโนไม่มีมวล

การทดลองของ Prof. Takaaki Kajita และเพื่อนร่วมงานได้กลายเป็นวิธีที่มีศักยภาพ ทรงพลัง ใช้งานได้หลากหลาย และมีประสิทธิภาพมากที่สุดในการศึกษาฟิสิกส์อนุภาค รวมถึงตัวจักรวาลเอง


ผศ.ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า กิจกรรมปาฐกถาพิเศษโดยผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ในครั้งนี้ เป็นการจัดงานครั้งที่สอง ภายใต้กิจกรรม JAPAN-ASEAN BRIDGES Event Series โดยมหาวิทยาลัยได้ร่วมกับ International Peace Foundation (IPF) และอีก 5 คณะ ร่วมเป็นเจ้าภาพจัดขึ้น เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองในวาระครบรอบ 55 ปี แห่งการสถาปนามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในปี 2566

“มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นผู้นำในด้านนวัตกรรม การวิจัย และการศึกษาระดับอุดมศึกษาทั้งในภาคใต้และประเทศ ซึ่งความสำเร็จนี้ได้มาจากคณาจารย์สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อน ม.อ. ตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง เชื่อว่าการจัดกิจกรรมในครั้งนี้จะสร้างการรับรู้แก่เครือข่ายการวิจัยทั่วโลก และเป็นก้าวสำคัญสู่การพัฒนาสังคมที่ดีขึ้น ตลอดจนสร้างแรงบันดาลใจให้แก่นักวิจัย คณาจารย์ นักศึกษา และผู้เข้าร่วมงานทุกคน สู่การยกระดับชุมชนและสังคมให้ดียิ่งขึ้นต่อไป”

ด้าน ศ.ดร.อัญชนา ประเทพ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ กล่าวว่า กิจกรรม JAPAN-ASEAN BRIDGES Event Series ที่คณะวิทยาศาสตร์เป็นเจ้าภาพร่วมจัดขึ้นในครั้งนี้ ถือเป็นการเฉลิมฉลองในวาระครบรอบ 55 ปี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งการปาฐกถาพิเศษโดยผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ Prof. Takaaki Kajita ในหัวข้อ “The importance of science for peace-building” จะสร้างแรงบันดาลใจให้กับคณาจารย์ บุคลากร และนักศึกษา เพื่อบรรลุเป้าหมายเครือข่ายวิทยาศาสตร์ในระดับนานาชาติ


ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เป็นเจ้าภาพจัดกิจกรรมปาฐกถาพิเศษโดยผู้ได้รับรางวัลโนเบลอีก 3 ครั้ง ได้แก่


คณะเภสัชศาสตร์ วันที่ 31 มกราคม 2567 เวลา 14.00 น. หัวข้อ Personalized medicine renolution : Are we going to cure all diseases and at what price? โดย Prof. Aaron Ciechanover ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมี ณ ห้องประชุมทองจันทร์ หงศ์ลดารมภ์ คณะแพทยศาสตร์


คณะเศรษฐศาสตร์ วันที่ 1 มีนาคม 2567 เวลา 14.00 น. หัวข้อ The prospects for global financial stability โดย Prof. Robert F. Engle III ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ณ ห้อง Conference Hall ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี ม.อ.


คณะแพทยศาสตร์ วันที่ 27 มีนาคม 2567 เวลา 15.00 น. หัวข้อ The role of basic science in biotechnology โดย Prof. Randy W.Schekman ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ ณ ห้องประชุมทองจันทร์ หงศ์ลดารมภ์ คณะแพทยศาสตร์






กำลังโหลดความคิดเห็น