xs
xsm
sm
md
lg

เวทีรับฟังความเห็นคืนชีพ “โรงแรมตรัง” พบ เสียงส่วนใหญ่เห็นด้วยให้รื้อทิ้ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ตรัง - เทศบาลนครตรัง จัดเวทีรับฟังความเห็นประชาชนคืนชีพ “โรงแรมตรัง” เสนอหลากหลาย ทั้งรีโนเวต-พัฒนา-รื้อทิ้ง บางรายอยากให้เลิกทำโรงแรมไปเลย เพราะที่ผ่านมาไม่เคยคุ้มค่า เสียงส่วนใหญ่เห็นด้วยให้รื้อ เหตุอาคารทรุดโทรมต่อยอดยาก

จากกระแสสังคมคนใน จ.ตรัง เกี่ยวกับกรณีโรงแรมตรัง หลังเพจ "100 ปี ทับเที่ยง" ซึ่งมีผู้กดไลก์ติดตามกว่า 2.2 หมื่นคน ได้โพสต์กระทู้ระบุ “คืนชีพโรงแรมตรัง โรงแรมหลังใหญ่ประจำเมืองของเทศบาลแห่งนี้ มีมาตั้งแต่ช่วงปี 2505-2506 สร้างเสร็จหลังหอนาฬิกาประมาณปีนึง รูปแบบอาคารเป็นการออกแบบสไตล์โมเดิร์นตามยุคสมัยที่มีลักษณะเรียบง่าย เน้นการใช้สอย มีระเบียงชมวิวเมือง เรียกว่าเป็นเมกะโปรเจกต์ของเมืองในยุคนั้นก็ว่าได้ แรกเริ่มเดิมทีก่อสร้างโซนหัวมุมก่อน และขยับขยายไปตามแกนถนนวิเศษกุล และพระราม 6 โดยก่อสร้างบนพื้นที่การประปาเก่า ที่ยังปรากฏหอพักน้ำคอนกรีตมาจนถึงทุกวันนี้ ปัจจุบันโรงแรมในเขตเมืองเก่าทับเที่ยงแห่งนี้ได้ปิดทำการเพื่อรอปรับปรุง เพื่อเปิดใช้ในอนาคตอันใกล้ และตามขั้นตอนจะมีการรับฟังความคิดเห็นของชาวตรังในฐานะเจ้าของบ้านว่าอยากให้โรงแรมตรัง ที่อยู่คู่แยกหอนาฬิกามากว่า 60 ปีนี้ กลับมาเป็นที่เชิดหน้าชูตาของเมืองยังไง เราร่วมกันให้ความเห็นกับทางเทศบาลได้ เพราะเขาใช้เงินภาษีจากประชาชน”

“อยากให้มี…เพื่อ… เสนอใต้เมนต์นี้ได้ครับ เพราะเขาจะเอามาเป็นโจทย์ในการปรับปรุงในอนาคต หรือหากสะดวก เชิญร่วมความเห็นได้ในวันจันทร์ที่ 27 พ.ย.นี้ 8.30-12.00 ณ โรงแรมวัฒนาพาร์คครับ” เพจระบุ

หลังจากโพสต์ดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไปไม่นาน มีบรรดาแฟนเพจเข้ามาแสดงความคิดเห็นมากกว่า 200 ความคิดเห็น และกดไลก์จำนวนมากเกือบพันครั้ง ความเห็นจากลูกเพจที่น่าสนใจ เช่น “รื้อโรงแรมทิ้งครับ เพราะที่ผ่านมาใครได้ประโยชน์ที่แท้จริง เทศบาลได้อะไรแค่ไหน ประชาชนได้อะไร ควรเปิดรับฟังเสียงประชาชนว่าถ้ารื้อแล้วควรทำเป็นอะไร ประโยชน์อะไร” “ไม่ควรรื้อแต่ควรปรับปรุงใหม่ครับ ตกแต่งให้ทันสมัย คงแบบเดิมไว้” “มันควรจะปรับให้เป็นแลนด์มาร์ก เหมือนโอซากาเป็นจุดติดป้ายไฟ ภายในตัวอาคารควรให้เอกชนเข้าประมูลเปิดเป็นห้าง หรือแหล่งชอปปิ้งพื้นเมือง เพื่อสอดรับกับหอนาฬิกา และพื้นที่ที่เทศบาลกำลังปรับปรุง...ด้านหน้าเปลี่ยนเป็นผนังกระจกใส...นึกฟิวว่าเป็นร้านสตาร์บัคส์ แล้วคนนั่งจิบกาแฟมองมาเห็นหอนาฬิกา ตรังจะน่าอยู่ขึ้นมาก” เป็นต้น


ล่าสุด วานนี้ (27 พ.ย.) ที่ห้องประชุมภัชรัตน์ ชั้น 2 โรงแรมวัฒนาพาร์ค อ.เมือง จ.ตรัง นายนิวรณ์ แสงวิสุทธิ์ รองนายกเทศมนตรีนครตรัง เป็นประธานในการประชุมรับฟังความคิดเห็นภาคประชาชน โครงการจ้างบริษัท ดีไว พลัส จำกัด เป็นบริษัทที่ปรึกษา เพื่อศึกษาให้ได้แนวทาง และแผนการดำเนินงานในการปรังปรุงอาคารโรงแรมตรัง เพื่อศึกษาความเหมาะสม ออกแบบและรับฟังความคิดเห็นภาคประชาชน เทศบาลนครตรัง โดยมีหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้นำชุมชน และประชาชนที่สนใจเข้าร่วมการประชุม จำนวน 150 คน

ทั้งนี้ ตัวแทนบริษัทที่ปรึกษาได้นำเสนอข้อมูลต่อที่ประชุมว่า โรงแรมตรังเป็นอาคารทรงคุณค่าที่อยู่คู่เมืองตรังมากว่า 50 ปี เป็นสถานที่ที่เคยมีชื่อเสียงของ จ.ตรัง ในอดีตและปัจจุบัน เป็นทรัพย์สินในความดูแล และการบริหารของเทศบาลนครตรัง อาคารโรงแรมตรังอยู่ในทำเลใจกลางเมือง แวดล้อมด้วยสิ่งก่อสร้างที่เป็นสัญลักษณ์ของเมือง ได้แก่ หอนาฬิกา สำนักงานเทศบาลนครตรัง รวมถึงอาคารโดยรอบ ซึ่งบ่งบอกถึงความเป็นอยู่ และวัฒนธรรมของ จ.ตรัง จากปัญหาในการดำเนินงานที่ผ่านมา สภาพปัจจุบันของโรงแรมตรังเกิดความทรุดโทรม โดยเฉพาะที่ผิวของอาคารด้านที่ติดกับถนน เกิดสภาพแตกร้าว ทำให้อาจเกิดอันตรายต่อผู้ที่สัญจรผ่านไปมาได้ นอกจากนั้น ยังมีบุคคลที่เข้าไปอาศัย และใช้พื้นที่อาคารไปในทางที่ไม่พึงประสงค์ เกิดความเสียหายต่อเทศบาล สูญเสียรายได้ที่ควรจะถูกนำมาใช้ในการพัฒนาสาธารณูปโภค สาธารณูปการ เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนในเขตเทศบาลนครตรัง


บริษัทที่ปรึกษาระบุอีกว่า เทศบาลนครตรัง จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการปรับปรุง และพัฒนาอาคารโรงแรมตรัง เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้สัญจร และสามารถรักษาทรัพย์สินของเทศบาลนครตรังไว้ได้ และเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประชาชน โดยสามารถนำทรัพย์สินที่มีอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม และประชาชนในเทศบาลนครตรัง เทศบาลนครตรัง จึงจำเป็นต้องดำเนินการศึกษาความเหมาะสม ออกแบบ และรับฟังความคิดเห็นภาคประชาชน ในการดำเนินการปรับปรุงและพัฒนาอาคารโรงแรมตรัง ทั้งทางด้านการตรวจสอบโครงสร้างอาคารเดิม เพื่อการปรับปรุงหรือซ่อมแซม การออกแบบการใช้พื้นที่ของอาคารเพื่อใช้ประโยชน์ของส่วนรวม โดยบางส่วนอาจใช้เพื่อการพัฒนาเชิงพาณิชย์ และการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม รวมถึงการคำนวณค่าเช่าพื้นที่ที่เหมาะสม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ได้แนวทาง และแผนการดำเนินงานในการปรับปรุงและพัฒนาอาคารโรงแรมตรัง ที่เหมาะสมกับทรัพยากรของเทศบาลนครตรัง และบริบทของ จ.ตรัง ในปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต ศึกษารูปแบบที่เหมาะสม และจัดทำรายการการดำเนินงานปรับปรุงและพัฒนาอาคารโรงแรมตรัง และสามารถจัดเตรียมงบประมาณในการดำเนินการได้อย่างเป็นระบบถูกต้อง รับฟังความคิดเห็น โดยจัดการมีส่วนร่วมของประชาชน และศึกษาความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจ และการลงทุนของโครงการ

โดยสรุปการเสนอความคิดเห็น ดังนี้ 1.โรงแรมควรเป็นห้องรับรอง และเป็นอารยสถาปัตย์ สำหรับกลุ่มเปราะบาง ออกแบบเพื่อทุกคนใช้งานได้จริง รับรองการใช้ชีวิตได้อย่างเท่าเทียม 2.ต้องให้ที่ปรึกษาตรวจสอบเรื่องข้อกฎหมายอย่างละเอียด 3.ไม่ควรสร้างโรงแรมใหม่หรือต่อเติม เนื่องจากหมดยุคสมัยแล้ว และไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน 4.ต้องมองในภาพรวมของพื้นที่ ตั้งแต่ขอบรั้วโรงเรียนสภาราชินี จนถึงโรงแรมตรัง โดยได้เสนอวิธีการ ได้แก่ ที่ดินแปลงแรกตั้งแต่แนวรั้วโรงเรียนสภาราชินี บริเวณสถานีดับเพลิง ทำที่จอดรถสำหรับประชาชน แปลงที่ 2 บริเวณศูนย์บริการสาธารณสุข ทำเป็นอาคารโรงแรม และแปลงที่ 3 บริเวณตัวอาคารโรงแรมตรัง ทำศูนย์อาหารและลานพักผ่อน และควรให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุน โดยปฏิบัติตามเงื่อนไขของเทศบาล แต่ไม่อยากให้เป็นการแข่งขันกับโรงแรมอื่นๆ ควรเจาะกลุ่มเป้าหมายอื่นๆ ที่ไม่เป็นการไปแย่งกลุ่มลูกค้าของโรงแรมที่มีอยู่เดิม โดยการออกแบบให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมของจังหวัด เน้นเรื่องสุขภาพ การเรียนรู้ ควรปรับปรุงให้โดดเด่น พัฒนาเป็นจุดเช็กอิน ยังคงเป็นย่านเมืองเก่า ส่งเสริมเป็นย่านคาเฟ่ ควรสร้างให้ยั่งยืน ส่งเสริมเป็นเมืองแห่งอาหาร ภัตตาคารประจำเมืองเชื่อมโยงกับอัตลักษณ์ เสนอรูปแบบการลงทุนให้เอกชนโดยไม่ต้องทุบตึก นอกจากนี้ ยังมีการเสนอเป็นอาคารที่จอดรถ ตลาดเซ็นเตอร์พอยท์ หรือจุดรถโดยสาร ถ้าโรงพยาบาลต้องการขยายพื้นที่ก็เปิดโอกาสให้ได้หารือพูดคุยกับเทศบาลต่อไป และการปรับปรุงก่อสร้างต้องคำนึงถึงการท่องเที่ยว สุขภาพ ไอที ความปลอดภัย ธรรมชาติ กินดีสุขภาพดี รวมถึงเห็นด้วยกับการสร้างที่จอดรถ ควรวิจัยทำการสำรวจตลาดก่อนการลงทุนอย่างมืออาชีพ


นายชัยวุฒิ สวัสดิรักษ์ ตัวแทนจากสภาอุตสาหกรรมจังหวัดตรัง และประธานชมรมตรังต้านโกง กล่าวว่า อยากให้มองภาพรวมของพื้นที่ทำเลทองของ จ.ตรัง การปรับปรุงพื้นที่อยากให้ปรับปรุงแบบภาพรวมที่ชัดเจน อย่ามองแค่เฉพาะตัวอาคารของโรงแรมตรัง แต่ให้มองทั้งหมดตั้งแต่โรงแรมตรัง พื้นที่สถานีดับเพลิง พื้นที่ศูนย์บริการสาธารสุข บ้านพักข้าราชการในซอยต้นมะขาม อยากให้รื้อทั้งแปลงแล้วสร้างใหม่ให้สวยงาม แปลงแรกที่สถานีดับเพลิงทำเป็นอาคารที่จอดรถ พื้นที่ถัดออกมาเป็นโรงแรมและศูนย์จำหน่ายสินค้าโอทอป และเป็นศูนย์บริการประชนของเทศบาลนครตรัง ส่วนที่โรงแรมตรังให้เป็นพื้นราบสำหรับทำกิจกรรม การทำโรงแรมและการบริหารพื้นที่เปิดโอกาสให้นักลงทุนในเครือโรงแรมชั้นนำมาลงทุน และทำสัญญาเช่าระยะยาว

ด้านนายสวัสดิ์ ฤทธิ์พันธุ์ ประธานชุมชนตรอกปลา เขตเทศบาลนครตรัง กล่าวว่า เทศบาลเป็นของประชาชน คิดว่าไม่ควรสร้างเป็นโรงแรม เพราะที่ผ่านมาไม่มีความคุ้มค่า และมีปัญหามาตลอด เช่น การเช่าที่มีการฟ้องร้องกัน ส่วนถนนในซอยต้นมะขามเป็นซอยแคบ หากมีการเปลี่ยนแปลงในพื้นโรงแรมตรัง ควรขยายถนนในซอยดังกล่าวด้วย

นางลดาวัลย์ ช่วยชาติ ผอ.การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานตรัง กล่าวว่า การขับเคลื่อนเมืองด้านการท่องเที่ยวในหลายแห่งมีปัญหาเรื่องที่จอดรถทั้งสิ้น ทั้งเมืองท่องเที่ยวในไทยและต่างประเทศ ดังนั้น การสร้างที่จอดรถ และการพัฒนาพื้นที่บริเวณโรงแรมตรัง ถือเป็นแม่เหล็กดึงดูดการท่องเที่ยว อยากให้มองการแข่งขันกับภายนอกเป็นสำคัญ ถ้ามองแต่เรื่องการแข่งขันภายใน จ.ตรัง จะไปไม่ถึงไหน ตนเห็นด้วยที่เทศบาลตรังให้เอกชนศึกษา ออกแบบ และก่อสร้างโดยเอกชน เพราะเอกชนรายใหญ่ที่จะมาบริหารพื้นที่เขามีความรู้ มีงานวิจัย การกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน มีข้อศึกษาทางธุรกิจก่อนการลงทุน เมื่อเกิดการลงทุน ประชาชนใน จ.ตรัง และจังหวัดใกล้เคียงจะได้รับประโยชน์ เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ รวมทั้งเกิดเส้นทางการท่องเที่ยวใหม่ในอนาคต

ขณะที่ นางผ่องศรี แก้วชูเสน รองประธานสภาเมืองเทศบาลนครตรัง กล่าวว่า การออกแบบควรให้ความสำคัญกับบริบทของการศึกษา การเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนด้วย รวมทั้งเป็นการออกแบบเพื่อคนเมือง เน้นเรื่องสุขภาพ ให้ความสำคัญกับคนทั้ง 3 เจเนอเรชัน และต้องปรับปรุงใหม่ให้โดดเด่น ทำให้เชื่อมโยงกับย่านเมืองเก่า มีคาเฟ่เป็นจุดเช็กอินที่สวยงาม ทำแล้วต้องขับเคลื่อนเดินต่อไปได้


อย่างไรก็ตาม สำหรับปัญหาการดำเนินธุรกิจโรงแรมตรัง โรงแรมเก่าแก่ใจกลางเมือง แลนด์มาร์กสำคัญของ จ.ตรัง หลังจากก่อนหน้านี้ในช่วงเดือนมีนาคม 2565 เทศบาลนครตรัง (ทน.ตรัง) พร้อมนิติกรเจ้าของสำนวน เจ้าพนักงานบังคับคดี สำนักงานบังคับคดีจังหวัดตรัง ยกขบวนเข้าปิดประกาศบังคับคดี ตามคำพิพากษาศาลจังหวัดตรัง คดีหมายเลขดำที่ พ.36/2561 และคดีหมายเลขแดงที่ พ.730/2562 เพื่อขับไล่บริษัท เกาะหวังเนเจอรัล รีสอร์ต จำกัด หรือบริษัท อ่าวสวรรค์ จำกัด เอกชนคู่สัญญาสัมปทานเช่าพื้นที่กับทางเทศบาล ในฐานะลูกหนี้ ตามคำพิพากษาและบริวาร พร้อมทั้งขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากอาคารโรงแรมตรัง เลขที่ 135/2-5 รวมทั้งอาคารพาณิชย์ เลขที่ 136/6, 136/8, 136/10, 136/12 ถนนวิเศษกุล ต.ทับเที่ยง อ.เมือง จ.ตรัง อันเป็นผลมาจากผู้เช่าไม่จ่ายค่าเช่าให้ทางเทศบาลมาหลายปี ความเสียหายขณะนั้นอยู่ที่ตัวเลข 50 ล้านบาท และยังมีเงินค่าเช่าต่างตอบแทนอีกปีหนึ่งกว่า 2.5 ล้านบาท ต้องจ่ายทุกเดือนกันยายนของทุกปี หลังจากนั้นเรื่องก็เงียบหายไป และโรงแรมตรังกลายมาเป็นกระแสสังคมคนใน จ.ตรัง อีกครั้ง หลังเพจ "100 ปี ทับเที่ยง" ซึ่งมีผู้กดไลก์ติดตามกว่า 2.2 หมื่นคน ได้โพสต์ถึงล่าสุด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากการประชุมรับฟังความคิดเห็นภาคประชาชนในครั้งนี้แล้ว ยังมีการจัดงานพบปะผู้บริหาร และผู้สนใจลงทุน เพื่อประชาสัมพันธ์ชี้แจงรายละเอียดโครงการให้กลุ่มเป้าหมายรับรู้ รับทราบข้อมูลที่ถูกต้อง เพื่อสัมภาษณ์ผู้สนใจลงทุนในระดับกลุ่มย่อย เพื่อรวบรวมข้อมูล ข้อคิดเห็น และประเมินความสนใจในการลงทุนให้สอดคล้องกับความต้องการของทุกฝ่าย โดยจะดำเนินการในช่วงเดือนมีนาคมถึงเมษายน 2567




กำลังโหลดความคิดเห็น