xs
xsm
sm
md
lg

เล่าเรื่องประชาธิปไตยคนจน-ธนาคารแพะหวะแก้จน (จบ)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ทัศนะ โดย.. รองศาสตราจารย์ ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ มหาวิทยาลัยทักษิณ
ในทุกสังคมล้วนมีกฎ กติกา มารยาทและการอยู่ร่วมสังคมนั้น “ชั้นชนใดเขียนกฎหมายก็ต้องเอื้อเพื่อชนนั้น” แน่นอนคงยากถึงแทบเป็นไปไม่ได้กับการที่คนจนจะลุกขึ้นมาเขียนกฎหมาย จึงต้องกลายเป็นเบี้ยงล่างมานานแสนนาน

คนจน และการกลายเป็นคนจน สัมพันธ์กับการแช่แข็ง วาทกรรรม และการลดทอนปัญหาที่สลับซับซ้อนอันเนื่องมาจากโครงสร้าง ความไม่เป็นธรรม ความเหลื่อมล้ำ และการค้ำจุนความอยุติธรรม ไว้เพียงศักยภาพของปัจเจกบุคคลเท่านั้น

โฆษณา “จน เครียด กินเหล้า” คือวาทกรรม ตลกร้าย ที่สร้างความรู้สึกการรับรู้ที่ผิดพลาดแก่สังคม ด้วยการผลักภาระความจน คนจน ให้เหลือเพียงความสามารถ ไม่สามารถของปัจเจกบุคคล อันเนื่องมาจากการตกอยู่ในวัฏจักร-วัฒนธรรมความจน แบบ “โง่ จน เจ็บ”

[มายาคติมากมายในชีวิตประจำวันที่มีส่วนในการสร้าง ตอก ตรึง ชุดการรับรู้ ทั้งโดยรู้ตัว ไม่รู้ตัว และการสมาทานผ่านระบบกลไก โครงสร้าง การศึกษา ความรู้ ครั้งหนึ่งข้าพเจ้ายังรู้สึกตลกขบขันกับโฆษณาผู้ใหญ่ลีกับโครงการผลิตภัณฑ์ชุมชน ที่ท่อนซุงขนาดใหญ่ ที่ชาวชุมชนมะรุมมะตุ้มไปมาจากเรือ ชุดรับแขก เขียง กระทั่งกลายมาเป็นไม้จิ้มฟัน ก่อนปิดท้ายด้วย Motto ว่า “ถ้าไร้ปัญญา ทุนที่ได้มาก็ไม่เหลือ เร่งสร้างทุนทางปัญญา...”]

ศาสตราจารย์อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า ความจนไม่ใช่เรื่องของกรรมเก่า ไม่ใช่เป็นเพราะว่าคนจนไม่ขยัน แต่มีข้อมูลมากมายที่ทำให้รู้กันอย่างดีว่า โครงสร้างของสังคมมีส่วนกำหนดปัญหาความยากจน “คนในสังคมรู้ แต่ไม่รู้สึก”

ทั้งเศร้า ทั้งหดหู่

“ธนาคารแพะเนื้อแบบเลี้ยงหวะ” คือ ความหวัง การลุกขึ้นมาปฏิบัติการสร้างธนาคารแพะ ด้วยฐานคิดของการแบ่งปัน และการสร้างกระดุมเชื่อมความร่วมมือภายในด้วยข้อตกลงที่กำหนดขึ้นจากฐานการมีส่วนร่วม “ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมรับผลประโยชน์” ที่เรียกว่า “ธรรมนูญชุมชน” จึงเป็นการแก้ไขปัญหาความยากจนที่ข้ามพ้นวาทกรรมความจน ด้วยปัญญา วิชาที่สั่งสม เติบโต งอกงามขึ้นจากสถานการณ์ที่กางขั้น ขึงตรึง-ซึ่งหน้า
มากไปกว่านั้นคือการสร้างความเป็นพลเมืองชุมชน ท้องถิ่น ที่พร้อมขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง

และการสร้าง “ประชาธิปไตยกินได้” จากการริเริ่มกิจกรรมโครงการจากจุดที่ยั่งยืน ทั้งยังยกระดับพัฒนาเป็นพื้นที่ต้นแบบ เป็นโมเดลแก้จน เป็นวิชาแพะหวะแก้จน ที่พร้อมขยายผลในแนวราบสู่พื้นที่ กลุ่มเป้าหมายอื่นๆ ที่มีบริบทเชิงพื้นที่ วิถี วัฒนธรรมชุมชน ศาสนา และชาติพันธุ์ เหมือนและใกล้ ไกล ไม่สิ้นสุด

ที่สำคัญอีกขั้นของการพัฒนา คือ การทำให้เกิดนโยบาย-แผนพัฒนาจังหวัด จากการขานรับความสำเร็จของธนาคาร การเคลื่อนเปลี่ยนโครงสร้างส่วนบนให้เข้าสู่การเป็นประชาธิปไตย การให้คุณค่า-มีจิตวิญญาณประชาธิปไตย และทำให้ผู้คน ชุมชน ปรากฏตัวขึ้นมาเป็นส่วนหนึ่งของ “การพัฒนาที่ถูกนับ” ทำให้เห็นหัวคนจน ไม่เฉพาะวันเข้าคูหา กาคะแนนเสียง-เลือกตั้งเท่านั้น

ประชาธิปไตยไม่ใช่เดินเข้าคูหา กาบัตรเลือกตั้ง แต่คือวิถี วัฒนธรรม ที่มีพื้นที่รูปธรรมเชิงคุณภาพรองรับ ขยับขยายต่อยอดกิจกรรมในเชิงลึกและกว้างผ่านการสร้าง “เครือข่ายใหม่” ในการจัดการตนเองจากข้างล่างอย่างยั่งยืน ด้วยโมเดลและนวัตกรรมแก้จนที่คิดค้นมากับมือ

มือเท้า-ซ้ายขวา ที่ห่วงหา เอื้ออาทร เข้าใจในความเป็นมนุษย์ ผู้พานพบกับความทุกข์ทนมาทั้งชีวิต เท่านั้นที่จะรังสรรค์นวัตกรรม ลบล้าง สร้างใหม่วาทกรรม มายาคติข้ามพ้น “ความจน”
.............

เพลงนกกรุงหัวจุก เสียงร้องควั่น ภูคา เปิดดังลั่นกลบเสียงบรรยากาศครึกครื้นวงน้ำชายามเช้า ย่านปากพะยูน มอเตอร์ไซค์ด้านหน้าเรียงราย กรงนกกรุงหัวจุก หลากแบบกรง แขวนง่ายๆ เสียงจ่อกกวิก กวิก กวิกๆๆๆ ประชันบทเพลง สายลมเบาๆ จากทะเลสาบพัดผ่าน ใคร? ขยับกะปิเยาะห์เข้าที่ ไม่รีรอเปิดเรื่องเล่าใหม่ในวงสนทนา

อ่านเรื่องเกี่ยวเนื่อง

เล่าเรื่องประชาธิปไตยคนจน-ธนาคารแพะหวะแก้จน (1)

เล่าเรื่องประชาธิปไตยคนจน-ธนาคารแพะหวะแก้จน (2)


กำลังโหลดความคิดเห็น