รมว.ยุติธรรมห่วงคนชายแดนใต้ถูกพิมพ์มือบันทึกประวัติอาชญากรเพียบ ทั้งที่ไม่ได้กระทำผิดจริง เหตุเพราะ “พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ” ลุยออกกฎหมายจัดระเบียบใหม่ พร้อมผลักดัน พ.ร.บ.สกัดการเลือกปฏิบัติ แฉตำรวจมีเอกสารพิมพ์มือ 17 ล้านรายการ เป็นอาชญากรจริงแค่ 3 ล้านราย
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และหัวหน้าพรรคประชาชาติ กล่าวถึงโครงการ “ลบ-ล้างประวัติอาชญากรรม” ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งทางกระทรวงยุติธรรมกำลังขยายผลเสนอร่างพระราชบัญญัติอาชญากรรม เพื่อจัดระบบประวัติอาชญากรรม โดยคำนึงถึงหลักการเคารพสิทธิมนุษยชนอย่างเคร่งครัด
แต่ในส่วนของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังมีปัญหาเพิ่มเติมเป็นกรณีพิเศษ เพราะมีแบล็กลิสต์จากการออกหมายเชิญตัว ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 หรือ “พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ” ซึ่งไม่มีการตั้งข้อหา แต่กลับมีการบันทึกประวัติและกระทบกับบุคคลที่มีชื่อติดแบล็กลิสต์ ทั้งการเดินทางออกนอกประเทศและการปกครองกิจการงานต่างๆ
พ.ต.อ.ทวี กล่าวเรื่องนี้ว่า ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีคนจำนวนมากที่ถูกจับกุมและถูกพิมพ์มือ ในกลุ่มบุคคลที่ถูกพิมพ์มือ จะถูกบันทึกในประวัติอาชญากร ซึ่งในรัฐธรรมนูญบอกว่า ถ้าศาลยังไม่ตัดสินถึงที่สุดว่ามีความผิด เราจะเป็นอาชญากรไม่ได้ ยังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ แต่ในความเป็นจริงกลับพบว่ามีคนจำนวนมาก โดยเฉพาะในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ มีคนถูกพิมพ์มือเยอะ และถูกส่งไปที่ทะเบียนประวัติอาชญากร ทั้งที่ศาลยังไม่ตัดสินว่าผิด
“ขณะนี้เราจะแยกว่าบุคคลที่จะอยู่ในทะเบียนประวัติในลักษณะนั้นได้ควรจะมีคำพิพากษา เช่น ศาลฎีกาตัดสินถึงที่สุด หรือคดีสิ้นสุดแล้วว่ามีความผิด แต่ระหว่างถูกจับกุม ตำรวจสั่งไม่ฟ้อง อัยการสั่งไม่ฟ้อง หรือศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ หรือศาลฎีกายกฟ้อง จะมีประวัติอาชญากรไม่ได้ เพราะถือเป็นการเลือกปฏิบัติ ทำให้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเขาหมดไป”
“ส่วนคนที่ศาลตัดสินแล้วว่ามีความผิด เราควรจะแยกเพื่อเป็นการบันทึก แต่ไม่ควรบั่นทอนคนก้าวพลาด ซึ่งขณะนี้ทางกระทรวงยุติธรรมได้นำเสนอพระราชบัญญัติการขจัดการเลือกปฏิบัติ รวมถึงผู้พ้นโทษด้วย คนกลุ่มนี้จะได้รับประโยชน์ ห้ามมีการเลือกปฏิบัติ หรือมองว่าเคยถูกลงโทษแล้วมากีดกันเรื่องการทำงานต่างๆ จะกระทำไม่ได้ เราถือว่าเป็นเรื่องหลักการ เรื่องหลักนิติธรรม ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความเสมอภาคของบุคคลต้องได้รับการคุ้มครอง” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ระบุ
พ.ต.อ.ทวี บอกด้วยว่า กระทรวงยุติธรรมได้เสนอร่าง พ.ร.บ.ขจัดการเลือกปฏิบัติ และ ร่าง พ.ร.บ.ประวัติอาชญากรรม เพื่อจัดการปัญหานี้อย่างเป็นระบบ
“วันนี้ทราบว่าที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีผู้ถูกพิมพ์มือไว้ประมาณ 17 ล้านรายการ คิดเป็นจำนวนคนประมาณ 13 ล้านคน แต่เป็นคนที่กระทำผิดจริงราว 3 ล้านคน ทำให้คนประมาณ 10 ล้านคนถูกเลือกปฏิบัติ ถูกมองเป็นอาชญากร ทั้งๆ ที่เขาเป็นคนบริสุทธิ์” พ.ต.อ.ทวี กล่าว