xs
xsm
sm
md
lg

ตำน้ำพริกละลายทะเล! ยกความเห็น บ.เดินเรือ รายงานสภาพัฒน์-จุฬาฯ “แลนด์บริดจ์ชุมพร-ระนอง” ไม่น่าจะไปรอด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าวภาคใต้ - “อดีต บก.นิตยสารสารคดี” โพสต์เฟซบุ๊กอ้างความเห็นบริษัทเดินเรือขนส่งสินค้าและรายงานของสภาพัฒน์-จุฬาฯ ชี้แลนด์บริดจ์ชุมพร-ระนองไม่น่าจะไปรอด คาดงบ 1 ล้านล้านบาทเป็นการตำน้ำพริกละลายทะเล

วันนี้ (3 พ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ ผู้ร่วมก่อตั้งและอดีตบรรณาธิการบริหารนิตยสารสารคดี ได้โพสต์ในเฟซบุ๊กเกี่ยวกับโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง เพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน หรือโครงการแลนด์บริดจ์ชุมพร-ระนอง โดยใช้หัวข้อว่า “แลนด์บริดจ์กับความเห็นของลูกค้าตัวจริง บริษัทเดินเรือขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ”

เขาระบุว่า ​“ผู้มีอำนาจฝันไปเรื่อย ไม่มีบริษัทเดินเรือขนส่งระดับโลกไหนจะมาใช้แลนด์บริดจ์นี้หรอก เพราะค่าใช้จ่ายสูงมาก” ผู้บริหารสายการเดินเรือระหว่างประเทศหลายคนที่เป็นลูกค้าโดยตรงของโครงการนี้เล่าให้ผู้เขียนฟังตรงกัน

​“ผลของการศึกษาของจุฬาฯ ก็ออกมาแล้วว่า ลงทุนไปหนึ่งล้านล้านบาทไม่คุ้มค่าแน่นอน แต่รัฐบาลไม่ฟัง

​เมื่อวันที่ 16 ต.ค.2566 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบเดินหน้าโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง เพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (โครงการแลนด์บริดจ์ชุมพร-ระนอง) ด้วยมูลค่าการลงทุนโครงการนี้มากถึง 1 ล้านล้านบาท ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ความกังวลถึงความไม่คุ้มค่าของโครงการนี้


ผู้บริหารสายการเดินเรือให้ข้อมูลผู้เขียนต่อว่า “ลองคิดดูสิ หากเรือสินค้ามาจอดที่ท่าเรือชุมพร ต้องยกตู้คอนเทนเนอร์ลงจากเรือที่ชุมพร แล้วยกขึ้นรถไฟไประนอง ยกลงจากรถไฟ ยกไปขึ้นเรือที่ระนองอีก ยกตู้ 4 ครั้ง โดนไป 4,000-5,000 บาทต่อตู้ ไหนจะค่าภาระท่าเรือ 2 แห่ง ค่าขนส่งทางรถไฟอีกประมาณ 100 กิโลเมตร รวมแล้วค่าใช้จ่ายเยอะมาก ประมาณ 10,000-12,000 บาทต่อตู้ (US$ 300-400)

ปัจจุบันนี้เรือขนส่งสินค้าจะมีระวางขับน้ำตั้งแต่ 100,000-200,000 ตัน ยิ่งลำใหญ่ต้นทุนขนส่งสินค้าจะถูกลง สมมติว่าเรือสินค้าขนาดระวาง 100,000 ตัน จะบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ได้ 10,000 ตู้ หรือเฉลี่ยตู้คอนเทนเนอร์ละ 10 ตัน ถ้ามีเรือเทียบท่าเรือระนองวันละ 10 ลำ ก็หมายความว่ามีตู้ต้องยกขึ้นรถไฟ 100,000 ตู้ ขณะที่รถไฟแต่ละขบวนขนได้ประมาณ 500 ตู้คอนเทนเนอร์ ลองคิดดูสิว่าจะเสียเวลากี่วันกว่าจะขนขึ้นขนลง

ขณะที่เรือไปถ่ายลำที่สิงคโปร์หรือมาเลย์เสียค่าใช้จ่ายตู้ละ US$ 80-100 เรือสินค้าลำหนึ่งขนตู้คอนเทนเนอร์ประมาณ 10,000-20,000 ตู้ ดังนั้นค่าใช้จ่ายถูกกว่ากันลำละหลายสิบล้านบาท และกว่าจะขนถ่ายตู้นับหมื่นตู้ขึ้นลงรถไฟ และขนส่งตู้ระหว่างชุมพร-ระนองคงใช้เวลาประมาณ 5-10 วัน ไม่ได้ประหยัดเวลาเลย

สรุปคือระยะเวลาก็ไม่ได้เร็วกว่า แต่ยังเสียค่าขนส่งเพิ่มขึ้นอีก แล้วลูกค้าเรือสินค้าที่ไหนจะมา

“ความเห็นของผมคือโครงการนี้ไม่น่าจะไปรอด ตำน้ำพริกละลายทะเลเปล่าๆ และคนในวงการเดินเรือส่วนใหญ่ส่ายหน้ากันมานานแล้วกับโครงการนี้ และอีกประการหนึ่ง รัฐบาลก็กำลังสร้างท่าเรือแหลมฉบังเฟสสาม เป็นท่าเรือขนาดใหญ่ เรือกินน้ำลึกเข้าจอดเทียบท่าได้ แล้วจะไม่เป็นการแย่งลูกค้ากันเหรอ”

ต่อคำถามที่ว่าแล้วที่จะมีนิคมอุตสาหกรรมเกิดขึ้นหลังท่าเรือและจะทำให้เกิดพื้นที่เชิงพาณิชย์ตามมา พวกเขามีความเห็นอย่างไร


“การจะมีอุตสาหกรรมหลังท่าเรือตามมา มันจะต้องมีตู้ขนส่งสินค้าจำนวนมากวิ่งผ่าน เกิดความหลากหลายของสินค้า จึงจะเป็นการดึงดูดให้เกิดอุตสาหกรรม แต่จะมีจริงหรือ เราเคยสร้างท่าเรือระนอง บอกว่าจะมีอุตสาหกรรมตามมา แต่คุณไปดูท่าเรือระนองเปิดมาสิบกว่าปี แทบไม่มีใครใช้ ตอนนี้ก็แทบจะร้างแล้ว”

ขณะที่รายงานฉบับสมบรูณ์ “โครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการเชื่อมโยงเส้นทางขนส่งทางทะเลฝั่งอ่าวไทย” จัดทำโดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ ‘สภาพัฒน์’ และศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มีข้อสรุปว่า โครงการแลนด์บริดจ์ ชุมพร-ระนอง ไม่ใช่ทางเลือกที่ดีที่สุด

แต่เสนอว่า “...ทางเลือกที่ ‘เหมาะสมที่สุด’ ในการเชื่อมโยงเส้นทางขนส่งทางทะเลฝั่งอ่าวไทย-อันดามัน คือ การให้ความสำคัญกับการสร้างเส้นทางเข้าถึงพื้นที่พัฒนาตามแผนปฏิบัติการการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้อย่างยั่งยืน (SEC) โดยเน้นการใช้ประโยชน์จากสิ่งที่มีอยู่และดำเนินการพัฒนาต่อจากสิ่งที่มีอยู่แล้วเป็นหลัก เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด…”

​โครงการลงทุน 1 ล้านล้านบาท คุ้มค่าจริงหรือ คำตอบมีอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าจะรับรู้หรือไม่


กำลังโหลดความคิดเห็น