xs
xsm
sm
md
lg

ยิ่งใหญ่! ประเพณีลากพระและตักบาตรเทโวเมืองสงขลา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - จังหวัดสงขลาจัดงานประเพณีลากพระและตักบาตรเทโว ประจำปี 2566 อย่างยิ่งใหญ่ ทั้งยังมีการประกวดเรือพระชิงถ้วยพระราชทาน และมีเรือพระจากวัดต่างๆ จอดให้ประชาชนได้ร่วมทำบุญที่ถนนสระบัว แหลมสมิหลา

วันนี้ (30 ต.ค.) ที่สนามกีฬาติณสูลานนท์ อ.เมืองสงขลา จ.สงขลา นายสมนึก พรหมเขียว ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นประธานในพิธีเปิดงานประเพณีลากพระและตักบาตรเทโว ประจำปี 2566 ซึ่งจัดโดยเทศบาลนครสงขลา ร่วมกับจังหวัดสงขลา องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ มีประชาชนในพื้นที่ รวมถึงนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติให้ความสนใจเข้าร่วมอย่างเนืองแน่น

โดยกิจกรรมในวันนี้มีการประกวดเรือพระ 2 ประเภท ได้แก่ ประเภทประเพณีนิยม และประเภทอนุรักษ์ท้องถิ่น ชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และการประกวดขบวนแห่เรือพระ ชิงถ้วยผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ซึ่งในปีนี้เรือพระจากวัดต่างๆ จะจอดเรือพระให้ประชาชนได้ร่วมทำบุญที่ถนนสระบัว แหลมสมิหลา พร้อมทั้งมีพิธีสมโภชเรือพระในช่วงค่ำของวันนี้ด้วย


สำหรับการจัดงานประเพณีลากพระ เทศบาลนครสงขลา ได้จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี เริ่มตั้งแต่ปี 2525 เป็นต้นมา เพื่อเป็นการส่งเสริมและอนุรักษ์สืบสานวัฒนธรรมประเพณีลากพระให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรม ประเพณีอันดีงามของจังหวัดสงขลา

ขณะเดียวกัน ที่วัดทีมิตร ม.2 ต.คลองปียะ อ.จะนะ จ.สงขลา และเป็นวัดที่มีความสำคัญอีกวัดหนึ่งของ จ.สงขลา ที่มีเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และมีประวัติความเป็นมาอย่างยาวนานกว่า 206 ปี โดยทางองค์การบริหารส่วนตำบลคลองเปียะ และทางอำเภอจะนะ ได้จัดกิจกรรมตักบาตรเทโว ประจำปี 2566 ขึ้น โดยมีชาวบ้านนำข้าวสารอาหารแห้งมาร่วมพิธีตักบาตรเทโวกันหลายร้อยคน โดยมีตำรวจ และ ตชด. คอยอำนวยความสะดวก และดูแลความปลอดภัย

ซึ่งหลังจากพิธีเปิดได้มีการเคลื่อนขบวนแห่พระพุทธรูป และขบวนนางรำลงมาจากบันไดนาคบนเจดีย์ และตามด้วยพระสงฆ์ 10 รูป จากวัดต่างๆ ใน ต.คลองเปียะ ลงมารับบิณฑบาตจากชาวบ้าน โดยในปีนี้ได้มีฝนตกลงมาโปรยปรายแทบบตลอดทั้งช่วงของการตักบาตรเทโว แต่ทั้งพระสงฆ์และชาวบ้านยังพร้อมใจกันอยู่ร่วมจนเสร็จพิธี


ขณะที่เรือพระของวัดต่างๆ ได้มีการนำมาจอดในวัดด้วย เพื่อให้ชาวได้เข้ามาร่วมทำบุญ เพื่อประพรมน้ำมนต์ เพื่อความเป็นสิริมงคลกับทั้งตนเองและครอบครัว ก่อนที่จะเคลื่อนเรือพระไปตามเส้นทางในหมู่บ้าน ชุมชน เละตามถนนหนทางต่างๆ เพื่อให้ชาวบ้านที่อยู่รายรอบได้มีโอกาสได้ร่วมทำบุญในช่วงเทศกาลออกพรรษา และตักบาตรเทโว

ประเพณีลากพระของชาวภาคใต้เป็นการสมมติตามเหตุการณ์ในพุทธประวัติ เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าเสด็จกลับจากสรวงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์มาโลกมนุษย์ ในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 โดยอัญเชิญพระพุทธรูปยืนเรียกว่า “พระลาก” (พระปางอุ้มบาตร หรือปางประทานอภัย) ขึ้นประดิษฐานเหนือบุษบกที่ตั้งอยู่บนพาหนะ ซึ่งทำเป็นรูปเรือหรือพญานาคและประดับตกแต่งเสมือนอย่างปราสาทมณฑปอย่างวิจิตร แล้วแห่แหนสมมติแทนพระพุทธองค์ด้วยการลากไปตามสถานที่ต่างๆ

ถ้าท้องถิ่นใดอยู่ริมน้ำหรือลำคลองจะลากพระทางน้ำ หากท้องถิ่นใดห่างไกลจากแม่น้ำลำคลอง จะลากพระทางบก แล้วแต่สภาพภูมิประเทศจะเหมาะแก่การลากประเภทใดมากกว่ากัน ขบวนลากพระนี้จึงเป็นประเพณีที่ชาวภาคใต้เรียกว่า “ประเพณีลากพระหรือชักพระ” มาจนถึงปัจจุบัน








กำลังโหลดความคิดเห็น