xs
xsm
sm
md
lg

“พิมพ์ภัทรา” พบภาคอุตสาหกรรมตรัง “สภาอุตฯ ใต้” ประสานเสียงหนุนแลนด์บริดจ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ตรัง - “ส ส.พิมพ์ภัทรา” ลงพื้นที่ จ.ตรัง พบภาคอุตสาหกรรม “สภาอุตฯ ใต้” ประสานเสียงหนุนแลนด์บริดจ์ ช่วยลดต้นทุนขนส่ง ส.ส.ตรังร่วมหนุน ชงขอพัฒนาแรงงานขั้นสูงรับมือค่าแรง 400 บาท “รมว.อุตสาหกรรม” ลั่นรัฐบาลเอาแน่ สำรวจเส้นทางแลนด์บริดจ์ระนอง-ชุมพรแล้ว

วานนี้ (24 ต.ค.) ที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดตรัง น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วย นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายศิริพัฒน์ พัฒกุล ว่าที่ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายวิษณุ ทับเที่ยง หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม นายถนอมพงศ์ หลีกภัย ส.ส.ตรัง เขต 1 พรรครวมไทยสร้างชาติ นายนิติศักดิ์ ธรรมเพชร ส.ส.พัทลุง พรรครวมไทยสร้างชาติ พร้อมคณะเดินทางลงพื้นที่ตรวจราชการ และมอบนโยบายที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดตรัง โดยมี นายทรงกรด สว่างวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง นางพรทิพา อัครสุต อุตสาหกรรมจังหวัดตรัง นายอดิศร ตันเองชวน ประธานสภาอุตสาหกรรมภาคใต้ นายธนพจน์ ศุภศรี ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดตรัง นายสุธรรม เศรษฐพิศาล ประธานหอการค้าจังหวัดตรัง คณะกรรมการสภาอุตสาหกรรมจังหวัดตรัง ตลอดจนอุตสาหกรรมจังหวัดกลุ่มอันดามัน ให้การต้อนรับคับคั่ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น.ส.พิมพ์ภัทรา ได้นำคณะจากกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมเดินทางมาด้วย โดยปรากฏมี นายศิริพัฒน์ พัฒกุล อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดหลายจังหวัด เช่น พังงา ตรัง นครศรีธรรมราช ร่วมเดินทางมาด้วย และนั่งประชุมติดกับ น.ส.พิมพ์ภัทรา โดย น.ส.พิมพ์ภัทรา ได้แนะนำต่อที่ประชุมว่า นายศิริพัฒน์ เป็นผู้มีความรู้ความสามารถ และประสบการณ์ ซึ่งจะมาทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม โดยจะมีคำสั่งแต่งตั้งในสัปดาห์หน้า ทั้งนี้ นายศิริพัฒน์ เกษียณราชการในตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช และมีความสนิทสนมคุ้นเคยกับ นายมาโนชญ์ วิชัยกุล อดีต ส.ส.นครศรีธรรมราช 9 สมัย บิดาของ น.ส.พิมพ์ภัทรา


ในที่ประชุม นางพรทิพา อัครสุต อุตสาหกรรมจังหวัดตรัง ได้รายงานสภาพทั่วไปของจังหวัดตรัง ตลอดจนอุตสาหกรรมในจังหวัดตรัง ปัญหาอุปสรรคต่างๆ จากนั้นได้เปิดโอกาสให้ตัวแทนภาคอุตสาหกรรมเสนอความคิดเห็นต่อรัฐมนตรี โดยนายอดิศร ตันเองชวน ประธานสภาอุตสาหกรรมภาคใต้ ได้เสนอประเด็นสำคัญ 6 เรื่อง ได้แก่ 1.ผลักดันโครงการแลนด์บริดจ์ 2.ยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปีให้แก่ผู้ประกอบกิจการโรงงาน 3.โครงการนิคมอุตสาหกรรมจังหวัดนครศรีธรรมราช 4.การรายงานกากอุตสาหกรรม 5.การกำหนดค่าฝุ่นละอองของกระทรวงอุตสาหกรรม (320 ppm) และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ (120 ppm) ไม่สอดคล้องกัน ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ และ 6.ปรับปรุงระบบ Industry Single Form เนื่องจากปัจจุบันไม่มีการบูรณาการข้อมูล และขอข้อมูลมากเกินความจำเป็น

นายอดิศร กล่าวว่า ประเด็นปัญหาที่ประสบอยู่คือ อุตสาหกรรมต่อยอดจากน้ำมันปาล์มไปเป็นแก๊สซิไฟเออร์ ซึ่งภาคเอกชนได้หารือเพื่อปรับปรุงแก้ไขผังเมืองให้มีพื้นที่สำหรับอุตสาหกรรมประเภทนี้ และที่สำคัญ ภาคใต้ต้องการให้มีโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่ง หรือโลจิสติกส์ เพราะภาคใต้มีค่าขนส่งที่สูง และยืนยันว่าภาคอุตสาหกรรมภาคใต้ทั้ง 14 จังหวัด จะสนับสนุนโครงการแลนด์บริดจ์ระหว่างชุมพร-ระนอง

ด้านนายธนพจน์ ศุภศรี ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดตรัง กล่าวว่า อุตสาหกรรมไม้ยางพารา และปาล์มน้ำมันในจังหวัดตรังและภาคใต้ ยังเป็นประเภทที่ต้องใช้แรงงานคน และอนาคตรัฐบาลมีแนวทางจะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ซึ่งอุตสาหกรรมต้องต่อสู้กับต้นทุน ไม่ว่าจะเป็นค่าวัตถุดิบ และต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับแรงงาน สิ่งที่ผู้ประกอบการอยากได้คือการพัฒนาฝีมือแรงงานขั้นสูง และอยากให้เอกชนที่อยู่ต่างจังหวัดได้เข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ซึ่งการลงทุนในเทคโนโลยีต้องใช้เม็ดเงินจำนวนมาก ซึ่งแน่นอนว่าในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ไม่มีปัญหาเรื่องการลงทุน แต่ในกลุ่มเอสเอ็มอีย่อมมีปัญหา อยากให้กระทรวงอุตสาหกรรมสนับสนุนงบประมาณในการพัฒนาฝีมือแรงงานให้เอกชน และภาคอุตสาหกรรม

ด้านนายบุญชู ศัยศักดิ์พงษ์ ประธานกรรมการบริหารบริษัท ตรังผลิตภัณฑ์อาหารทะเล จำกัด (มหาชน) หรือ TRS กล่าวว่า ในเรื่องการส่งเสริมการลงทุนผ่าน BOI อยากให้มีความเสมอภาคในการดำเนินการด้วย เพราะที่ผ่านมามันเป็นโรงงานเปิดใหม่หรือต่างชาติที่ได้รับการส่งเสริมในส่วนนี้ ผู้ประกอบการรายเก่าๆ ของไทยมักจะเข้าถึงโอกาสได้ยาก ขณะที่ นายสุธรรม เศรษฐพิศาล ประธานหอการค้าจังหวัดตรัง สะท้อนปัญหารายได้ต่อหัวคนตรังลดลงมากในปัจจุบัน ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวมเป็นอย่างมาก โดยมีทิศทางเริ่มลดลงตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นมา จึงอยากให้รัฐบาลเร่งแก้ไขด้วยการส่งเสริมเศรษฐกิจโดยด่วน


น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ยินดีและเต็มใจรับฟังข้อสะท้อนต่างๆ โดยกระทรวงอุตสาหกรรมไม่ได้ให้ความสนใจเฉพาะอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ หรืออุตสาหกรรมจากต่างประเทศเท่านั้น แต่ยังให้ความสำคัญกับผู้ประกอบการใหม่ กลุ่มสตาร์ทอัป และผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพราะทุกอุตสาหกรรมมีส่วนสร้างรายได้เข้าประเทศ สร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่ประชาชน ในส่วนของประเด็นเรื่อง BOI ที่มองว่าให้สิทธิพิเศษแก่นักลงทุนต่างชาติ แต่ความเป็นจริงแล้ว BOI ให้สิทธินักลงทุนเดิมเช่นกัน

น.ส.พิมพ์ภัทรา กล่าวอีกว่า ภาคใต้และจังหวัดตรัง ผู้ประกอบการมีความกังวลเกี่ยวกับนโยบายของรัฐบาล ซึ่งเขาอยากเห็นโครงการแลนด์บริดจ์ให้เกิดขึ้น ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเดินหน้าทำเรื่องนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม เตรียมพร้อมเรื่องการลงทุน และสนับสนุนผู้ประกอบการที่จะมาลงทุน รวมทั้งดูแลผู้ประกอบการเดิมที่มีอยู่ ตอนนี้ต้องดูว่ามีนักลงทุนในอุตสาหกรรมประเภทไหนบ้าง ที่สำคัญกระทรวงอุตสาหกรรมมีหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย และการควบคุม เช่น การดูแลมลพิษ ซึ่งทุกโครงการมีทั้งคนสนับสนุน และคนคัดค้าน ตนคิดว่าต้องสร้างความเข้าใจให้แก่ประชาชน โดยกระทรวงจะใช้กฎหมายควบคุมโรงงานและอุตสาหกรรมให้เป็นตามที่กฎหมายกำหนด

“และขอยืนยันในฐานะตัวแทนของนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีว่า เรื่องแลนด์บริดจ์จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ไม่ใช่แค่เรื่องการศึกษา ซึ่งวันนี้ได้ทำเรื่องขออนุญาตเข้าใช้พื้นที่ โดยเฉพาะเส้นทางที่สำรวจเดิมไว้ และจะทำแผนขอใช้พื้นที่ให้แล้วเสร็จในปี 2567 แลนด์บริดจ์ไม่ได้อาศัยเพียงงบประมาณของรัฐ หรือเป็นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน แต่เป็นการลงทุนเพื่อให้นักลงทุนเข้ามาตั้งโรงงานผลิตต่อเนื่อง ไม่ได้เป็นการสร้างท่าเรือจากซ้ายไปขวา แต่เป็นการสร้างโรงงาน สร้างนิคมอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ และจะรองรับโรงงานต่างๆ ให้เกิดขึ้น ทั้งในภาคใต้และภาคกลาง ให้มารวมกันเพื่อส่งเสริมสนับสนุนโรงงานเดิมที่มีอยู่ ส่วนประเด็นเรื่องกำลังผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคเพื่อรองรับการจ่ายเงินดิจิทัลนั้น เรื่องนี้ยังอยู่ในขั้นตอนของรัฐบาล หากมีความชัดเจนคงจะมีผู้ประกอบการเข้าหารือ ซึ่งทางกระทรวงพร้อมสนับสนุนในหมุนเวียนภาคการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคอยู่แล้ว แต่ต้องเน้นสินค้าที่มีคุณภาพ” รมว.อุตสาหกรรม ระบุ


น.ส.พิมพ์ภัทรา กล่าวว่า ส่วนประเด็นอื่นๆ ที่ภาคอุตสาหกรรมเป็นห่วง เช่น การยกระดับฝีมือแรงงาน เรื่องนี้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมให้ความสำคัญ ซึ่งให้การช่วยเหลือตั้งแต่ยกระดับฝีมือแรงงาน และการลดต้นทุนการผลิต การเดินทางมาจังหวัดตรังในครั้งนี้เพื่อให้กำลังใจข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ทุกคน ซึ่งตอนนี้ด้านกฎหมายมี พ.ร.บ.ใหม่เพื่อให้ทันยุคทันเหตุการณ์ จึงอยากให้ผู้ประกอบการได้ปรับตัวเพื่อให้ทันสมัย ไม่ถูกกีดกันทางการค้า มีเรื่องเทคโนโลยีสีเขียว ซึ่งทั้งกรมโรงงานอุตสาหกรรม และธนาคารเอสเอ็มอีแบงก์ ได้ให้การสนับสนุนเช่นกัน

ด้านนายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า การสร้างอุตสาหกรรมใหม่จะมีการขยายของเดิม ซึ่งหากไม่พบว่าอุตสาหกรรมที่ทำอยู่ขยายในกิจการเดิมที่ทำได้ จะมีกรอบย่อยๆ เช่น การยกระดับการผลิต การลดการใช้พลังงาน การต่อยอดอุตสาหกรรม เรื่องสิ่งแวดล้อม ที่สามารถเข้าไปขอได้ในรูปแบบของ BOI ส่วนเรื่องเงินลงทุนตอนนี้กระทรวงได้ออกโปรแกรมการลดการใช้คาร์บอน ที่จะมีเงินกู้ดอกเบี้ย 3 เปอร์เซ็นต์ เพื่อเป็นการสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีความตั้งใจในการยกระดับการประกอบธุรกิจให้เป็นไปตามเป้าหมายการดูแลสิ่งแวดล้อม การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

ขณะที่นายถนอมพงศ์ หลีกภัย ส.ส.ตรัง เขต 1 พรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้เรื่องแลนด์บริดจ์มีการถกเถียงกันในสภา วันนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้พูดชัดเจนว่าเกิดขึ้นแน่นอน ตนคิดว่าโครงการแลนด์บริดจ์มีประโยชน์ต่อภาคใต้ ทางด้านการสร้างความสะดวกสบาย และยังช่วยเพิ่มรายได้ให้ประชาชน ซึ่งที่ผ่านมาเรื่องนี้เป็นที่ถกเถียงกันในสภาผู้แทนราษฎรหลายต่อหลายครั้ง เชื่อเหลือเกินว่าหากโครงการนี้เกิดขึ้นจะมีอุตสาหกรรมเกิดขึ้นตามมาอีกจำนวนมาก และทำให้ประชาชน ทำให้ภาคใต้มีเศรษฐกิจที่ดีขึ้น และมีรายได้ต่อหัวเพิ่มขึ้นด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น