กระบี่ - อาจารย์ประจำภาควิชาธรณีวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับนักธรณีวิทยาออสเตรเลีย และมาเลเซีย ตรวจหาอายุตะกอนดินฟอสซิล 3 ถ้ำกระบี่ หลังพบซากฟอสซิลไฮยีนาลายจุด แรดชวา กวางป่า และเม่นใหญ่ คาดอยู่ในยุคน้ำแข็ง อายุ 8 หมื่น-2 แสนปี
ผศ.ดร.กันตภณ สุระประสิทธิ์ร อาจารย์ประจำภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับนักธรณีวิทยาออสเตรเลีย และมาเลเซีย รวมทั้ง นายนิวัฒน์ วัฒนยมนาพร ชมรมคนรักถ้ำกระบี่ นำอุปกรณ์เครื่องวัดรังสีแกรมมาใช้ตรวจอายุในพื้นที่ที่พบฟอสซิลดึกดำบรรพ์ พร้อมเก็บตัวอย่างตะกอนดิน ฟอสซิลชิ้นส่วน ฟัน กระดูกสัตว์ยุคโบราณที่ขุดค้นพบไปตรวจวิเคราะห์หาอายุ
ซึ่งก่อนหน้านี้มีการสำรวจพบแหล่งโบราณคดีและแหล่งฟอสซิลดึกดำบรรพ์ยุคน้ำแข็ง ที่ถ้ำโต๊ะหลวง บ้านคลองหิน ต.คลองหิน ถ้ำยายรวก บ้านถ้ำเพชร ต.อ่าวลึกเหนือ อ.อ่าวลึก และถ้ำผักกูด ต.ปลายพระยา อ.ปลายพระยา และพบฟอสซิลของสัตว์ยุคน้ำแข็งหลายชนิดที่เคยมีอยู่ในกระบี่ และสูญหายไปแล้ว เช่น ไฮยีน่า แรดชวา กวางผาหิมาลัย เม่นแผงคอยาว อุรังอุตัง วัวควาย สัตว์กินหญ้า เป็นต้น
ดร.กันตภณ สุระประสิทธิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา จากการตรวจสอบถ้ำยายรวก อ.อ่าวลึก จ.กระบี่ พบซากดึกดำบรรพ์ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมขนาดใหญ่ 4 สายพันธุ์ด้วยกัน ประกอบด้วย ไฮยีนาลายจุด แรดชวา กวางป่า และเม่นใหญ่แผงคอยาว จากการคาดคะเนอายุเบื้องต้น น่าจะอยู่ในช่วงตั้งแต่ช่วงปลายของสมัยไพลสโตซีนตอนล่าง ไปจนถึงช่วงต้นของสมัยไพลสโตซีนตอนปลาย (Middle to Late Pleistocene) หรือประมาณ 200,000-80,000 ปี
ที่ผ่านมา ลักษณะพื้นที่จังหวัดกระบี่ ในยุคนั้นเป็นแบบทุ่งหญ้าซาวาน่า มีสัตว์กินหญ้าหากินในทุ่งหญ้า เช่น กวางป่า วัว ควายป่า มีสัตว์นักล่า ไฮยีนาลายจุด โดยหลังจากนี้ จะมีการขุดค้นสำรวจตามหลักวิชาการต่อไป