xs
xsm
sm
md
lg

โซลาร์รูฟท็อป ม.ทักษิณ หลังคาผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาด สู่ Green University ทั้ง 2 วิทยาเขต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - มหาวิทยาลัยทักษิณ เร่งติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป 1,973 กิโลวัตต์ ครอบคลุมพื้นที่ทั้งวิทยาเขตพัทลุง และวิทยาเขตสงขลา ผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาดจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาอาคารไว้ใช้เอง เพื่อพัฒนามหาวิทยาลัยไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว

ผศ.ดร.ธัญญา พันธ์ฤทธิ์ดำ รองอธิการบดีวิทยาเขตพัทลุง กล่าวถึงต้นทางการเริ่มต้นให้ความสนใจหันมาใช้พลังงานสะอาดของมหาวิทยาลัยทักษิณ เริ่มมาจากท่านอธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณ รองศาสตราจารย์ ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ ได้ให้ความสำคัญและตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นประเด็นปัญหาสำคัญระดับโลก จึงมีนโยบายใช้พลังงานสะอาดเพื่อพัฒนามหาวิทยาลัยไปสู่มหาวิทยาลัยสีเขียว (Green University) โดยเล็งเห็นว่ามหาวิทยาลัยทักษิณมีทรัพยากรที่เหมาะสม เอื้อต่อการดำเนินการพัฒนาพื้นที่เพื่อทำโซลาร์รูฟท็อป (solar rooftop) ซึ่งได้รับความนิยมมากในปัจจุบัน และเป็นอีกทางหนึ่งที่สามารถช่วยลดการใช้พลังงานไฟฟ้าและสามารถผลิตไฟฟ้าใช้เองภายในมหาวิทยาลัยได้อีกด้วย

โครงการบริหารจัดการพลังงานติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา (Solar Rooftop) ภายในมหาวิทยาลัยทักษิณ มีขนาดกำลังผลิตติดตั้ง 1,973 กิโลวัตต์สูงสุด ซึ่งเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2566 เป็นต้นมา ขณะนี้มีความคืบหน้าไปถึง 60% และคาดว่าจะเสร็จในช่วงปลายปีนี้ โดยแบ่งแยกติดตั้งครอบคลุมพื้นที่ทั้ง 2 วิทยาเขตของมหาวิทยาลัยทักษิณ ประกอบด้วย


พื้นที่มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง กำลังผลิตติดตั้งรวม 983 กิโลวัตต์
1.อาคารวิศวกรรมพื้นฐาน กำลังผลิตติดตั้ง 198 กิโลวัตต์
2.อาคารเฉพาะทาง 1 กำลังผลิตติดตั้ง 156 กิโลวัตต์
3.อาคารเฉพาะทาง 2 กำลังผลิตติดตั้ง 158 กิโลวัตต์
4.อาคารหอพักอินทนิล 3 และ 4 กำลังผลิตติดตั้ง 158 กิโลวัตต์
5.อาคารหอพักอินทนิล 1 และ 6 กำลังผลิตติดตั้ง 165 กิโลวัตต์
6.อาคารหอพักอินทนิล 7 และโรงอาหาร กำลังผลิตติดตั้ง 147 กิโลวัตต์

พื้นที่มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตสงขลา กำลังผลิตติดตั้งรวม 992 กิโลวัตต์
1.อาคารศึกษาศาสตร์ กำลังผลิตติดตั้ง 336.60 กิโลวัตต์
2.อาคารหอประชุมเปรมดนตรี กำลังผลิตติดตั้ง 356 กิโลวัตต์
3.อาคารหอสมุดกลาง กำลังผลิตติดตั้ง 160 กิโลวัตต์
4.อาคารสนามกีฬาอัฒจันทร์ กำลังผลิตติดตั้ง 138 กิโลวัตต์


“สำหรับผลตอบแทนที่ได้รับถือว่าคุ้มค่ามาก เพราะการที่เซ็นสัญญากับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) นั้น มหาวิทยาลัยทักษิณจะได้สิทธิการลดค่าไฟได้ถึง 20% ของค่าไฟที่ผลิตจากโซลาร์รูฟท็อป โดยสะสมทั้งโครงการสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานไฟฟ้าต่อปีเฉลี่ย 1.6 ล้านบาท และภายในระยะเวลาสัญญา 25 ปี มหาวิทยาลัยทักษิณจะสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากกว่า 40 ล้านบาท นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยทักษิณยังได้รับความอนุเคราะห์จากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคดำเนินการติดตั้ง EV Charger ขนาดไม่น้อยกว่า 120 กิโลวัตต์ จำนวน 2 หัวจ่าย โดยติดตั้งวิทยาเขตละ 1 เครื่อง ที่พร้อมรองรองรับ PEA VOLTA Application ด้วย” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธัญญา พันธ์ฤทธิ์ดำ กล่าว

เนื่องจากมหาวิทยาลัยทักษิณ ตั้งอยู่ในภูมิประเทศที่มีแสงอาทิตย์เพียงพอในการนำมาผลิตพลังงานได้ตลอดทั้งปี อีกทั้งยังเป็นส่วนผลักดันนโยบายของมหาวิทยาลัยที่มุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) โครงการนี้จึงถือได้ว่าเป็นการตอบโจทย์ความมั่งคั่งและการเติบโตทางเศรษฐกิจ และความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมได้อย่างดี โดยสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon dioxide) ออกสู่ชั้นบรรยากาศ ช่วยลดภาวะโลกร้อนได้ นำไปสู่การเป็นตัวอย่างหรือเป็นต้นแบบที่ดีให้ชุมชนโดยรอบมหาวิทยาลัย หรือหน่วยงานอื่นๆ ที่ต้องการใช้พลังงานสะอาดเข้ามาทดแทน นอกจากนั้น ยังเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ สามารถต่อยอดการวิจัยด้านพลังงานสะอาดให้นักวิจัยของมหาวิทยาลัยเพื่อสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมด้านสิ่งแวดล้อมได้อีกด้วย












กำลังโหลดความคิดเห็น