ตรัง - ผู้เพาะเลี้ยงนกกรงหัวจุกที่มีใบอนุญาตถูกต้อง เรียกร้องให้รัฐปลดล็อกกฎหมาย ระบุเพาะนกจะเพิ่มประชากรนกได้ดีกว่านกในธรรมชาติ ช่วยสร้างรายได้ครัวเรือน และผูกพันเป็นวิถีคนใต้มาอย่างยาวนาน
ที่วิชยุตย์ฟาร์ม ตรัง สายแข่งและแฟนซี ตั้งอยู่ที่บ้านเลขที่ 64/209 ภายในหมู่บ้านทอฟ้า หมู่ที่ 2 ต.โคกหล่อ อ.เมือง จ.ตรัง นายดุสิต พรหมอ่อน อายุ 43 ปี ซึ่งประกอบอาชีพเสริมคือ เพาะขยายพันธุ์นกปรอทหัวโขน หรือที่ชาวปักษ์ใต้เรียกกันว่า “นกกรงหัวจุก” ทั้งสายแข่ง และสายแฟนซี โดยได้รับใบอนุญาตถูกต้อง ทั้งใบอนุญาตครอบครอง ใบอนุญาตเพาะขยายพันธุ์ และใบอนุญาตค้าสัตว์ป่า จากสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 5 (นครศรีธรรมราช) โดยเจ้าตัวเริ่มจากการซื้อพ่อแม่พันธุ์นกมา 1 คู่ พ่อพันธุ์สีขาว แม่พันธุ์สีดำปกติ ในราคา 1 แสนบาท เมื่อ 5 ปีที่แล้ว
จากนั้นนำมาเพาะขยายพันธุ์ จนปัจจุบันมีพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ รวมกันประมาณ 30 ตัว และมีพ่อแม่พันธุ์ที่จับคู่เพื่อออกไข่ และฟักไข่ทั้งหมด 9 คู่ แต่ละคู่สามารถออกไข่ได้ประมาณ 7 ครอกต่อปี หรือหากเลี้ยงได้สมบูรณ์จริงๆ จะออกไข่ได้ประมาณ 8-10 ครอกต่อปี แต่ละครอกจะออกลูกได้ประมาณ 2-3 ตัว แต่หากเป็นนกกรงหัวจุกที่อาศัยอยู่ตามป่าเขา ซึ่งต้องหากินเองตามธรรมชาตินั้นอาจจะทำให้มีความสมบูรณ์น้อย จึงออกลูกได้ประมาณ 3 ครอกต่อปีเท่านั้น
ทั้งนี้ นกกรงหัวจุกสายแฟนซี จะขายได้ตัวละ 10,000 บาท ส่วนนกกรงหัวจุกสายแข่ง จะขายได้ตัวละ 4,000-5,000 บาท ทำให้เขามีรายได้เสริมต่อปีหลายแสนบาท แต่ปัญหาคือ ขณะนี้เมื่อลูกนกออกมาทุกตัวจะต้องไปแจ้งการครอบครอง และเพื่อค้ากับเจ้าหน้าที่ ซึ่งส่วนตัวมองว่ายุ่งยากและไกล เพราะสำนักงานตั้งอยู่ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งหากไม่ได้ไปแจ้งการครอบครอง เท่ากับเลี้ยงนกเถื่อน จะมีความผิดอีก แต่เจ้าของฟาร์มทุกคนพร้อมปฏิบัติตามกฎหมาย และปัจจุบันจังหวัดตรัง มีฟาร์มเพาะนกชนิดนี้อยู่ประมาณ 60 แห่ง
สำหรับการเลี้ยงนกกรงหัวจุกในภาคใต้ ถือเป็นความผูกพัน และเป็นวิถีชีวิตของชาวบ้านมายาวนาน เช่นเดียวกับการเลี้ยงไก่ชน และวัวชน โดยมีการเลี้ยงกันทุกบ้าน หรือประมาณ 70% และสร้างรายได้ให้แก่ครัวเรือนที่เพาะเลี้ยงได้จำนวนมากต่อปี พร้อมยืนยันว่าคนในวงการนกกรงหัวจุก ต่างเลี้ยงด้วยความรัก ความชอบ ไม่มีใครอยากให้นกชนิดนี้สูญพันธุ์ไป อยากจะอนุรักษ์นกที่มีมาตั้งแต่บรรพบุรุษให้อยู่คู่บ้านคู่เมืองตลอดไปได้ เพียงแต่จะต้องหาวิธีการให้นกเพาะอาศัยอยู่กับธรรมชาติได้เท่านั้น จึงอยากจะเรียกร้องให้มีการปลดล็อกนกกรงหัวจุก ออกจากบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครอง
ทั้งนี้ เนื่องจากมีบางคนที่ถูกจับจากการครอบครองนกกรงหัวจุก และต้องใช้เงินประกันตัวหลักแสนบาท ทำให้ชาวบ้านเหล่านี้เดือดร้อน แต่หากมีการปลดล็อกนกกรงหัวจุกได้ จะเกิดประโยชน์มาก ตั้งแต่คนเลี้ยงมีรายได้เสริมเลี้ยงครอบครัว ส่วนคนระดับรากหญ้า สามารถขายกล้วย ขายหนอนนก ขายอาหาร ขายกรงนก หรืออุปกรณ์เคมีภัณฑ์ที่เกี่ยวกับนก และหากส่งเสริมให้มีการเพาะเลี้ยงคนละคู่ จะทำให้มีนกใหม่ๆ เกิดขึ้นจำนวนมาก จนกลายเป็นสัตว์เศรษฐกิจชนิดใหม่ของชาวบ้าน และเป็นการอนุรักษ์นกกรงหัวจุกไม่ให้สูญพันธุ์ไปด้วย