xs
xsm
sm
md
lg

ม.อ.ตรังบูรณาการรายวิชานักศึกษา ออกแบบชุมชน ขับเคลื่อนการท่องเที่ยวจังหวัดตรัง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง บูรณาการรายวิชานักศึกษา ออกแบบชุมชน ขับเคลื่อนการท่องเที่ยวจังหวัดตรัง

คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตตรัง เน้นกระบวนการเรียนรู้เชิงรุก ส่งเสริมนักศึกษาให้นำความรู้ภาคทฤษฎีและกรณีศึกษา มารวมเข้ากับประสบการณ์จากการเข้าพื้นที่จริง เพื่อเพิ่มความสามารถในการวางแผน ออกแบบ แก้ปัญหา เพื่อนำความรู้ไปใช้งานจริงได้มากที่สุด

อาจารย์คัมภีร์ คล้ามนฤมล อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง เปิดเผยถึงการพัฒนาการเรียนการสอนของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ที่เน้นการใช้แนวทางการศึกษาแบบมุ่งเน้นผลลัพธ์ เน้นกระบวนการเรียนรู้เชิงรุก ที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติและเรียนรู้จากประสบการณ์ในสถานการณ์จริง ผ่านการจัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการการเรียนและการทำงาน ตลอดจนมีการเสริมสร้างความเข้าใจการเรียนรู้ในพื้นที่จริงในภูมิภาค

เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาจัดการเรียนรู้ดังกล่าว คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จึงมีการเปิดสอนรายวิชาที่เกี่ยวข้อง เช่น การออกแบบสถาปัตยกรรม และสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น ที่อาจารย์ประจำวิชาได้เลือกชุมชนในจังหวัดตรังเป็นพื้นที่เข้าศึกษาจริง โดยจากการสำรวจเพื่อออกแบบในรายวิชา การลงพื้นที่เก็บข้อมูลจากผู้คนในชุมชน ทำให้เห็นความต้องการในการพัฒนาเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน และนักท่องเที่ยว โดยชุมชนที่เลือกศึกษา เช่น บ้านควนตุ้งกู บ้านตะเสะ บ้านน้ำราบ จังหวัดตรัง ซึ่งมีความสำคัญในฐานะที่เป็นจุดพักถ่ายนักท่องเที่ยวจากบกสู่ทะเล


จากการเข้าพื้นที่เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับงานสถาปัตยกรรม นักศึกษาได้เข้าศึกษาเรื่องหลักๆ ของชุมชนทั้งด้านกายภาพ สังคม อาชีพ วิถีชีวิต และนำมาออกแบบเป็นอาคารศูนย์การเรียนรู้ชุมชน ซึ่งประกอบไปด้วยอาคารที่สามารถตอบสนองประโยชน์ใช้สอยของคนในชุมชน เช่น ส่วนนิทรรศการ ร้านค้าชุมชน ส่วนแปรรูปอาหารทะเล ส่วนซ่อมเรือประมง ศูนย์ชุมชน พื้นที่สันทนาการชุมชน และส่วนบริการนักท่องเที่ยว และออกแบบบ้านตัวอย่างที่เหมาะสมกับพื้นที่ ในชุมชนบ้านควนตุ้งกู จำนวน 28 ผลงาน และชุมชนบ้านตะเสะจำนวน 37 ผลงาน ส่วนชุมชนบ้านน้ำราบมี 1 ผลงาน

การได้ร่วมออกแบบชุมชนเพื่อขับเคลื่อนการท่องเที่ยว ทำให้นักศึกษามีความเข้าใจพื้นที่ มองเห็นปัญหา และเห็นแนวทางการนำไปใช้เพื่อให้ก่อประโยชน์แก่ชุมชน ได้สัมผัสถึงมิติต่างๆ ในการพัฒนาพื้นที่โดยกลวิธีของการออกแบบสถาปัตยกรรม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทางกายภาพ เศรษฐกิจ สังคม วิถีชีวิต ตลอดจนการทำงานร่วมกับผู้อื่นในชุมชน ได้ตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติ การเข้าถึงวิถีชีวิตของคนในชุมชน ความต้องการด้านกายภาพ เศรษฐกิจและสังคม และมองเห็นปัญหาและแนวทางแก้ไขที่มีความเป็นไปได้ โดยการนำความรู้ที่ได้จากการเรียนเข้าสู่กระบวนการออกแบบเพื่อแก้ปัญหาเชิงพื้นที่ และเสริมสร้างให้นักศึกษามีจิตสำนึกเรื่องการพัฒนาท้องถิ่น เพื่อยกระดับชุมชนให้เป็นพื้นที่ที่มีความยั่งยืนต่อไป








กำลังโหลดความคิดเห็น