เมื่อวันที่ 12 ต.ค. ที่สภาผู้แทนราษฎร คณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติ และการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ได้มีการเชิญหน่วยงานเข้ามาชี้แจงให้เห็นภาพรวมสถานการณ์ความมั่นคงของประเทศ ซึ่งรวมไปถึงผู้แทนจากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ด้วย โดยในระหว่างที่มีการตั้งคำถามและชี้แจงอยู่นั้น มี ส.ส.นราธิวาสตั้งคำถามเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้นกับโครงการให้ความช่วยเหลือทางการเงินกู้ (SOFT LOAN) แก่ผู้ประกอบกิจการในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีการวิจารณ์กันว่ามีผู้ประกอบการที่เข้าถึงและใช้ประโยชน์จากโครงการนี้อยู่ในวงจำกัด
ผู้แทนจาก ศอ.บต.ชี้แจงว่า โครงการดังกล่าวเริ่มต้นในปี 2549 เพื่อแก้ไขปัญหาผู้ประกอบการย้ายการลงทุนออกจากพื้นที่ชายแดนใต้หลังจากที่มีสถานการณ์ความไม่สงบโดยเพิ่มแรงจูงใจด้วยเงินกู้ที่มีวงเงินโดยรวม 25,000 ล้านบาท ที่รัฐบาลชดเชยด้วยการกำหนดดอกเบี้ยต่ำ 1.5% และมีการขยายเวลาเป็นช่วงๆ 5 ปีต่อครั้ง กระทั่งครั้งหลังสุดคือในปลายปี 2565
ผู้แทน ศอ.บต.แจ้งว่า ก่อนหน้านี้ ศอ.บต.ได้ประมวลสภาพปัญหาของโครงการนี้และพบว่ามีการเข้าถึงเงินกู้ดังกล่าวยังอยู่ในวงจำกัด ผู้ประกอบการสตาร์ทอัปรุ่นใหม่ๆ ไม่สามารถเข้าถึงได้ อีกทั้งมีการนำเงินกู้ดังกล่าวไปลงทุนนอกพื้นที่ชายแดนใต้ จึงทำข้อสังเกตและข้อเสนอนี้ให้ทางสำนักงานเศรษฐกิจการคลังเพื่อให้มีการทบทวนและมีการยกเลิกโครงการดังกล่าวไป แต่มีข้อท้วงติงจนมีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อตอนต้นปีเพื่อปรับปรุงหลักเกณฑ์ใหม่ โดยในครั้งนี้จะลดกรอบเวลาจาก 5 ปีมาอยู่ที่ 2 ปี 6 เดือน โดยให้สิ้นสุดในวันที่ 30 มิถุนายน 2568 โดยเพิ่มหลักเกณฑ์ที่จะทำให้ผู้ประกอบการรุ่นใหม่เข้าถึงได้ง่ายขึ้นด้วย
ส่วนที่มีความกังวลในพื้นที่ว่าหากมีการยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แล้วจะกระทบต่อการดำเนินโครงการดังกล่าวหรือไม่นั้น นายรอมฎอน ปันจอร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติ และการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า ตนเห็นว่าอาจเป็นการประเมินที่ไม่สมเหตุสมผลมากนัก โดยเฉพาะหากพิจารณาจากเงื่อนไขในทางกฎหมายที่แตกต่างกัน กล่าวคือ โครงการเงินกู้ข้างต้นเป็นการดำเนินการมาตรการด้านการเงินสำหรับเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่อยู่ภายใต้กรอบของ พ.ร.บ.การบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553 ส่วนการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ นั้นเป็นการประเมินจากสภาพปัญหาในมิติความปลอดภัย การจัดกำลังของภาครัฐ และทัศนะของประชาชนมากกว่า โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ตนเห็นว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องขยายเวลาการบังคับใช้ต่อไปอีกแล้ว
“ความกังวลว่าถ้ายกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินฯ แล้ว ผู้ที่เคยเข้าถึงเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำนี้จะสูญเสียประโยชน์นั้นดูเหมือนจะเป็นคนละเรื่องกัน”
นายรอมฎอน ปันจอร์ ยังระบุอีกว่า สถานการณ์ความรุนแรงที่ทุเลาเบาบางลงไปอาจเป็นเงื่อนไขที่ทำให้ต้องปรับมาตรการบางอย่างที่เคยมีมาก่อน สิ่งที่ควรต้องพิจารณาคือเหตุผลที่มีโครงการเหล่านี้เพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์ความไม่สงบและพยุงเศรษฐกิจในพื้นที่ หากสถานการณ์ในพื้นที่ดีขึ้นไม่มีเหตุผลที่จะมีมาตรการในลักษณะนี้ต่อไป ตนเห็นว่าภาครัฐและผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับโครงการนี้ต้องเตรียมรับมือและปรับตัวตามความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ โดยที่จะไม่กลายเป็นอุปสรรคต่อการร่วมกันสร้างสันติภาพ ตนเชื่อว่าหากเราสามารถสร้างสันติภาพได้จริง โอกาสและบรรยากาศของการลงทุนจะดีขึ้น ที่สำคัญคือเป้าหมายของการสร้างสันติภาพอย่างหนึ่งคือการสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและการกระจายรายได้ที่ทั่วถึง ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ไม่เช่นนั้นรากเหง้าของความขัดแย้งสำคัญก็ไม่อาจะได้รับการคลี่คลายอยู่ดี คงถึงเวลาที่ทุกฝ่ายจะต้องปรับตัวแล้ว