“สรรเพชญ” อภิปรายสนับสนุนญัตติศึกษา ติดตาม และส่งเสริมการสร้างสันติภาพชายแดนใต้ พร้อมเสนอการพัฒนา 5 ด้าน ที่ต้องเร่งดูแล โดยเฉพาะสร้างงาน สร้างอาชีพ
เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2566 เวลา 13.30 น. ที่ห้องประชุมสุริยัน อาคารรัฐสภา นายสรรเพชญ บุญญามณี ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ได้กล่าวอภิปรายสนับสนุนญัตติ “ศึกษาติดตาม และส่งเสริมการสร้างสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้” ว่า ปัญหาเรื่องความขัดแย้งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นปัญหาที่สะสมมายาวนานกว่า 20 ปี ซึ่งนับตั้งแต่กระสุนนัดแรกที่ลั่นออกมาเมื่อปี 2547 จวบจนถึงปัจจุบัน เหตุการณ์ต่างๆ ยังไม่ทุเลาเบาบางลงแต่อย่างใด ซ้ำร้ายเหตุการณ์ล่าสุดที่เพิ่งเกิดเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เกิดเหตุระเบิดที่ อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บหลายราย นี่ยังไม่นับรวมกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีตที่ผ่านมาเป็นระยะเวลากว่า 19 ปี มีผู้เสียชีวิตไปแล้วมากกว่า 7,520 คน ข้อมูลจาก Deep South Watch เมื่อวันที่ 11 ก.ย.2566 ผู้สูญหาย บาดเจ็บ ล้มตายมีจำนวนมาก ท่ามกลางความรุนแรงที่เกิดขึ้นนี้ ผู้ที่ได้รับผลกระทบที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้เลยคือประชาชน
“ผมเห็นด้วยที่จะมีการศึกษาในเรื่องนี้ แต่ขออย่างเดียว คือ ขอให้การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาครั้งสุดท้าย ขอให้มีผลการศึกษาออกมาให้ชัด ศึกษาให้รอบด้าน และหวังว่าคงไม่ต้องมาศึกษากันเรื่องนี้อีก เพราะในอดีตที่ผ่านมา เชื่อว่าสภาแห่งนี้เคยได้ศึกษากันมาหลายครั้ง และเชื่อว่าสภาที่มีมาชุดไหนๆ ก็ต้องตั้งกรรมาธิการศึกษาเรื่องนี้ ไม่จบ ไม่สิ้น และหลายหน่วยงานทำการศึกษาเช่นเดียวกัน” นายสรรเพชญ กล่าว
นายสรรเพชญ กล่าวว่า สำหรับประเด็นการพัฒนาพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มี 5 ประเด็นหลักๆ คือ ด้านการปกครอง ด้านการส่งเสริมการกระจายอำนาจ ด้านกระบวนการยุติธรรม ด้านงบประมาณ และด้านการศึกษา โดยในประเด็นเรื่องของการปกครอง ประชาชนในพื้นที่ส่วนใหญ่ไม่ได้ต้องการให้มีการแบ่งแยกดินแดน เพราะประชาชนยังคงอยากเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทย สิ่งนี้คณะกรรมาธิการจะต้องตั้งหลักให้มั่น และชัดเจน ว่าจะไม่เสนอให้มีการแบ่งแยกดินแดน เพื่อขัดกับเจตนารมณ์ของประชาชน และสำคัญที่สุด คือ ไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 1 ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวจะแบ่งแยกมิได้
ประเด็นต่อมา ด้านการส่งเสริมการกระจายอำนาจ ตนเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าท้ายที่สุดแล้ว การกระจายอำนาจนี้ จะเป็นการสะท้อนความต้องการของประชาชนได้อย่างแท้จริงผ่านการตัดสินใจของประชาชน ในส่วนของด้าน กระบวนการยุติธรรม ไม่ใช่เฉพาะในมิติเรื่องกฎหมายเพียงเท่านั้น เพราะความยุติธรรมในทางกฎหมายเป็นบรรทัดฐานที่อารยประเทศพึงมี และกรณีการอุ้มฆ่าที่เคยมีเหมือนแต่ก่อน ตอนนี้ไม่มีแล้ว ถือได้ว่าที่ผ่านมาเราได้แก้เรื่องกฎหมายไปแล้วส่วนหนึ่ง แต่สิ่งที่นอกเหนือจากเรื่องของกฎหมายคือการพัฒนาพื้นที่และกระจายทรัพยากรต่างๆ ที่ควรให้แก่คนในสามจังหวัดได้เข้าถึง ไม่เป็นคนชายขอบในสังคม รวมถึงชายแดนห่างไกลของประเทศไทย เราควรที่จะให้ความสำคัญเท่าเทียมเหมือนคนกรุงเทพฯ
ต่อมา คือ เรื่องของงบประมาณ ในวันนี้รายได้ต่อหัวของประชากรในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงต่ำอยู่ เฉลี่ยประมาณปีละ 60,000 บาท รัฐบาลจะต้องอัดฉีดงบประมาณลงไปในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ สร้างงาน สร้างรายได้ในสามจังหวัดชายแดนให้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการจัดสรรที่ดินทำกิน ส่งเสริมการใช้พื้นที่นาร้างว่างเปล่าให้สามารถปลูกพืชเศรษฐกิจ และส่งเสริมการเป็นศูนย์กลางของความมั่นคงทางอาหารของโลก เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่มีอาชีพและรายได้เพิ่มมากขึ้น
ส่วนในด้านของการศึกษา วันนี้สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีมหาวิทยาลัยครบทั้งสามจังหวัด ไม่ว่าจะเป็น ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ม.ราชภัฏยะลา ม.นราธิวาสราชนครินทร์ แต่เรายังคงต้องเร่งยกระดับคุณภาพการศึกษา ให้สอดคล้องกับบริบทในพื้นที่ เหมาะสมกับสายอาชีพที่ให้ผู้เรียนจบออกมาแล้วมีงานทำและทำงานในสายงานที่ตนเองถนัด
“ผมหวังว่าคณะกรรมมาธิการวิสามัญที่กำลังจะแต่งตั้งขึ้น จะศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาในสามจังหวัดชายแดนใต้ให้ครอบคลุมทุกมิติ และให้คำนึงถึงความรู้สึกของคนในพื้นที่ เพื่อนำไปสู่การสร้างสันติภาพที่เป็นจริง”