xs
xsm
sm
md
lg

วิกฤตประมงเถื่อนลามหนัก ชาวบ้านเผยอิทธิพลคุกคามทั้งบนบก-ในทะเล ยังไร้การเหลียวแล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นครศรีธรรมราช - ประมงผิดกฎหมายขยายตัวเข้าสู่ภาวะวิกฤต จนส่งผลกระทบด้านสังคมแล้ว เผยอิทธิพลคุกคามทั้งบนบก และในทะเล แต่ยังไร้การเหลียวแล เชื่อไม่เกิน 5 ปี วิกฤตทรัพยากรอาหารอ่าวปากพนังถึงจุดล้มเหลว

สถานการณ์ประมงผิดกฎหมายกำลังเข้าสู่ภาวะวิกฤตอีกครั้ง โดยเฉพาะในพื้นที่ชายฝั่งแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ แหล่งผลิตอาหารทะเลที่สำคัญ สร้างมูลค่าต่อปีนับพันล้านบาท ตลอดพื้นที่อ่าวปากพนัง อ่าวปากนคร อ่าวปากพญา และอ่าวปากพูน รอยต่อระหว่าง อ.ปากพนัง อ.เมือง และ อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช มีพื้นที่ติดต่อกันหลายร้อยตารางกิโลเมตร การใช้เครื่องมือผิดกฎหมาย โดยเฉพาะในกลุ่มทำลายล้างมีการใช้กันอย่างเสรี เข้าออกปากอ่าวได้อย่างเปิดเผย เจ้าหน้าที่ปราบปรามประมงทะเลไม่สามารถรับมือกับวิกฤตนี้ได้แล้ว เนื่องจากมีเจ้าหน้าที่เพียงไม่ถึง 10 นาย การจำกัดเชื้อเพลิงเรือปราบปราม ทำงานได้สูงสุดต่อเดือนเพียงราว 3-4 วันเท่านั้น

ไม่เพียงแต่วิกฤตด้านการขยายตัวของการใช้เครื่องมือผิดกฎหมาย ที่ส่งผลต่อทรัพยากร และเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติที่ถูกลดทอนทรัพยากรการปฏิบัติงานเท่านั้น และเหลือเพียงหน่วยงานเดียว การขยายตัวของชาวประมงพื้นบ้านที่หันมาใช้เครื่องมือผิดกฎหมายยังส่งผลต่อสังคมชุมชนของเขาเหล่านั้นเองด้วย กลุ่มเครื่องมือผิดกฎหมายที่ขยายตัวมากขึ้น มีผลต่อการคุกคามหรือบีบคั้นการใช้ชีวิตของกลุ่มประมงเชิงอนุรักษ์ในหลายชุมชน ที่ต้องอยู่อย่างยากลำบาก เพียงเพราะการทำประมงที่เน้นการอนุรักษ์ของพวกเขา


ชาวประมงพื้นบ้านรายหนึ่ง ซึ่งไม่ขอเปิดเผยตัวระบุว่า ปัจจุบันประมงผิดกฎหมายเป็นเสมือนขบวนการอิทธิพล หลังจากที่เจ้าหน้าที่ไม่สามารถควบคุมได้แล้ว ทะเลอ่าวนครศรีธรรมราช เหมือนเป็นแดนเถื่อน โดยเฉพาะปากพูน ปากพญา ปากนคร ไปจนถึงอ่าวปากพนัง เต็มไปด้วยประมงใช้เครื่องมือผิดกฎหมาย กลุ่มประมงพื้นบ้านที่อยู่ในกฎหมายกลายเป็นผู้ที่ถูกเบียดขับจากคนพวกนี้ ถูกข่มขู่คุกคาม ทั้งในทะเลไปจนถึงบนบก ครอบครัวไหนทำประมงถูกกฎหมายจะไม่ถูกสมาคมด้วย จะถูกห้ามไม่ให้ใครไปคบหา

กลุ่มชาวประมงพื้นบ้านที่ใช้เครื่องมือผิดกฎหมาย ในขณะนี้จะอยู่ในกลุ่มเครื่องมือประเภทอวนรุนหัว ตะแกรงคราดหอย ลอบไอ้โง่ หรืออวนลากข้าง มีการประเมินโดยกลุ่มประมงเชิงอนุรักษ์ว่า ในพื้นที่รอยต่อทั้ง 3 อำเภอดังกล่าวนี้มีสูงถึงกว่า 2 พันลำแล้ว จากเดิมที่เหลือเพียงไม่ถึง 500 ลำ หลังจากทรัพยากรเพิ่มขึ้น การปฏิบัติการเจ้าหน้าที่รัฐอ่อนล้าลง เป็นปัจจัยสำคัญต่อสถานการณ์วิกฤตที่กำลังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ขณะนี้กำลังเป็นภัยคุกคามความมั่นคงทางด้านแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญของชาวนครศรีธรรมราช และอาจขยายตัวเป็นความขัดแย้งรุนแรงในอนาคตอันใกล้ที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด


กำลังโหลดความคิดเห็น