ศูนย์ข่าวภูเก็ต - เทศบาลนครภูเก็ตร่วมเครือข่ายทางวัฒนธรรม ร่วมสืบสานงานประเพณีถือศีลกินผัก จังหวัดภูเก็ต ประจำปี 2566 “อิ่มบุญ สุขใจ ได้สุขภาพ” ตกแต่งเมือง สร้างจุดเช็กอิน ดึงคนเข้าเมือง กระตุ้นการท่องเที่ยวช่วงประเพณีถือศีล
วันนี้ (9 ต.ค.) นายสาโรจน์ อังคณาพิลาส นายกเทศมนตรีนครภูเก็ต พร้อมด้วย พ.ต.อ.จิระศักดิ์ เสียมศักดิ์ รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ต น.ส.ประภัสสร เอ่งฉ้วน นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการพิเศษ สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดภูเก็ต นายมนตรี มานะต่อ รอง ผอ.ททท.สำนักงานภูเก็ต นายกิตติวงศ์ จันทร์สัทธรรม นายกสมาคมอ๊ามภูเก็ต และนายณรงค์ พรหมจิตต ผู้แทนการตลาด สำนงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการภาคใต้ (สสปน.) ร่วมแถลงข่าวเทศบาลนครภูเก็ต ร่วมกับเครือข่ายทางวัฒนธรรม ร่วมสืบสานงานประเพณีถือศีลกินผักจังหวัดภูเก็ต ประจำปี 2566 ณ ลานนวมินทร์ จ.ภูเก็ต
นายสาโรจน์ อังคณาพิลาส นายกเทศมนตรีนครภูเก็ต กล่าวว่า งานประเพณีถือศีลกินผัก เป็นประเพณีที่ได้ถือปฏิบัติสืบทอดกันมาเป็นเวลาช้านานจนถึงปัจจุบันของชาวไทยเชื้อสายจีน ซึ่งจะจัดในวันขึ้น 1-9 ค่ำ เดือน 9 ตามปฏิทินจีนของทุกปี ซึ่งประเพณีถือศีลกินผัก ประจำปี 2566 ตรงกับวันที่ 15-23 ตุลาคม 2566 โดยเทศบาลนครภูเก็ต ร่วมกับเครือข่ายทางวัฒนธรรม จัดงานประเพณีถือศีลกินผักจังหวัดภูเก็ต ประจำปี 2566 ขึ้น เพื่อเป็นการฟื้นฟู อนุรักษ์ และร่วมสืบสานประเพณีอันดีงามของจังหวัดภูเก็ตให้คงอยู่สืบไป และส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ต
สำหรับในปีนี้ เทศบาลนครภูเก็ตได้จัดกิจกรรมส่งเสริมงานประเพณีถือศีลกินผักต่างๆ มากมาย เช่น ตกแต่งเมือง สร้างจุดเช็กอิน กระตุ้นการท่องเที่ยวในเขตเมืองในช่วงงานประเพณีถือศีลกินผักจังหวัดภูเก็ต ประจำปี 2566 บริเวณวงเวียนสุรินทร์ (หอนาฬิกา) วงเวียนสุริยเดช (วงเวียนน้ำพุ) ตรงข้ามพิพิธภัณฑ์เพอรานากันนิทัศน์ ปลายแหลมสะพานหิน และพื้นที่ในเขตเทศบาลนครภูเก็ต ซึ่งการตกแต่งเมืองให้สวยงาม และสร้างจุดถ่ายรูปเช็กอิน สามารถที่่จะดึงนักท่องเที่ยวให้เข้ามาท่องเที่ยวในตัวเมืองภูเก็ตได้เพิ่มขึ้นกว่า 100% และจากเดิมที่มีเฉพาะคนไทยและคนจีนที่มาเที่ยวในตัวเมือง ขณะนี้นักท่องเที่ยวทุกชาติ ทุกภาษา ได้เข้ามาท่องเที่ยวย่านเมืองเก่าภูเก็ต และช่วงถือศีลกินผักปีนี้ก็เช่นกัน เทศบาลจึงได้ตกแต่งเมือง และสร้างจุดเช็กอินด้วยภาพจำ น้องหมีสีขาว ที่แยกชาร์เตอร์ด แบงก์ จุดถ่ายรูปเช็กอินยอดฮิตของเมืองภูเก็ต
ตั้งโต๊ะรับขบวนแห่พิธีอิ้วเก้ง (แห่พระรอบเมือง) ณ ลานนวมินทร์ 72 ตั้งแต่วันที่ 16-23 ตุลาคม 2566 และส่งพระในคืนวันที่ 23 ตุลาคม 2566 จัดพิธีเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในงานประเพณีถือศีลกินผักจังหวัดภูเก็ต ประจำปี 2566 ร่วมกับจังหวัดภูเก็ต วัฒนธรรมจังหวัดภูเก็ต เครือข่ายอ๊ามในจังหวัดภูเก็ต วันที่ 16 ตุลาคม 2566 เริ่มเวลา 16.00 น. ณ สวนเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา มหาราชินี (ลานมังกร)
กิจกรรม : รวมใจ "ล้างอ๊าม" ร่วมสืบสานประเพณีถือศีลกินผักภูเก็ต 2566 ร่วมเก็บกวาดรวบรวมขยะมูลฝอย ตัดตกแต่งหญ้า วัชพืช ปรับปรุงภูมิทัศน์ให้สวยงาม เก็บขนขยะมูลฝอยที่ไม่ใช้งาน ล้างทำความสะอาดด้วยน้ำผสมสารฆ่าเชื้อภายในโรงเจและนอกศาลเจ้า ตรวจแนะนำด้านสุขาภิบาลอาหารปลอดภัย และตรวจความพร้อมโรงครัวศาลเจ้าต่างๆ ในเขตเทศบาลนครภูเก็ต ช่วงก่อนงานประเพณี พร้อมเก็บตัวอย่าง ตรวจวิเคราะห์ตัวอย่าง (ผัก) อาหารของโรงครัวศาลเจ้า และรณรงค์ด้านสุขาภิบาล การจัดการสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งมอบเงินอุดหนุนองค์กรการกุศล (สมาคมอ๊ามภูเก็ต และศาลเจ้าในเขตเมือง)
สำหรับงานประเพณีถือศีลกินผักจังหวัดภูเก็ต ในปีนี้เทศบาลนครภูเก็ตให้ความสำคัญกับความเป็นระเบียบเรียบร้อยของเมือง จึงขอความร่วมมือผู้ประกอบการ ร้านค้าที่มีความประสงค์จะจำหน่ายสินค้าชั่วคราว หรือองค์กรเอกชน สมาคม ชมรมที่มีความประสงค์จะติดตั้งป้ายประชาสัมพันธ์หรือสื่ออื่นๆ ช่วงงานประเพณีถือศีลกินผัก มาขออนุญาตจำหน่ายอาหาร และโฆษณาประชาสัมพันธ์ ได้ที่งานรักษาความสงบ (งานเทศกิจ) ชั้น 3 เทศบาลนครภูเก็ต
นอกจากนี้ เทศบาลนครภูเก็ตได้ร่วมกับสภาเด็กและเยาวชนเทศบาลนครภูเก็ต และบริษัท คุณแม่จู้ จำกัด จัดกิจกรรม “นำเที่ยวอ๊าม” ร่วมไหว้องค์เทพเพื่อเสริมสิริมงคล สำหรับผู้ที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมสอบถามข้อมูลได้ที่กองการท่องเที่ยวและกีฬา เทศบาลนครภูเก็ต โทร.06-1985-1424
ประเพณีถือศีลกินผักเป็นประเพณีที่ได้ถือปฏิบัติสืบทอดกันมาเป็นเวลาช้านานจนถึงปัจจุบันของชาวไทยเชื้อสายจีนซึ่งจะจัดในวันขึ้น 1–9 ค่ำ เดือน 9 ตามปฏิทินจีนของทุกปี ต้นกำเนิดของประเพณีถือศีลกินผักเริ่มจัดขึ้นครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2368 โดยในปี พ.ศ. 2559 กรมส่งเสริมวัฒนธรรมได้รับรองประเพณีถือศีลกินผักจังหวัดภูเก็ต ให้เป็นประเพณีวัฒนธรรม“มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม” ซึ่งเป็นสมบัติล้ำค่าที่ได้มีการสร้างสรรค์สั่งสม ปลูกฝังและสืบทอดในชุมชนจากรุ่นหนึ่งมายังคนอีกรุ่น