คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้ โดย… ไชยยงค์ มณีพิลึก
แม้จะได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่เป็นนักธุรกิจประสบความสำเร็จมาก่อน จนเป็นความหวังว่ารัฐบาลจะนำพาชีวิตคนไทยดีขึ้น แต่สำหรับจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่อยู่กับความรุนแรงระลอกใหม่มานาน 19 ปี วันนี้ยังไม่มีอะไรใหม่ๆ เกิดขึ้น
ไม่กี่วันที่ผ่านมา กองกำลังติดอาวุธของ “บีอาร์เอ็น” ก่อเหตุโจมตีจุดตรวจ ป้อมยามและโรงพักพร้อมกันในเวลาและคืนเดียวกัน โดยเกิดเหตุที่ จ.นราธิวาส 5 จุด ที่ จ.ปัตตานี 3 จุด ที่ จ.ยะลา 4 จุด ยกเว้นเพียง 4 อำเภอของ จ.สงขลา คือ อ.จะนะ อ.เทพา อ.นาทวี และ อ.สะบ้าย้อยที่ไม่มีการก่อเหตุ
แน่นอนในสายตาฝ่ายความมั่นคงคงเห็นเป็นเรื่องปกติเหมือนเดิม เพราะเป็นที่ยอมรับโดยปริยายว่า กองกำลังฝ่ายเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ป้องกันเหตุร้ายไม่ได้ เนื่องจากไม่รู้ว่ากองกำลังติดอาวุธหรือแนวร่วมขบวนการแบ่งแยกดินแดนจะก่อเหตุที่ไหน หรือเมื่อไหร่
และยิ่งก่อเหตุแบบที่เรียกว่าเป็นการ “ก่อกวน” ด้วยระเบิดไปป์บอมบ์ หรือโจมตีแบบฉาบฉวยด้วยอาวุธปืนที่ไม่ได้สร้างความสูญเสียมากนัก ฝ่ายความมั่นคงยิ่งมองว่าเป็นปรากฏการณ์ธรรมดาสามัญ หรือเป็นเรื่องประจำถิ่นมานานแล้ว
เช่นเดียวกับคนพื้นที่ ที่วันนี้ก็เลิกหวาดกลัวกับเหตุรายวันไปแล้ว ยกเว้นสถานการณ์ใหญ่ๆ ที่สูญเสียชีวิตและทรัพย์สินจำนวนมาก ดังนั้น การโจมตีจุดตรวจในคืนเดียวถึง 12 อำเภอของ 3 จังหวัด แถมยังตามด้วยโจมตี อส.ที่ อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี และลอบวางระเบิดพนักงานบริษัทโทรคมมนาคมที่ อ.ยะหา จ.ยะลา เหล่านี้จึงเป็นเหตุการณ์ปกติของฝ่ายความมั่นคง
ดังนั้น เวลานี้ชาวบ้านจึงไม่เห็นภาพการกระตือรือร้นเพื่อป้องกันหรือตรวจค้นจับกุม แต่ได้เห็นภาพของแม่ทัพนายกองถือกระเช้าดอกไม้ กระเช้าของขวัญ พร้อมโชว์ซองเงินปลอบขวัญมากขึ้น ซึ่งนั้นคือความเข้าใจของผู้นำหน่วยว่าเป็นภาพที่แสดงถึง “สันติภาพ” และ “สันติวิธี” และให้สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบันที่ต่างเข้าใจว่า “การพูดคุย” จะทำให้สถานการณ์ดีขึ้น ทั้งที่ยังเป็นไปแบบเดิมๆ และไร้ทิศทาง
ขณะที่ตามแนวชายแดน เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายยังคงปล่อยปละละเลยให้ธุรกิจผิดกฎหมายทุกชนิดยังทำกันได้อย่างเสรี ซึ่งไม่ใช่แค่สินค้าเถื่อนอย่างเหล้า บุหรี่ หรือกระทั่งวัวเถื่อนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงยาเสพติดและการค้ามนุษย์ด้วย แม้จะเพิ่งเกิดเรื่องฉาวโฉ่ใหญ่โตเมื่อไม่นานมานี้ที่ จ.นราธิวาสก็ตาม
เวลานี้ชายแดนด้าน อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ยังถือเป็น “ประตูเปิดอ้าซ่า” รองรับอะไรที่เถื่อนๆ ได้ทั้งหมด แถมยังรองรับทุกความเคลื่อนไหวของฝ่ายบีอาร์เอ็นด้วย ไม่ใช่แค่อุปกรณ์ใช้ก่อวินาศกรรมเท่านั้น แม้แต่กองกำลังติดอาวุธก็ข้ามไปมาได้ปกติ ไม่เคยมีข่าวเจ้าหน้าที่ทั้งไทยและมาเลเซียจับกุมผู้ต้องหาได้เลย
เวลานี้ กระทรวงมหาดไทยสั่งให้ “ขึ้นบัญชีผู้มีอิทธิพล” แต่มีข้อมูลเชิงลึกว่า ในชายแดนใต้ ผู้ที่ถูกขึ้นบัญชีกลับ “ใหญ่ไม่จริง” อย่างไม่มีรายชื่อ “นายทุนวัวเถื่อน” ที่เป็นนักการเมืองระดับชาติแห่ง อ.สุไหงโก-ลก “นายทุนบุหรี่เถื่อน” ที่เป็นนักการเมืองท้องถิ่นระดับมีคำเรียกขานนำว่า “นายกฯ” แห่ง อ.ตากใบ
ไม่มีชื่อ “เจ้าของบ่อน” แม้แต่รายเดียว อย่างที่ทั้งเมืองเขารู้กันว่ามีระดับใหญ่ถึง 3 ราย เอาแค่ “โกป๊อก” ที่ชื่อกระฉ่อนมากก็ไม่มี เช่นเดียวกับที่เมืองสุไหงโก-ลกก็มีที่ดังๆ 3 ราย แต่แค่ชื่อ “โกกุ่ย” ก็ไม่มี มิพักต้องเอ่ยถึงชื่อ “ผู้ค้ายาเสพติด” รายใหญ่ นี่ยังไม่นับรวมระดับนายก อบต. กำนัน ผู้ใหญ่บ้านที่มากอิทธิพลในแต่ละถิ่นด้วยนะ
หันมาที่ จ.สงขลา “นายทุนสินค้าเถื่อน” ระดับมหึมาเมืองหาดใหญ่อย่าง “เสี่ยหยอย” ที่ฝ่ายปกครองเคยบุกจับถึง 2 ครั้งในเดือนเดียวก็ยังรอดจากร่างแหไปได้ เช่นเดียวกับ “บังเหรก” แห่งปาดังเบซาร์ อ.สะเดา ก็ไม่ปรากฏว่ามีรายชื่อกับเขาด้วย
ส่วน “นายทุนน้ำมันเถื่อน” รายใหญ่ที่ทำการค้าทั้งในทะเลและบนบกทั้งใน จ.สงขลา จ.นราธิวาส จ.นครศรีธรรมราช และ จ.สุราษฎร์ธานีอย่าง “โกเอก” “เฮียชัย” “เสี่ยเจมส์” “เสี่ยดำ” “กำนันศักดิ์” และอีกมากมายก็ไม่มีใครได้ติดชื่อในบัญชีผู้มีอิทธิพลกับเขาด้วย
ด้านผู้มีอิทธิพลใน “กลุ่มผู้รับเหมา” มีทั้งนักการเมืองระดับชาติและท้องถิ่น ผู้นำท้องที่ รวมถึงบรรดา “นอมินี” บริษัทใหญ่ๆ แถมบางรายมีความเกี่ยวพันกับขบวนการแบ่งแยกดิน ทั้งในแง่ให้การสนับสนุนและใช้บริการกองกำลังติดอาวุธเพื่อทำลายคู่แข่ง คนเหล่านี้ก็แทบไม่มีใครถูกขึ้นบัญชีดำกับเขาเลย
ดังนั้น การขึ้นบัญชีผู้มีอิทธิพลของกระทรวงมหาดไทย โดยเฉพาะต้องผ่านมือ “นายอำเภอ” และ “ผู้ว่าราชการจังหวัด” จึงเป็นอะไรที่ยังไม่ใช่ของจริง ที่สำคัญกลับไม่ได้ช่วยให้แก้ปัญหาหรือช่วยเสริมมาตรการ “ดับไฟใต้” ได้แม้แต่นิดเดียว
ในอดีตเคยมีรัฐบาลประกาศขึ้นบัญชีผู้มีอิทธิพลมาแล้ว แต่สุดท้ายผู้ที่เคยถูกบัญชีดำที่จำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นนักธุรกิจใหญ่ นักการเมือง ผู้สนับสนุนพรรคการเมือง รวมถึงผู้ยิ่งใหญ่อยู่ในวงการ “ธุรกิจสีเทา” เวลานี้พวกเขาเหล่านั้นก็ยังเป็นอะไรต่อมิอะไรได้เช่นเดิม
เช่นเดียวกับการที่ “ฝ่ายการเมือง” พยายามที่สร้างสิ่งใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นในชายแดนใต้ อย่างการ “เปิดรับฟังความเห็น” ตัวแทนประชาชนเพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจว่า จะยกเลิกการใช้ “พ.ร.ก.ฉุกเฉิน” หรือประกาศต่ออายุจากคราวละ 3 เดือน เหลือ 1 เดือนเพื่อกระตุ้นความหวัง แต่เชื่อได้ว่าสุดท้ายแล้วก็ไม่มีอะไรใหม่จริง
เนื่องเพราะยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินไม่ได้ โดยความฝ่ายมั่นคงยังอ้างเดิมๆ ว่า สถานการณ์ยังไม่ปกติ และยังมีความจำเป็นที่ต้องใช้เป็นเกราะป้องกันให้แก่เจ้าหน้าที่รัฐ การที่จะยกเลิกได้นั้นต้องมีเครื่องมืออื่นเข้ามาทดแทนเสียก่อน ซึ่งอะไรเล่าคือ “เครื่องมืออื่น” ที่จะไม่สร้างความเลวร้ายเหมือนกับการมีอยู่ของ พ.ร.ก.ฉุนเฉิน
ที่สำคัญ “กระบวนการรับฟังความเห็น” ที่กำลังดำเนินการอยู่โดยหน่วยงานในพื้นที่เวลานี้ก็ไม่มีมาตรฐาน เช่นเดียว “มาตรการขึ้นบัญชีผู้มีอิทธิพล” เพราะมักเป็นการ “ทอดแหปลาเล็ก” แต่ “ปล่อยปลาใหญ่” หลุดจากร่างแหมาโดยตลอด
เหล่านี้ไม่ใช่ “ของใหม่” สำหรับใช้แก้ปัญหาความไม่สงบทั้งในระดับประเทศ และโดยเฉพาะในชายแดนใต้ ซึ่งเชื่อว่าอีกไม่กี่เดือนผู้คนก็ลืมกันแล้ว
ดังนั้น คนไทยจึงไม่ควรไปหวังลมๆ แล้งๆ ที่จะได้เห็นแนวทางใหม่ๆ ในการแก้ปัญหาชาติบ้านเมือง และโดยเฉพาะชาวชายแดนใต้ที่ต้องจมปลักกับ “ไฟใต้” มาแล้วเกือบ 2 ทศวรรษ เนื่องเพราะทุกปัญหาจะยังดำเนินไปแบบเดิมๆ นั่นเอง