ศูนย์ข่าวภูเก็ต - ทัพเรือภาค 3 จับเรือประมงสัญชาติอินโดนีเซีย รุกล้ำเข้ามาทำการประมงในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของประเทศไทย
ตามที่ศูนย์ปฏิบัติการทัพเรือภาคที่ 3 ได้รับแจ้งข้อมูลจากแหล่งข่าวในพื้นที่ว่า ตรวจพบกลุ่มเรือประมงสัญชาติอินโดนีเซีย จำนวน 3 ลำ มีพฤติกรรมเข้ามาทำการประมงบริเวณเขตเศรษฐกิจจำเพาะของประเทศไทย ทางทิศตะวันตกจากแหลมพรหมเทพ จังหวัดภูเก็ต เมื่อวันที่ 7 ต.ค.
หล้งรับแจ้ง พล.ร.ท.สุชาติ ธรรมพิทักษ์เวช ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 3 และผู้อำนวยการ ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลภาค 3 จึงได้สั่งการให้ศูนย์ปฏิบัติการทัพเรือภาคที่ 3 จัดเครื่องบินลาดตระเวนแบบที่ 1 (DO-228) สนับสนุน ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลภาค 3 ขึ้นบินลาดตระเวน ตรวจสอบกลุ่มเรือประมงสัญชาติอินโดนีเซียดังกล่าว ให้ศูนย์ควบคุมความมั่นคงท่าเรือ จังหวัดภูเก็ต แจ้งศูนย์ PIPO ภูเก็ต เพื่อแจ้งเรือประมงไทยที่ทำการประมงในพื้นที่เฝ้าสังเกตการณ์และติดตามพฤติกรรมของกลุ่มเรือประมงสัญชาติอินโดนีเซีย รวมทั้งให้หมวดเรือเฉพาะกิจ ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลภาค 3 จัดเตรียมเรือหลวงแกลง ให้พร้อมออกเรือปฏิบัติภารกิจ เมื่อได้รับข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติม
ต่อมาเวลา 11.50 วันเดียวกัน เครื่องบินลาดตระเวนได้ตรวจพบเรือประมงสัญชาติอินโดนีเซีย จำนวน 1 ลำ ทางทิศตะวันตกจากแหลมพรหมเทพ จังหวัดภูเก็ต ระยะประมาณ 55 ไมล์ทะเล เรือหลวงแกลง จึงออกเรือตรวจสอบตามข้อมูลที่ได้รับรายงาน
จนกระทั่งวันนี้ (8 ต.ค.) เรือหลวงแกลงเข้าตรวจค้นและจับกุมเรือประมงสัญชาติอินโดนีเซีย จำนวน 3 ลำ ทางทิศตะวันตก จากแหลมพรหมเทพ จังหวัดภูเก็ต ระยะประมาณ 70-80 ไมล์ทะเล ประกอบด้วย ลำที่ 1 ชื่อ KM.RAHMATJAYA พร้อมลูกเรือ รวมจำนวน 12 คน ลำที่ 2 ชื่อ KM.IKHLASBARU พร้อมลูกเรือ รวมจำนวน 16 คน และลำที่ 3 ชื่อ KAMBIASTA พร้อมลูกเรือ รวมจำนวน 12 คน จึงได้ควบคุมเรือประมงสัญชาติอินโดนีเซีย พร้อมลูกเรือกลับเข้าฝั่ง ณ ท่าเรือรัษฎา จังหวัดภูเก็ต เพื่อนำส่งให้พนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรฉลอง ดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
สำหรับการจับกุมเรือประมงต่างชาติที่มีพฤติกรรมเข้ามาทำการประมงบริเวณเขต เศรษฐกิจจำเพาะของประเทศไทยด้านฝั่งทะเลอันดามันที่ผ่านมานั้น ได้มีการจับกุมมาแล้วหลายครั้ง รวมทั้งได้แจ้งให้สำนักงานผู้ช่วยทูตทหารเรือประจำประเทศอินโดนีเซีย เพื่อแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำการประชาสัมพันธ์ และแจ้งเตือนเรือประมงของประเทศอินโดนีเซียว่าอย่าได้รุกล้ำเข้ามาทำการประมงในเขตน่านน้ำของประเทศไทย ทั้งนี้ หากตรวจพบจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายของไทยอย่างเคร่งครัด
โดยในปีงบประมาณ 2564ได้ทำการจับกุม จำนวน 1 ครั้ง ในปีงบประมาณ 2565 ได้ทำการจับกุม จำนวน 3 ครั้ง และในปีงบประมาณ 2566 ได้ทำการจับกุม จำนวน 2 ครั้ง ซึ่งการลักลอบเข้ามาทำการประมงของเรือประมงต่างชาตินั้นเป็นการแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติสัตว์น้ำในพื้นที่ของประเทศไทย ส่งผลให้ชาวประมงไทยทำการจับสัตว์น้ำได้น้อยลง และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจภาคประมงโดยตรง
นอกจากนี้ เรือประมงต่างชาติที่ลักลอบเข้ามาทำการประมงบางครั้งมีการลักลอบขโมยหรือตัดทำลายอุปกรณ์ดักจับสัตว์น้ำของชาวประมงไทยที่ได้วางไว้ ซึ่งสร้างความเสียหายต่ออุปกรณ์ดักจับสัตว์น้ำ เป็นมูลค่ามากกว่า 40,000 บาท/อุปกรณ์ การดำเนินการจับกุมเรือประมงต่างชาติข้างต้นนั้นเป็นไปตามนโยบายประจำปี งบประมาณ พ.ศ.2567 ของ พล.ร.อ.อะดุง พันธ์เอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือ ในฐานะรองผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล นั้นได้มีนโยบายให้ทุกหน่วยงานได้มีการบูรณาการร่วมกันในการป้องกันและปรามปรามการกระทำผิดกฎหมายทางทะเล เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้ท้องทะเลไทยเกิดความมั่นคง ยั่งยืนและสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมั่นคง
ตลอดไป