xs
xsm
sm
md
lg

ชวนสัมผัสกินเจวิถีตรัง! ในงาน "สืบสานศรัทธา ตำนานกินเจเมืองตรัง" จัดใหญ่ 9 วัน 9 คืน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ตรัง - ภาคเอกชน-ศาลเจ้าตรัง ผนึกกำลังจัดใหญ่งาน "สืบสานศรัทธา ตำนานกินเจเมืองตรัง" 9 วัน 9 คืน โชว์กิจกรรมหายาก ลุยไฟ การเล่นไท่เปี๋ย หรือเค่ว ประกวดจัดโต๊ะรับองค์ศักดิ์สิทธิ์ ประกวดหนูน้อยเจ้าแม่กวนอิม หวังดึงดูดนักท่องเที่ยวจากต่างถิ่นมาสัมผัสกินเจวิถีตรัง

ในช่วงระหว่างวันที่ 14-22 ตุลาคมนี้ จะเข้าสู่เทศกาลกินเจของชาว จ.ตรัง ซึ่งขณะนี้ศาลเจ้าต่างๆ ได้ปิดศาลเจ้า เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับจัดงานกินเจของแต่ละศาลเจ้า ในขณะที่เอกชนเองก็เตรียมจัดงานเทศกาลกินเจอย่างยิ่งใหญ่เช่นเดียวกัน

โดยนายนิธิภาคย์ โล่สถาพรพิพิธ ประธานจัดงาน "สืบสานศรัทธา ตำนานกินเจเมืองตรัง" เปิดเผยว่า สำหรับงาน "สืบสานศรัทธา ตำนานกินเจเมืองตรัง" จะจัดขึ้น 9 วัน 9 คืน ที่บริเวณตลาดชินตา ซึ่งเป็นความร่วมมือกันระหว่างตน ตลาดชินตา เทศบาลทุ่งยาว ศาลเจ้าพ่อหมื่นราม ศาลเจ้าอ่องเอี่ย รวมทั้งศาลเจ้าอื่นๆ ใน จ.ตรัง และสนับสนุนงบประมาณโดย นายบุ่นเล้ง โล่สถาพรพิพิธ นายก อบจ.ตรัง โดยกิจกรรมเด่นๆ คือกิจกรรมลุยไฟในคืน 2 ค่ำ และกิจกรรมที่แปลกใหม่เข้ามา คือการแข่งขันเล่นไท่เปี๋ย หรือเค่ว เพื่อสืบสาน สืบทอด ดำรงไว้ให้คงอยู่ ซึ่งกินเจ จ.ตรัง ถือเป็นประเพณีไปแล้ว ตลอดจนมีการแข่งขันกินบะหมี่เจ ประกวดจัดโต๊ะรับองค์ศักดิ์สิทธิ์ พร้อมกับให้ความรู้เกี่ยวกับจัดโต๊ะรับองค์ศักดิ์สิทธิ์ที่ถูกต้อง ประกวดหนูน้อยเจ้าแม่กวนอิม


“ผมริเริ่มจัดงานครั้งนี้ เพราะอยากให้ภาครัฐเข้ามามีบทบาทมากกว่านี้ ราชการเองอาจจะมีข้อจำกัด แต่เขาให้งบสนับสนุนมาบ้าง ฉะนั้น หากครั้งนี้เราทำสำเร็จ ปีหน้าหรือครั้งต่อๆ ไป ราชการคงจะหันมาจัดกิจกรรมเอง หรืออาจจะสนับสนุนงบประมาณให้เรามากขึ้น ซึ่งสำหรับผมในฐานะคนตรังแต่กำเนิด ได้รับการปลูกฝังจากครอบครัวมาโดยตลอด ถึงเทศกาลกินเจก็ต้องกินเจ ต้องเข้าไปไหว้องค์ศักดิ์สิทธิ์ในศาลเจ้า เราซึมซับเอาพิธีกรรมที่องค์ศักดิ์สิทธิ์ ม้าทรงได้กระทำ และกิจกรรมต่างๆ ที่พบเห็นมาโดยตลอด กินเจตรังเป็นพิธีกรรมที่แตกต่าง ไม่เหมือนกับจังหวัดไหน เช่น การเล่นไท่เปี๋ย ก็ไม่เหมือนใคร เป็นแบบของเรา” นายนิธิภาคย์ ระบุ

นายนิธิภาคย์ กล่าวอีกว่า งานครั้งนี้เน้นการดึงกิจกรรมที่เกี่ยวกับเทศกาลกินเจ อาหารเจแปลกใหม่ การละเล่นแปลกใหม่ เพื่อดึงนักท่องเที่ยวเข้ามา จ.ตรัง ให้คนตรังชวนเพื่อนๆ มาร่วมงานกินเจที่บ้านเรา ซึ่งที่ผ่านมากิจกรรมบางอย่างในช่วงเทศกาลกินเจของ จ.ตรัง ได้หดหายไป 10 ปีเป็นอย่างต่ำ จากยุคอดีตที่เคยรุ่งเรือง เป็นที่รู้จักไปทั่วประเทศ ตนและเพื่อนๆ ลูกศาลเจ้าพ่อหมื่นรามได้หารือกัน และจัดงานนี้ขึ้น เพื่อรื้อฟื้นบรรยากาศที่เคยครึกครื้นให้กลับมา อยากให้นักท่องเที่ยว และประชาชนชาวตรังตื่นตัวกับเทศกาลกินเจมากขึ้น นักท่องเที่ยวได้มาสัมผัสการกินเจแบบชาวตรัง คาดว่าตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไปจะมีกิจกรรมที่ยิ่งใหญ่ขึ้น และหวังให้ทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วม สำหรับงาน "สืบสานศรัทธา ตำนานกินเจเมืองตรัง" ครั้งที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 14-22 ตุลาคมนี้ ณ ตลาดชินตา เขตเทศบาลนครตรัง อ.เมือง จ.ตรัง


ทั้งนี้ ชาวตรังมีประเพณี “ถือศีลกินผัก” หรือ “กินเจ” สืบทอดกันมาร้อยกว่าปี คือเริ่มประมาณ พ.ศ.2447 จัดระหว่างวันขึ้น 1-9 ค่ำ เดือน 9 ของจีน หรือราวเดือนกันยายนถึงตุลาคมของทุกปี นับเป็นช่วงเวลาการบูชาเทพเจ้าแห่งดาวนพเคราะห์ทั้ง 9 ตามความเชื่อแบบจีน ในพิธีกินเจจะมีสมาชิกของศาลเจ้า และผู้ร่วมศรัทธามา ร่วมละกิจโลกียวัตร บำเพ็ญศีล สมาทาน กินเจ บริโภคแต่อาหารผัก ผลไม้ งดเว้นกิจที่จะทำความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น ซักฟอกมลทินออกจากกาย วาจา ใจ สวมเสื้อผ้าสีขาวสะอาดบริสุทธิ์ ก่อนเริ่มการกินเจจะมีพิธีเตรียมการหลายขั้นตอน ที่สำคัญคือการยกเสาตะเกียง หรือคี่เต็งโก ซึ่งทำในวันสิ้นเดือนก่อนกินเจ 1 วัน ระหว่างพิธีกินเจ จะมีการอัญเชิญเทพเจ้ามาประทับทรง และออกเยี่ยมลูกหลาน ซึ่งแต่ละศาลเจ้าจะกำหนดวันออกเยี่ยมไม่ตรงกัน มีการจัดขบวนแห่อย่างมโหฬารไปรอบๆ เมือง ในขบวนจะมีม้าทรง พร้อมกับบรรดาสาวก และรูปปฏิมาตัวแทน “เจ้า” อยู่ใน “เกี้ยว” หรือเก้าอี้หาม ออกเยี่ยมเยียนโปรดสัตว์ไปตามอาคารบ้านเรือน ฝ่ายเจ้าของบ้านจะจัดโต๊ะบูชา และเตรียมประทัดไว้จุดต้อนรับ บางที “เจ้า” ก็จะแสดงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ต่างๆ โดยใช้ของมีคมเสียบทะลุเนื้อหนัง กลับจากออกเที่ยวก็มีพิธีลุยไฟ กระทั่งถึงวันที่ 9 ค่ำ จะมีพิธีส่งเทพเจ้าที่อัญเชิญมา รุ่งขึ้นยกเสาตะเกียงลง เป็นอันเสร็จพิธี

สำหรับสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาของชาวไทยเชื้อสายจีนในตรัง คือ “ศาลเจ้า” หรือคนท้องถิ่นเรียก “โรงพระ” ปัจจุบันมีศาลเจ้าสำคัญ ซึ่งเป็นที่เคารพศรัทธาของประชาชน เช่น “ศาลเจ้ากิวอ่องเอี่ย” “ศาลเจ้าพ่อหมื่นราม” “ศาลเจ้าพ่อเสือ” “ศาลเจ้าไต่เซี่ยฮุดโจ้ว” “ศาลเจ้ากวนอิมเก็ง” “ศาลเจ้าส่ามอ๋องฮู้เต้าโบ้วเกง” “ศาลเจ้าท่ามก๋งเยี่ย” “ศาลเจ้าเปากง” “ศาลเจ้าพ่อกวนอู” “ศาลเจ้าไท่หนานไต้เทียนกง” เป็นต้น




กำลังโหลดความคิดเห็น