xs
xsm
sm
md
lg

ชาวบ้าน-ผู้ประกอบการขานรับโครงการสนามบินนานาชาติอันดามัน เชื่อทำให้เกิดการพัฒนาหลายมิติ ส่งเสริมการท่องเที่ยว-สร้างรายได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



พังงา - ชาวบ้าน ผู้ประกอบการ จ.พังงา ขานรับโครงการเมกะโปรเจกต์ สร้างสนามบินนานาชาติอันดามัน หลัง “นายกฯ เศรษฐา” ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าโครงการเอง ระบุช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยว ทำให้เกิดการพัฒนาในหลายมิติ สร้างรายได้ เชื่อโครงการนี้เกิดขึ้นแน่




โครงการก่อสร้างสนามบินนานาชาติอันดามัน ในพื้นที่ตำบลโคกกลอย อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา ซึ่งมีเนื้อที่ทั้งหมดในการก่อสร้างประมาณ 7,000 ไร่ เป็นอีก 1 เมกะโปรเจกต์ ของรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่กำหนดเป็นนโยบายเร่งด่วน โดยโครงการนี้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT เคยศึกษาไว้แล้ว เบื้องต้น ตามแผนแม่บทจะพัฒนาเป็นท่าอากาศยานภูเก็ตแห่งที่ 2 บริเวณตำบลโคกกลอย จังหวัดพังงา บนพื้นที่ประมาณ 7 ,000 ไร่ ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ราชพัสดุ ใช้งบประมาณในการดำเนินการประมาณ 70,000 ล้านบาท


อย่างไรก็ตาม ในการลงพื้นที่ของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เมื่อเร็วๆ นี้ ได้กล่าวถึงการพัฒนาสนามบินนานาชาติอันดามัน ว่า เบื้องต้นได้ตั้งกรอบการเวนคืนที่ดินเพื่อสร้างสนามบินนานาชาติอันดามัน ซึ่งมีที่ดินจำนวนหนึ่งใน 3 ของที่ดินทั้งหมด 7,000 กว่าไร่ ที่ยังไม่ได้เวนคืน รวมทั้งวางแผนการออกแบบไปด้วย เพราะบางอย่างสามารถทำคู่ขนานกันได้ แต่ไม่อยากทำเร็วเกินไปเนื่องจากมีปัญหาเรื่องงบประมาณด้วย ทุกอย่างต้องรักษากรอบวินัยการเงินการคลัง

และที่สำคัญในการดำเนินโครงการนั้นอย่าทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากการเวนคืนที่ดิน โดยได้ให้มีการกำหนดกรอบระยะเวลาในการดำเนินการเรื่องการเวนคืนที่ดินเพื่อประเมินเป็นเคพีไอ ให้รู้ถึงความคืบหน้าการดำเนินงาน เบื้องต้นได้ตั้งกรอบระยะเวลาไว้ 18 เดือน


ซึ่งจะรองรับการพัฒนาของพื้นที่ภูเก็ต พังงา กระบี่ และระนอง เบื้องต้นสามารถรองรับเที่ยวบินที่เพียงพอไม่ต้องขยายเพิ่มอีก ถือเป็นนิมิตหมายอันดีของชาวภาคใต้ที่จะได้รับประโยชน์จากการที่รัฐบาลลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานครั้งใหญ่ และในอนาคตจะมีการเชื่อมต่อการคมนาคม เนื่องจากสนามบินนานาชาติอันดามัน เป็นสนามบินที่รองรับไฟลต์จากต่างประเทศ ส่วนภูเก็ตจะเป็นสนามบินรองรับเที่ยวบินภายในประเทศ อย่างไรก็ตาม หลังจากรัฐบาลมีความชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องนี้ ในส่วนของภาคเอกชน และชาวบ้านต่างขานรับโครงการดังกล่าว แต่ขอให้จ่ายค่าเวนคืนที่เหมาะสม

นายเลิศศักดิ์ ปนกลิ่น นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดพังงา
โดยนายเลิศศักดิ์ ปนกลิ่น นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดพังงา กล่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า การสร้างสนามบินดังกล่าวจะส่งผลดีต่อการท่องเที่ยวอย่างแน่นอน และจะเป็นการจุดกระแสในการนำนักท่องเที่ยวเข้ามาในพื้นที่อันดามันและจังหวัดพังงา และการที่นายกรัฐมนตรีลงมาติดตามเรื่องนี้ถึง 2 ครั้ง ถือว่าเป็นความหวังของคนอันดามันว่าโครงการนี้จะเกิดขึ้นแน่ และถ้าโครงการนี้เกิดขึ้นจริงๆ จะสามารถช่วยเพิ่มนักท่องเที่ยวได้มากขึ้น ซึ่งต้องขอบคุณนายกรัฐมนตรีที่มีความจริงใจในการดำเนินการเรื่องนี้ แต่อย่างไรก็ตาม อยากฝากเรื่องของการคมนาคม การขยายเส้นทางจากแหล่งท่องเที่ยวมาสนามบินเพื่อให้สอดรับกับการก่อสร้างสนามบินอันดามัน

นายชัยยันต์ ใจเย็น ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดพังงา
ขณะที่นายชัยยันต์ ใจเย็น ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดพังงา กล่าวว่า เป็นเรื่องที่น่ายินดีมาก หลังจากท่านนายกรัฐมนตรีเดินทางลงพื้นที่เพื่อติดตามความคืบหน้า เชื่อว่าโครงการมีความเป็นไปได้สูง ซึ่งเรื่องนี้ในส่วนของภาคเอกชนในจังหวัดพังงา ได้มีการผลักดันกันมานานกว่า 10 ปีแล้ว เพื่อให้เกิดสนามบินนานาชาติขึ้นที่จังหวัดพังงา หากโครงการนี้เกิดขึ้นได้จะทำให้เกิดการพัฒนาในหลายมิติ โดยฉพาะมิติทางด้านการท่องเที่ยว เพราะพังงาเป็นที่รวมของแหล่งท่องเที่ยวระดับโลก เมื่อมีสนามบินจะทำให้เกิดโครงการทางเรื่องเศรษฐกิจ สร้างรายได้ให้คนในพื้นที่ และจะทำให้พังงามีโอกาสในการพัฒนาในทุกด้าน รวมไปถึงจังหวัดอื่นๆ ในกลุ่มอันดามันด้วย


แต่อย่างไรก็ตาม ในสาวนของที่ดินที่จะมีการก่อสร้างสนามบินนั้นมีบางส่วนที่อยู่ในการครอบครอบของชาวบ้าน อยากให้มีการพิสูจน์สิทธิการทำกินให้ชัดเจน และจ่ายเงินค่าเวนคืน ค่าชดเชยให้ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบอย่างเหมาะสม ซึ่งในส่วนของชาวบ้านเองเสียงส่วนใหญ่สนับสนุนเกี่ยวกับโครงการดังกล่าว เพียงแต่ขอให้ทางภาครัฐมีความชัดเจนในเรื่องของการเวนคืนที่ดิน การจ่ายเงินชัดเจนในเรื่องของผลอาสิน และการเยียวยาผู้ที่เดือดร้อน ซึ่งเรื่องนี้คิดว่าไม่น่าจะยากเพราะทางการท่าระบุไว้แล้วว่าจะใช้เงื่อนไขเดียวกับสนามบินสุวรรณภูมิ

นายสมเกียรติ เผ่าจำรูญ ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 7 บ้านท่านุ่น ต.โคกกลอย
ด้านนายสมเกียรติ เผ่าจำรูญ ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 7 บ้านท่านุ่น ต.โคกกลอย อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา กล่าวว่า พื้นที่โครงการนั้นเป็นที่ดินสาธารณะประโยชน์ (ทุ่งสงวนเลี้ยงสัตว์) เนื้อที่ประมาณ 8,000ไร่ ซึ่งเขตครอบคลุมหลายหมู่บ้านในตำบลโคกกลอย และตำบลหล่อยูง ทราบว่าในพื้นที่มีการทำเกษตรแล้วทั้งหมด โดยส่วนใหญ่ต่างมีเอกสารสิทธิ ทั้ง ส.ค.1 และ น.ส.3 ที่ไม่มีเอกสารสิทธิมีไม่ถึง 10 ราย หากมีการก่อสร้างสนามบินในพื้นที่จริงก็ไม่ขัดข้อง เพราะจะสร้างความเจริญให้พื้นที่ และคนในพื้นที่จะได้มีงานมีการทำ ไม่ต้องไปทำงานรับจ้างในจังหวัดอื่น แต่ทาง AOT จะต้องมีการจ่ายค่าทดแทนให้เป็นที่พอใจทั้ง 2 ฝ่าย ในส่วนของตนนั้นขอฝากถึงท่านนายกฯ ว่าให้มีการสร้างสนามบินให้จริงเสียที


สำหรับการโครงการก่อสร้างสนามบินนานาชาติอันดามัน หรือสนามบินภูเก็ตแห่งที่ 2 ทาง ทอท.จะเร่งหาและจัดจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาความเป็นไปได้และความคุ้มค่าในการลงทุน คาดว่าจะได้ที่ปรึกษาปลายปีนี้ และใช้เวลาในการศึกษาแผนราว 8 เดือน หลังจากศึกษาแล้วเสร็จจะออกแบบรายละเอียดการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นขอบเขตพื้นที่ทั้งหมด วิธีการก่อสร้าง งบประมาณ และการทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA หลังจากนั้นจะนำเสนอต่อสภาพัฒน์ เพื่อนำเสนอ ครม.เพื่อขออนุมัติดำเนินโครงการ โดยขั้นตอนการศึกษา ออกแบบรายละเอียดและขั้นตอนการขออนุมัติคาดว่าจะใช้เวลาราว 3 ปี

นายสมเกียรติ เผ่าจำรูญ ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 7 บ้านท่านุ่น ต.โคกกลอย
หลังจากนั้นจึงเปิดประกวดราคา และดำเนินการก่อสร้าง คาดว่าใช้เวลา 4 ปี รวมระยะเวลาในการดำเนินโครงการทั้งหมดประมาณ 7 ปี นับจากปี 2567 ดังนั้น จึงคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ประมาณปี 2573-74


กำลังโหลดความคิดเห็น