ศูนย์ข่าวภาคใต้ - "ทวี สอดส่อง" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม หารือ กสม. ผลักดันสิทธิในกระบวนการยุติธรรม พร้อมขับเคลื่อนแนวทางความร่วมมือด้านสิทธิมนุษยชน ไม่เลือกปฏิบัติ ถกการยกเลิกกฎหมายพิเศษในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ การออกกฎหมายตาม พรบ.อุ้มหาย
วานนี้ (28 ก.ย.) พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้ร่วมหารือกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) นำโดยนางสาวพรประไพ กาญจนรินทร์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในประเด็นการผลักดันสิทธิในกระบวนการยุติธรรม รวมถึงการขับเคลื่อนแนวทางความร่วมมือด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างหน่วยงาน โดยมีนายสมบูรณ์ ม่วงกล่ำ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นายกูเฮง ยาวอหะซัน เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม พันตำรวจโท ประวุธ วงศ์สีนิล รองปลัดกระทรวงยุติธรรม นางสาวเอมอร เสียงใหญ่ ผู้ตรวจราชการกระทรวงยุติธรรม ผู้บริหารและผู้แทนจากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงยุติธรรม ตลอดจนเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมหารือ
ในการนี้ กสม. ได้มีประเด็นหารือที่สำคัญ ดังนี้ ประเด็นที่ 1 สิทธิในกระบวนการยุติธรรม ได้แก่ 1.การแก้กฎกระทรวง กำหนดสถานที่อื่นที่ใช้ในการขัง จำคุก หรือควบคุมผู้ต้องหา จำเลย หรือผู้ซึ่งต้องจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุด พ.ศ. 2552 (กฎกระทรวงออกตามความประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 89/1) เพื่อให้ศาลออกคำสั่งควบคุมตัวในสถานที่อื่นซึ่งมิใช่เรือนจำ หรือการคุมขังที่บ้าน (House Arrest) โดยนำวันถูกควบคุมตัวมาหักจากวันต้องโทษจำคุกตามคำพิพากษาได้
2.จัดประเภทเรือนจำให้เป็นไปตามกฎหมาย ถูกต้องตามหลักสิทธิมนุษยชนและหลักทัณฑวิทยา โดยการแยกคุมขังผู้ต้องขังระหว่างพิจารณากับผู้ต้องขังเด็ดขาด และผู้ต้องขังคดีชุมนุมทางการเมือง 3.การตรวจเยี่ยมสถานที่ควบคุมตัวในสังกัดกระทรวงยุติธรรมของ กสม. การพัฒนามาตรฐานการตรวจเยี่ยมสถานที่คุมขัง รองรับการเป็นกลไกป้องกันการทรมานระดับชาติ (NPM) ตามอนุสัญญาป้องกันการทรมาน (OPCAT) รวมถึงการตรวจเยี่ยมผู้ต้องขังร่วมกับกระทรวงยุติธรรม และ 4.การออกกฎหมายลำดับรองตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565
ประเด็นที่ 2 ความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน ได้แก่ 1.การขับเคลื่อน “อนาคตกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของประเทศไทย” เพื่อเป็นหลักประกันความยุติธรรมสำหรับทุกคน 2.มอบหมายให้สำนักงานกิจการยุติธรรมศึกษาเพื่อแก้ไขปรับปรุงกฎหมายลำดับรองเกี่ยวกับหมายอาญา 5 ประเภท เพื่อให้สอคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน การใช้หลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้บริสุทธิ์ (presumption of innocence) ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 29 และ 3.ผลักดันร่างกฎหมายต่างๆ เช่น ร่าง พ.ร.บ.ทะเบียนประวัติอาชญากรรม ร่าง พ.ร.บ. ขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ราษฎร ซึ่งได้รับความเสียหายหรือได้รับผลกระทบจากการดำเนินการตามนโยบายของรัฐ และการพัฒนาระบบฐานข้อมูลในกระบวนการยุติธรรม
ประเด็นที่ 3 การประสานความคุ้มครองด้านสิทธิมนุษยชน ได้แก่ 1.กลไกส่งเสริมและคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และ 2.การให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนและได้รับความเดือดร้อน
และประเด็นที่ 4 ข้อห่วงกังวล ได้แก่ 1.ร่าง พ.ร.บ.สิทธิมนุษยชน พ.ศ. ... ของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ซึ่งกำหนดหน้าที่และอำนาจซ้ำซ้อนกับ กสม. และขัดกับหลักการสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ 2.การยกเลิกกฎหมายพิเศษในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 3.การควบคุมตัวผู้ต้องกักชาวอุยกูร์
ด้านกระทรวงยุติธรรม ได้มีประเด็นหารือที่สำคัญ ได้แก่ 1.การบริหารจัดการทะเบียนประวัติอาชญากรรม 2.สิทธิและสถานะบุคคล การขจัดความไร้รัฐไร้สัญชาติ 3.สิทธิในที่ดิน กระจายการถือครองที่ดินในความดูแลของรัฐให้ประชาชนทำกิน การแก้ไขนิยาม "ป่า" ตามกฎหมายป่าไม้ เพื่อป้องกันการกีดกันทางการค้าของ EU และปัญหาการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐ และ 4.การแก้ไขปัญหาหนี้สินให้แก่เกษตรกร
ทั้งนี้ กระทรวงยุติธรรมและ กสม. ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและรับข้อเสนอแนะในประเด็นหารือดังกล่าวเพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานต่อไป